
เทรคกิ้งเป็นรูปแบบของการท่องเที่ยว ที่ไม่เหมือนการท่องเที่ยวทั่วๆ ไป ตั้งแต่การเตรียมตัว การเลือกของ การเตรียมอุปกรณ์ การจัดกระเป๋า ที่ต้องเตรียมของจำเป็นมาด้วยให้ครบ เพราะเทรคกิ้งบนเขาในที่ห่างไกล ไกลจากร้านสะดวกซื้อต่างๆ รวมทั้ง การศึกษาข้อมูลเส้นทาง สภาพอากาศ เรื่องน่ารู้ระหว่างเทรคกิ้งเนปาล และ ข้อควรรู้เทรคกิ้งเนปาล อะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ อีกมากมาย ที่หากได้เรียนรู้ก่อนล่วงหน้า ก็มีชัยไปกว่าครึ่ง และ ก็จะได้เตรียมความพร้อมก่อนไปเทรคยังไงล่ะคะ
การเตรียมตัวเพื่อการเทรคกิ้ง ระหว่าง หน้างานจริง กับ ทฤษฎีที่อ่านมา ไม่เหมือนกันแน่ค่ะ เพื่อการเทรคกิ้งที่มันส์สุดๆ และ สนุกสุดเหวี่ยง มาเรียนรู้ข้อควรรู้ ข้อห้าม ข้อไม่ควรทำ และ ข้อแนะนำว่าควรทำ ระหว่างการเทรคกิ้งกันเถอะค่ะ เพื่อที่จะได้เก็บประสบการณ์ที่ดี มิตรภาพระหว่างทางที่สวยงาม ความประทับใจตลอดทริปกลับบ้านติดไม่ติดมือไปด้วย และ ที่สำคัญที่สุด ก็คือ ความปลอดภัยของตัวเพื่อนๆ เอง ยังไงล่ะคะ
ก่อนอื่น หยกมีบทความที่มีสาระเกี่ยวกับกิจกรรมการเทรคกิ้งมาแนะนำให้อ่านค่ะ ต่อไปนี้ ความหมายของคำว่า ไฮกิ้ง เทรคกิ้ง ความแตกต่าง พร้อมตัวอย่างที่ทำให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น หรือจะเป็น การเลือกซื้อกระเป๋าแบ็คแพ็ค ให้ถูกต้อง หรือ การเลือกซื้อรองเท้าเดินป่า ที่มีอธิบายด้วยค่ะว่ารองเท้าเดินป่ามีกี่ชนิด แต่ละชนิดต่างกันยังไง หรือ การใช้ไม้เท้าเดินป่า ดีจริงไหม และใช้ยังไง เป็นต้น

หยกอยากจะบอกว่า ใครที่ไม่เคยเทรคมาก่อน ก็สามารถเทรคได้ง่ายๆ เลยค่ะ ขอแค่มีความกล้า มั่นใจ และไม่กลัว แล้วมาเรียนรู้ เรื่องน่ารู้ระหว่างเทรคกิ้งเนปาล พร้อมๆ กัน เพื่อเตรียมตัวไปเทรคกิ้งให้พร้อมที่สุด เพื่อการเทรคกิ้งที่สนุกที่สุด กับข้อมูลข้างล่างนี้เลยค่ะ
หัวข้อต่อไปนี้ คลิกเลือกอ่านได้นะคะ
- 1. ข้อควรรู้เทรคกิ้งเนปาล – DOs – ข้อแนะนำว่าควรทำ ระหว่างเทรคกิ้ง พร้อมเหตุผล
- 1.1) จำชื่อหมู่บ้านที่ต้องเดินผ่านในแต่ละวัน
- 1.2) ยืดเส้น ลดการปวดเมื่อยของกล้ามเนื้อ
- 1.3) ออกเดินแต่เช้า หลีกเลี่ยงสภาพอากาศที่แปรปรวน
- 1.4) พกขนมเติมพลังใน daypack
- 1.5) เตรียมน้ำดื่มในแต่ละวันก่อนเดินให้เพียงพอ
- 1.6) จัดของที่จะให้ลูกหาบแบก แบบสมดุล + ให้ทางลูกหาบ
- 1.7) ซักผ้าทุกที่ ที่มีโอกาส
- 1.8) ก่อนอาบน้ำร้อนบนเขา ตรวจสอบก่อนว่า…
- 1.9) ให้ความอบอุ่นแบตเตอรี่
- 2. ข้อควรรู้เทรคกิ้งเนปาล – DON’Ts – ข้อห้าม ข้อไม่ควรทำ ระหว่างการเทรคกิ้ง พร้อมเหตุผล
- 2.1) ใส่หูฟังเดิน
- 2.2) เปิดเพลงเสียงดัง ระหว่างเทรค
- 2.3) มองหิมะด้วยตาเปล่า
- 2.4) ถอดรองเท้า แล้วเดินเท้าเปล่าลุยน้ำ
- 2.5) แจกขนม ของใช้ หรือ เงิน ให้เด็กๆ บนเขา
- 2.6) ออกจากที่พัก (teahouse) โดยไม่ตรวจสอบว่าลืมอะไรไหม
- 2.7) ขอ หรือ ยืม ของ จาก เพื่อนร่วมทริป หรือ เพื่อนร่วมทาง
- 2.8) ทานอาหารเหลือ
- 2.9) ทิ้งขยะบนเทรล บนเขา
- 2.10) นอนกลางวัน
- 2.11) ไม่ทานอาหาร เหนื่อยมาก จนไม่หิว
- 2.12) วิ่ง หรือ ออกกำลังกาย หรือ แข่งกันเดิน เมื่ออยู่บนเขาที่สูง 2,500 เมตรขึ้นไป
- 2.13) ผิดหวัง เมื่อสถานการณ์จริงไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้
ข้อควรรู้เทรคกิ้งเนปาล ที่จะบอกกล่าวข้างล่างนี้ จะมาพร้อมคำอธิบาย และเหตุผลต่างๆ นานา ว่าทำไมๆๆ ถึง(แนะนำว่า)ต้องทำ หรือ ห้ามทำ เพื่อที่เพื่อนๆ จะได้มองเห็นภาพและเข้าใจได้ง่ายขึ้น และเทรคได้สนุกขึ้น
เพราะการเทรคกิ้ง ไม่ได้เหมือนการท่องเที่ยวทั่วๆ ไป การเตรียมตัวที่ดีพร้อม จึงสำคัญมากๆ
บทความข้อมูลเทรคกิ้งเนปาล
สำหรับเพื่อนๆ ที่อยากลองเทรค อยากเที่ยวแนวนี้ แต่เริ่มไม่ถูก ไม่รู้จะหาข้อมูลเกี่ยวกับการเทรคกิ้งทั้งหมดได้ที่ไหน หรือแม้แต่เพื่อนๆ ที่หลงใหลการเทรคกิ้งเนปาล ที่อยากได้ข้อมูลเทรคกิ้งเพิ่ม นี่เลยค่ะ ที่เดียวกับข้อมูลเต็มๆ
- ไฮกิ้ง เทรคกิ้ง คืออะไร? ต่างกันยังไง? พร้อมคำอธิบายที่แจ่มชัด และตัวอย่าง
- ข้อมูลเทรคกิ้งบนเส้นทาง Poon Hill
- ข้อมูลเทรคกิ้งบนเส้นทาง Langtang
- ข้อมูลเทรคกิ้งบนเส้นทาง Annapurna Circuit ที่รวม Tilicho Lake ทะเลสาบสีฟ้าสุดเข้ม และ สวยงามสุดๆ เข้าไว้ด้วย
- ข้อมูลเทรคกิ้งบนเส้นทาง Mohare + Khopra
- ข้อมูลเทรคกิ้งบนเส้นทาง Everest Base Camp (EBC) + Kalapatthar
- ไป Pokhara พักที่ไหนดี มีอะไรเที่ยว
- Checklist เตรียมอะไรไปเทรคกิ้ง ที่สามารถเตรียมเองได้ ไม่มีสิ่งนี้ ทำยังไง หาอะไรทดแทน หาซื้อที่ไหน เตรียมสิ่งนี้ไปทำไม ใช้ประโยชน์อะไร
- How to ขอวีซ่าเนปาล ตั้งแต่การเตรียมการณ์มาจากบ้าน เพื่อยื่นขอ Visa On Arrival ที่สนามบินตรีภูวัน
- ข้อมูลการเตรียมตัว ก่อนไปเทรคกิ้งเนปาล ให้พร้อมที่สุด ต้องเตรียมอะไร, เทรคเส้นไหน, ประกันบริษัทอะไรดี, ฉีดวัคซีนไหม, Permits อะไรบ้าง, น้ำดื่มล่ะ, ซิมการ์ดแพงไหม และ แลกเงินที่ไหน ฯลฯ
- AMS – อาการทั่วไป? อาการรุนแรง? เกิดกับใคร? ที่ไหน? ป้องกัน+หลีกเลี่ยงยังไง? ข้อควรปฏิบัติ? ถ้ามีอาการต้องทำยังไง? รักษาได้ไหม?
- ประกันเดินทางต่างประเทศ และ ประกันเดินทางที่ครอบคลุมเทรคกิ้งเนปาล บนเขาสูงไม่เกิน 4,500 m + ครอบคลุมทั่วโลก เช่น เนปาล, ยุโรป, อเมริกา & ประเทศอื่นๆ + ครอบคลุมค่ารักษาโควิด
- DOs & DON’Ts ระหว่างเทรคกิ้ง เนปาล ข้อควรรู้ อะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ – ใส่หูฟังฟังเพลง? ให้ขนมเด็กบนเขา? เดินลุยข้ามแม่น้ำ ต้องถอดรองเท้าเดินป่า? ต้องทำยังไงเพื่อไม่ให้เมื่อยกล้ามเนื้อ? ฯลฯ
เป็นยังไงละคะ เพื่อนๆ ได้ข้อมูลเกี่ยวกับการเทรคกิ้งที่ครบถ้วน ที่ละเอียด อ่านง่าย เข้าใจเองได้ และยังทำตามได้เองสบายๆ เลยใช่ไหมล่ะ หากมีข้อสงสัยใดๆ คอมเม้นต์ที่ช่องคอมเม้นต์ด้านล่าง เข้ามาได้เลยนะคะ หยกรอตอบแล้วค่ะ

ไปเริ่มกันค่ะ ว่าจะอะไรแนะนำว่าควรทำ ไม่ควรทำ ระหว่างการเทรคกิ้ง เป็นข้อๆ (ลำดับมาก่อนหลัก ไม่ได้มีความสำคัญใดๆ นะคะ) พร้อมเหตุผลเลยนะคะ
1. ข้อควรรู้เทรคกิ้งเนปาล – DOs – ข้อแนะนำว่าควรทำ ระหว่างเทรคกิ้ง พร้อมเหตุผล
1.1) จำชื่อหมู่บ้านที่ต้องเดินผ่านในแต่ละวัน
อย่าคิดว่าสิ่งนี้ไม่สำคัญนะคะ การเดินป่า สามารถหลงป่า หลงทาง ได้เสมอ ดังนั้นแล้ว มาหลีกเลี่ยงกันดีกว่านะคะ
ถึงแม้ว่า ทางเดินส่วนใหญ่ในเนปาลนั้นชัดเจน และมักมีป้ายบอกทาง หรือ สัญลักษณ์บอกทาง (trail marker) บอกเสมอ แต่หากบังเอิญ เราเดินตามกลุ่มเพื่อนๆ ไม่ทัน แล้วดันเจอทางแยกที่มีป้ายบอกทางชัดเจนแหละ แต่จะไปทางไหน ซ้าย? หรือ ขวา? ก็จำชื่อหมู่บ้านถัดไปไม่ได้!
แล้วหากบังเอิญว่า เส้นทางที่เทรคนั้น เป็นเส้นทางที่ไม่ได้ฮิต เส้นทางใหม่ๆ ไม่ได้มีการดูแลรักษาเส้นทางอย่างดี จึงไม่มีป้ายบอกทางถี่ๆ การรู้ชื่อหมู่บ้านที่จะไป ก็จะเป็นประโยชน์ในการถามทาง กับคนที่เดินสวนกันค่ะ ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้านที่อาศัยอยู่บนเขา, ลูกหาบ หรือ นักท่องเที่ยวคนอื่นๆ ที่เดินสวนกัน นะคะ

1.2) ยืดเส้น ลดการปวดเมื่อยของกล้ามเนื้อ
เรื่องน่ารู้ระหว่างเทรคกิ้งเนปาล อีกอย่างที่เพื่อนๆ ควรทราบ เพื่อลดการบาดเจ็บ การเมื่อย ของกล้ามเนื้อ นั่นก็คือ ควรยืดเส้น เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่ทำได้ง่าย ทั้งยังทำให้ลดความเมื่อยล้าของกล้ามเนื้อ ส่งผลให้มีทริปเทรคกิ้งที่สนุกขึ้นด้วยนะคะ
ลองคิดว่าการเทรคกิ้ง เหมือนกับการออกกำลังกายดูนะคะ หากเราออกกำลังกายเลย โดยไม่มีการเตรียมกล้ามเนื้อ หรือ การอุ่นร่างกาย ก่อนออกกำลังกาย (warm up) และ การทำให้ร่างกายที่ร้อนๆ จากการออกกำลังกาย ให้เย็นลง ก่อนหยุดออกกำลังกาย (cool down) ความระบมของกล้ามเนื้อ (ที่จะเห็นผลและรู้สึกถึงความเจ็บได้ในวันถัดไป) จะมากมายแค่ไหน ทั้งยังเสี่ยงเกิดการบาดเจ็บระหว่างการออกกำลังกายอีกด้วย เพราะกล้ามเนื้อยังไม่พร้อมสำหรับการออกกำลังกาย และเพราะกล้ามเนื้อที่ได้ออกกำลังกายนั้นถูกหยุดนิ่งลงทันทีหลังออกกำลังกายเสร็จ
การยืดเส้น เป็นสิ่งที่หยกทำอยู่เป็นประจำค่ะ ทั้งก่อนการเทรค, ระหว่างเทรค, ก่อนนั่งพักเบรค และ ทุกๆ ครั้งที่ต้องหยุดพักระหว่างเทรค รวมทั้งเมื่อเทรคของวันนั้นๆ จบ คือเมื่อถึงที่พักแล้ว ซึ่งจะยืดเส้นทันที ก่อนถอดรองเท้าและเข้าห้องพักเลยค่ะ เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายเย็นลงเองอย่างทันที หลังจากเดินมาทั้งวัน
สิ่งที่ได้ คือ กล้ามเนื้อมีความสุข ระบมและเจ็บไม่มากอย่างที่ควรจะเป็น คือแค่พอเมื่อยๆ ให้ได้รู้ว่า เรากำลังเทรคกิ้งอยู่น้า
1.3) ออกเดินแต่เช้า หลีกเลี่ยงสภาพอากาศที่แปรปรวน
การออกเดินเช้าๆ ถือเป็นข้อปฏิบัติโดยทั่วไปของเทรคเกอร์เลยค่ะ
1.3.1) ในวันที่เดินปกติ
- จะได้มีเวลาชิวๆ เดินสบายๆ ชมวิวสวยๆ ถ่ายรูปเพลินๆ
- ถึงที่พักเร็วๆ มีเวลาพักผ่อนเกือบครึ่งๆ วัน
- ถึงเร็ว ก็มีโอกาสได้อาบน้ำ
- ถึงเร็ว ก็มีโอกาสได้ซักผ้า และ ผ้าแห้งทัน
1.3.2) ในวันที่เดินหนักๆ และ/หรือ บนเขาสูง 3,000 เมตรขึ้นไป
- จะได้ไม่ต้องเร่งรีบเดินมาก และ ได้ใช้เวลาเดินไปเรื่อยๆ เพราะที่สูงๆ แบบนี้ ปริมาณออกซิเจนน้อย จึงเดินยากและเหนื่อยกว่าที่ต่ำๆ
- หากวันไหนที่มีข้ามพาส หรือ ต้องเดินยาวๆ จะได้ถึงที่พักไม่เย็นไม่ค่ำมาก
- หลีกเลี่ยงสภาพอากาศแย่ อากาศแปรปรวนในช่วงสายๆ (เช่น ลมแรง หิมะตก เมฆหนา อากาศหนาว เป็นต้น)
- มีเวลาเผื่อ กรณีที่บังเอิญสภาพอากาศแปรปรวน หรือ อุบัติเหตุใดๆ ที่ทำให้เราต้องหยุดพักระหว่างทาง เป็นต้น

1.4) พกขนมเติมพลังใน daypack
กิจกรรมการเทรคกิ้ง เป็นกิจกรรมที่ใช้พลังงานมหาศาล และใช้พลังหมดอย่างรวดเร็วแบบไม่น่าเชื่อเลยค่ะ ซึ่งการเดินเทรคนี้ เป็นการเดินที่ยาวนาน ไม่ใช่แค่ 1 – 2 ชั่วโมง/วันนะคะ แต่เป็นการเดินนานตั้งแต่ 4 – 10 ชั่วโมง/วัน หรือมากกว่าก็มีนะคะ ทั้งทางเดินไม่ใช่ทางราบเรียบ เดินง่ายๆ แต่เป็นทางขรุขระ ทางเดินตามธรรมชาติในป่า บนเขา ที่ทั้งชันและลาดลง สนุกมากหน่อย ก็เดินขึ้นๆ ลงๆ ไต่ๆ ปีนๆ วนๆ รอบเขา เลยต้องใช้พลังงานเยอะ และต้องมั่นใจว่า หากพลังงานหมดระหว่างทาง เราจะมีเสบียง(ที่ให้พลังงานสูง)มาเติมพลังอย่างรวดเร็ว
แนะนำให้พกอาหารที่ให้พลังงานสูง เช่น granola bar, energy bar (อ่านฉลากพลังงานที่ได้รับด้วยนะคะ เพราะบางยี่ห้อ ให้พลังงานนิดเดียวค่ะ) หรือ พวกถั่วต่างๆ เป็นต้น
1.5) เตรียมน้ำดื่มในแต่ละวันก่อนเดินให้เพียงพอ
น้ำดื่มเป็นสิ่งสำคัญต่อการทำกิจกรรมกลางแจ้ง กิจกรรมที่เสียเหงื่อเยอะ สูญเสียน้ำมากกว่าปกติ เพื่อนๆ ทราบกันไหมคะว่า การดื่มน้ำเยอะๆ ยังเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ช่วยหลีกเลี่ยงการเกิดอาการ AMS จากการเทรคกิ้งบนเขาสูงได้อีกด้วยนะคะ
สิ่งแรกที่ต้องทำคือ ตรวจสอบดูว่า หมู่บ้านถัดไปที่เราจะเดินผ่านนั้น ห่างไปเท่าไหร่ เพื่อที่จะได้เตรียมน้ำดื่มให้เพียงพอ ทั้งนี้ แนะนำให้เตรียมเกินพอนะคะ เพราะน้ำดื่มเป็นสิ่งที่จำเป็น (ทั้งยังช่วยหลีกเลี่ยงการเกิดอาการ AMS อีกด้วย) และเราไม่สามารถทราบได้เลยว่า ข้อมูลที่ได้มาว่าต้องใช้เวลาเดิน 2 ชั่วโมงถึงจะถึงหมู่บ้านถัดไปนั้น ประยุกต์ใช้กับสปีดการเดินของเราไหม เราอาจใช้เวลา 3 ชั่วโมงก็ได้, สถานการณ์การเดินวันนี้จะเป็นอย่างไร จะมีอะไรมาทำให้เดินช้ากว่าที่ควรจะเป็นไหม เช่น พายุเข้า หรือ มีอาการบาดเจ็บเล็กๆ น้อยๆ ที่ทำให้ต้องเดินช้าลง เป็นต้น ดังนั้นแล้ว การมีน้ำดื่มที่เพียงพอจึงเป็นกฎหลักที่ต้องทำเมื่ออยู่บนเทรลค่ะ
ปกติแล้ว ในภาวะทั่วๆ ไป หยกจะพกน้ำดื่ม 3 ลิตรทุกวันค่ะ ไม่ว่าจะเดินมากเดินน้อย มีไว้ ดีกว่าขาดค่ะ
ส่วนวันที่ต้องเดินยาวๆ เช่น ข้ามพาส (ซึ่งส่วนใหญ่จะสูง 3,500 เมตรขึ้นไป) ที่จะไม่ได้เดินหมู่บ้านเป็นระยะเวลาหลายชั่วโมง กรณีแบบนี้ หยกจะพกไปอย่างน้อย 4.5 ลิตร ทั้งนี้ ปรับเปลี่ยนไปตามแต่ละเส้นทางค่ะ

1.6) จัดของที่จะให้ลูกหาบแบก แบบสมดุล + ให้ทางลูกหาบ
ลูกหาบ คือ ผู้ที่ทำให้การเทรคกิ้งของเราสบายขึ้นเยอะ ถ้าไม่มีเค้าแล้วเราจะแย่ค่ะ มาช่วยถนอมอาชีพสุจริตนี้ ด้วยสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่เราพอจะทำได้กันนะคะ
ลูกหาบคือบุคคลหลักที่ทำให้การเดินของเราสบายอย่างมาก ลูกหาบคือผู้ที่แบกของหนัก 20 – 40 kg หรือมากกว่า ลูกหาบคือผู้ที่ไม่มีปากมีเสียง ไม่บ่น ไม่ใดๆ ทำหน้าที่ของตัวเอง ด้วยอาชีพที่สุจริตอาชีพนี้ ให้ดีที่สุด คือแบกของอย่างเดียว ซึ่งของเหล่านี้หนักมากค่ะ ทั้งหนัก ทั้งใหญ่เทอะทะ
จะดีมาก หากเราสามารถช่วยสนับสนุนให้อาชีพนี้คงอยู่ต่อไป ให้คนรุ่นใหม่อยากทำเพิ่ม (คงไม่อยากแบกของเทรคเองใช่ไหมล่ะคะ) ด้วยสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่เราพอจะช่วยได้คือ
- จัดข้าวของที่เราจะให้ลูกหาบแบกแบบสมดุล
ส่วนใหญ่เราจะได้ duffle bag มาเพื่อใส่ของให้ลูกหาบแบก จัดของแบบกระจายน้ำหนักของให้สมดุลทั่วๆ ในกระเป๋านะคะ พอไปอยู่บนหลังหรือบนศีรษะของลูกหาบ เค้าจะได้เดินง่ายขึ้นค่ะ
- ให้ทางลูกหาบเดินไปก่อน
หากเดินสวนลูกหาบ แนะนำให้หยุด (โดยยืนหลบชิดภูเขา อย่าหยุดยืนฝั่งริมผานะคะ) แล้วให้ทางลูดหาบเดินไปก่อนนะคะ และใช่ค่ะว่าเราไม่มีตาหลัง แต่หากบังเอิญว่าเราหันหลัง แล้วเห็นลูกหาบกำลังเดินมา หรือ เดินอยู่ข้างหลังเรา ก็แนะนำให้หยุด แล้วให้ทางลูกหาบไปก่อนค่ะ
ไม่ใช่เฉพาะลูกหาบของเรานะคะ แต่กับลูกหาบทุกคน ส่วนลูกหาบของเรานั้น ยิ่งแนะนำว่าต้องทำเป็นพิเศษ เพราะบางทีเค้าเกรงใจเราค่ะ คือแบกของก็หนัก แต่ก็ไม่กล้าเดินนำไปก่อน แนะนะว่าให้ทางเค้า แล้วบอกให้เค้าไปก่อนเลย บอกเค้าว่าเค้าแบกของหนัก ขอบคุณมากๆ โปรดเดินนำไปก่อน บอกเค้าเช่นนี้ สัก 2 – 3 ครั้ง หลังจากนั้น เค้าก็จะกล้าเดินนำเราไปก่อนเองค่ะ

1.7) ซักผ้าทุกที่ ที่มีโอกาส
การได้ซักผ้าบ่อยๆ จะช่วยให้เพื่อนๆ ไม่ต้องแบกเสื้อผ้าไปเยอะค่ะ น้ำหนักกระเป๋าก็เบา จัดของก็ง่าย ดังนั้นแล้ว หากเราสามารถเพิ่มโอกาสของการซักผ้าบนเขาสูงที่หนาวๆ ได้ เราก็ควรใช่ไหมคะ
โอกาส คือ เมื่อเดินไปถึงที่พักเร็ว คือประมาณช่วงก่อนบ่ายสอง ที่ยังมีแดด เพื่อผ้าจะได้แห้งเร็ว
นอกจากพรุ่งนี้จะได้ใส่เสื้อผ้าที่สะอาด หอม สบายตัวแล้ว ยังทำให้มีกิจกรรมเล็กๆ น้อยๆ ที่ก่อให้เกิดประสบการณ์ที่แปลกใหม่กับการซักผ้าในน้ำเย็นๆ บนเขา ท่ามกลางหิมาลัย จะมีสักกี่คนเชียวค่ะ ที่ได้ทำแบบนี้ แล้ว ยังช่วยให้เราไม่ต้องแบกเสื้อผ้าไปเยอะ เพราะเรารู้อยู่แล้วว่ายังไงเราก็จะซักผ้ายังไงล่ะคะ

1.8) ก่อนอาบน้ำร้อนบนเขา ตรวจสอบก่อนว่า…
ใครจะคิดว่า จะอาบน้ำ นี่เป็น เรื่องน่ารู้ระหว่างเทรคกิ้งเนปาล ด้วยเหรอ และยังต้องตรวจสอบอะไรอีกเหรอ
ใช่ค่ะ การอาบน้ำบนเขานั้นเป็นเรื่องสำคัญเลยนะคะ ซึ่งการอาบน้ำอุ่น น้ำร้อน บนเขาสูงที่หนาวๆ นั้นเป็นไปได้ค่ะ ยิ่งได้อาบน้ำร้อนๆ บนเขาสูงๆ ที่อากาศหนาวเหน็บมากๆ มันคือความฝันเลยนะคะ แต่ก่อนที่จะกระโจนเข้าห้องน้ำ แก้ผ้าแล้วยืนหนาวสั่นทรมาน ควรตรวจสอบก่อนว่า
ก่อนจะอาบ ถามเจ้าของที่พักก่อนนะคะว่า น้ำร้อนมาจากโซล่าร์ หรือ แก๊ส
- ถ้ามาจากโซล่าร์ ก็ต้องถามต่อว่า
- น้ำร้อนมีให้อาบนานแค่ไหน มีคนอาบไปก่อนหน้าเราหรือยัง น้ำจะยังร้อนไหม
- และหากน้ำร้อนหมด ถามต่อว่าต้องรอนานไหม
- ไม่เพียงเท่านั้น เพื่อนๆ ต้องดูก่อนว่า วันนี้มีแดดไหม (ไม่มีแดด โซล่าร์ก็ไม่เต็ม) และ มีคนก่อนหน้าเรากี่คนที่เข้าไปอาบแล้ว
- และก่อนอาบ เปิดน้ำเช็คความร้อน ก่อนเปลื้องผ้านะคะ หลายครั้งที่อาจจะได้อาบน้ำอุ่นเพียงนาทีหรือ 2 นาที แล้วกลายเป็นน้ำเย็นแทนค่ะ
- ถ้ามาจากแก๊ส สบายใจ อาบไปเลยค่ะ สบายใจได้ว่าน้ำร้อนมากแน่ๆ
- ไม่ว่าน้ำร้อนจะมาจากแหล่งไหน โปรดอย่าใช้เวลาอาบนานนะคะ โปรดใช้เวลาให้สั้นที่สุด และ ประหยัดที่สุด
- โซล่าร์มีจำกัด แก๊สมีราคาและต้องใช้แรงใช้เงินเพื่อแบกขึ้นมาบนเขา
- มีเพื่อนท่านอื่นๆ ทั้งที่เรารู้จักและไม่รู้จัก ต่อแถวรออาบอยู่ และอาจมีเทรคกเกอร์ที่กำลังเดินมาถึงอยากอาบน้ำเช่นกัน
ก่อนเปลื้องผ้า ตรวจสอบก่อนว่า…
- น้ำที่จะอาบนั้น ร้อนจริงไหม โดยการเปิดน้ำทดสอบดูค่ะ
- ถ้าเป็นฝักบัว ตรวจสอบความแรงของน้ำก่อนอาบ โดยเฉพาะกับคุณผู้หญิง จะได้ตัดสินใจได้ว่า ควรสระผมไหม

1.9) ให้ความอบอุ่นแบตเตอรี่
ไฟฟ้าเป็นของหายาก สำหรับการเทรคกิ้งบนเขาสูงๆ ยิ่งสูงยิ่งหายาก (และยิ่งแพง) และยิ่งสูงๆ อากาศก็ยิ่งหนาว ทำให้แบตเตอรี่ทั้งหลาย แบตหมดลวอย่างรวดเร็ว ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ถูกนำมาใช้งาน
ดังนั้นแล้ว เมื่อถึงที่พัก ให้นำแบตเตอรี่ทั้งหมดที่มี มาใส่ไว้ในถุงนอนนะคะ ปกติหยกไว้ที่ปลายเท้าค่ะ และในยามคำ่คืนก็นอนกับแบตเตอรี่เหล่านั้นไปเลย และแนะนำให้ทำแบบนี้ทุกวันทุกคืนเลยนะคะ
มองหาทริปลุยๆ มันส์ๆ + ไกด์หญิงคนไทย ? เนปาล? ทาจิกิสถาน? คีร์กีซสถาน? จอร์แดน? ศรีลังกา?
หยกจัดทริปแล้วค่ะ ปี 2565 สนใจทริปไหน คลิ๊กอ่านเพิ่มเติมที่ภาพได้เลยค่ะ ไปผจญภัยกัน!
2. ข้อควรรู้เทรคกิ้งเนปาล – DON’Ts – ข้อห้าม ข้อไม่ควรทำ ระหว่างการเทรคกิ้ง พร้อมเหตุผล
2.1) ใส่หูฟังเดิน
มีเพื่อนๆ หลายท่านถามหยกเข้ามาว่า “ระหว่างเทรค ใส่หูฟัง ฟังเพลงเหมือนตอนจ๊อกกิ้งได้ไหม?” หากจะตอบว่า “ไม่ได้” ก็แลดูจะละเมิดสิทธิส่วนบุคคลกันเกินไป งั้นขอตอบว่า “ไม่ควร เพื่อความปลอดภัยของตัวเพื่อนๆ เอง” แล้วกันนะคะ
ใช่ค่ะ ระหว่างเทรค แนะนำว่าไม่ควรใส่หูฟัง ฟังเพลง เพื่อความปลอดภัยของตัวเราเอง ยิ่งการเดินบนเขา ท่ามกลางธรรมชาติ เราควรมีสติ มีประสาทสัมผัสที่พร้อม สำหรับการสังเกตสิ่งต่างๆ ที่ผิดแปลกไป ซึ่งการได้ยิน ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่สำคัญมากๆ
เช่น
- มีขบวนน้องลาเดินตามหลังมา หากเราไม่ได้ยินเสียงกระดิ่งประจำตัวน้องลา (ที่แขวนไว้กับน้องลา เพื่อเตือนคนบนเขาอยู่แล้ว) เราอาจถูกเฉียวถูกชน อาจหกล้ม โดนเหยียบ ได้รับบาดเจ็บ หรือ ระหว่างเดิน เราเดินริมผา อาจพลัดตกเขาได้ แต่หากเราได้ยินเสียงกระดิ่ง เราก็สามารถหลบหลีกได้ทัน
- เสียงเพื่อนร่วมทริป ที่เดินห่างจากเราไปไม่กี่เมตร ตะโกนเตือนว่ามีงู อยู่ใกล้ๆ เรา
- เสียงเพื่อนร่วมทริปนัดแนะ วางแผน สิ่งต่างๆ เช่น บอกชื่อหมู่บ้านสำหรับการพักทานอาหารเที่ยงของวันนี้ หรือ มีการเปลี่ยนแผนการเดินวันนี้ เป็นต้น
- เสียงการเกิดภัยธรรมชาติต่างๆ เช่น เสียงหินถล่ม เสียงหิมะถล่ม ที่อันตรายมากๆ ทำให้เราต้องวิ่งหนีจากสิ่งเหล่านี้ที่ถล่มลงมาให้ทัน และถูกทิศ
- เสียงคนตะโกนเพื่อเตือนเราว่าข้างหน้ามีสิ่งที่ต้องระวังเกิดขึ้น เช่น ทางเดินข้างหน้ามีดินถล่ม ควรระมัดระวัง เพราะทางเดินหายไปช่วงสั้นๆ หรือ เดินต่อไปไม่ได้
- มีคนเสียงตะโกนขอความช่วยเหลือ
เป็นต้น

2.2) เปิดเพลงเสียงดัง ระหว่างเทรค
การเปิดเพลงเสียงดัง ระหว่างการเดินเทรคกิ้งบนเขา นอกจากจะเป็นการรบกวนธรรมชาติ สัตว์ป่าทั้งหลายแล้ว ยังเป็นการรบกวนอารมณ์สุนทรีของนักท่องเที่ยว ที่ตั้งใจมาเดินป่าเดินเขา มาดีท็อกซ์ มาชาร์จแบตเตอรีชีวิต ขจัดความวุ่นวาย ความเสียงดังในเมืองใหญ่ ความเคร่งเครียดจากการทำงานที่หนักหน่วง กับเสียงของธรรมชาติ ไหนจะเสียงนกอันไพเราะนานาชนิด เสียงแมลงต่างๆ ที่แสนหวาน เสียงลมที่ชุ่มชื่น และ เสียงใบไม้กระทบกันที่เพลินเพลิด ท่ามกลางธรรมชาติอันแสนจะบริสุทธิ์ ที่หาไม่ได้ง่ายๆ
หากอยากจะฟังเพลงดังๆ รอกลับไปฟังที่บ้านดีกว่านะคะ ปีหนึ่งมี 365 วัน แต่เรามาเที่ยวธรรมชาติๆ แค่ไม่กี่วันเองค่ะ เก็บบรรยากาศ เสียงลม เสียงใบไม้กระทบกัน เสียงนก ความสดชื่น ความบริสุทธิ์ให้เต็มที่ ให้เต็มปอดดีกว่านะคะ
2.3) มองหิมะด้วยตาเปล่า
หิมะ ความสวยงามสีขาวที่บริสุทธิ์ แต่ก็มีพิษภัยที่ร้ายแรง เคยได้ยิน snow blindness หรือ อาการตาบอดจากหิมะ หรือที่บางคนเรียก ดวงตาถูกแดดเผา กันไหมคะ? นี่แหละค่ะ ศัตรูที่น่ากลัวของเทรคเกอร์เมื่อต้องเทรค ยามมีหิมะ นี่คืออีก เรื่องน่ารู้ระหว่างเทรคกิ้งเนปาล ที่หลายคนควรทราบ
ความน่ากลัวของหิมะ คือ ความสีขาวโอโม่ ที่บริสุทธิ์ ที่เป็นตัวสะท้อนรังสียูวีได้อย่างดี การมองหิมะจึงแทบไม่ต่างจากการมองดวงอาทิตย์โดยตรง เลยยังไงล่ะคะ
นอกจากหิมะที่อยู่บนพื้นแล้ว ยังงดการมองหิมะที่ปกคลุมหลังคา และ ต้นไม้ โดยที่ไม่ใส่แว่นกันแดดที่กันรังสียูวีนะคะ
- อาการตาบอดจากหิมะ ที่พบได้
เช่น ปวดตา, ตาแดง, น้ำตาไหล, มองไม่ชัด เบลอๆ, มองเห็นเป็นมืดๆ วูบๆ, เห็นภาพซ้อน, ตาบวม, มีอาการปวดหัว หรือ ไวต่อแสง เป็นต้น หากอาการไม่หนัก โดยทั่วไปอาการเหล่านี้จะหายไปเองภายใน 2 – 3 วัน ค่ะ แต่หากระหว่างนี้ เรายังต้องเดินเทรค คงจะไม่สบายต่อการเดินเป็นแน่

2.4) ถอดรองเท้า แล้วเดินเท้าเปล่าลุยน้ำ
หากเราต้องเดินลุยน้ำ เพื่อข้ามแม่น้ำ โปรดตระหนักไว้เสมอว่า เราไม่สามารถทราบได้เลยค่ะว่ามีอะไรรอเราอยู่ที่ใต้น้ำ พื้นผิวเป็นแบบไหน อาจมีหินแหลมคม มีร่องที่ทำให้เท้าติด หรือ มีขยะมีคม เป็นต้น ดังนั้นแล้ว เราจะไม่ถอดรองเท้าเดินป่า แล้วเดินลุยน้ำ เพื่อข้ามแม่น้ำเด็ดขาดค่ะ หากรองเท้าจะเปียกก็ต้องยอมเปียกค่ะ
รองเท้าสามารถแห้งได้ ถึงแม้จะใช้เวลาก็ตาม แต่หากเรามีบาดแผลจากการเหยียบหิน หรือ สิ่งต่างๆ จากใต้น้ำมา จะเทรคต่อลำบาก หรือ อาจเทรคต่อไม่ได้เลยก็เป็นได้นะคะ แบบนี้ขอเลือกรองเท้าเปียกดีกว่าไหมคะ
หลังจากนั้น พอข้ามมาได้ ก็ค่อยหาที่สบายๆ ถอดรองเท้าเดินป่าออก แล้วเอาน้ำออกให้ได้มากที่สุดค่ะ ทำการบิดถุงเท้าให้หมาดที่สุด และพยายามรีบเดินให้ถึงที่พักให้เร็วที่สุด ให้ไปถึงในช่วงที่ยังมีแดด (ถ้าเป็นไปได้) เพื่อตากรองเท้าค่ะ แต่ถ้าเป็นที่หนาวๆ ที่ซึ่งเค้าจะมีเตาไฟให้ความอุ่นบริการลูกค้าอยู่แล้ว หยกก็จะเอารองเท้าไปอังกับเตาไฟในห้องอาหารและตากถุงเท้าไว้ที่นั่นด้วย ตากให้แห้งค่ะ ทั้งนี้ บางที่อาจไม่เหมาะกับการตากของทิ้งไว้ค้างคืนในห้องทานอาหาร ดังนั้นแล้ว อย่าลืมเก็บก่อนเข้านอนด้วยนะคะ

2.5) แจกขนม ของใช้ หรือ เงิน ให้เด็กๆ บนเขา
ไม่ได้มาแนะนำให้เป็นคนใจร้ายนะคะ แต่เพื่อนๆ คงเคยได้ยิน สุภาษิตที่ว่า “พ่อแม่รังแกฉัน” ในกรณีก็คล้ายๆ กันค่ะ ยิ่งแจกยิ่งเคยตัว และก็ส่งผลไม่ดีต่างๆ ตามมาค่ะ ลองเปลี่ยนจากการให้ของ ให้ขนม หรือ ให้เงิน มาผูกมิตรด้วยการเป็นเพื่อนที่น่ารัก สอนภาษาอังกฤษง่ายๆ สอนการพูดคุยให้เด็กๆ มีความกล้า มั่นใจ ที่จะพูดคุยกับนักท่องเที่ยว สอนการมีสัมมาคารวะ ไหว้ หรือ ทักทาย เมื่อเจอ และ โบกมือบ๊ายบาย เมื่อต้องจากกัน เป็นต้น ดีกว่านะคะ
กรณีที่พบบ่อย คือ
- อยากถ่ายรูปกับเด็กๆ ชาวเขาที่สุดจะน่ารัก
- เลยหลอกล่อด้วยการให้ขนม เพื่อจะขอให้มาถ่ายรูปด้วย กรณีนี้ เด็กจะเรียนรู้เองว่า ถ้ามีคนมาขอถ่ายรูปด้วยครั้งหน้า ต้องมีขนม มีของมาให้ ไม่งั้นจะไม่ยอมถ่าย
- รู้สึกสงสารเด็ก อยากแบ่งปันขนม หรือ ของเล่น ที่เด็กๆ บนเขาคงไม่มีโอกาสได้
- เลยหยิบยื่นสิ่งของเหล่านี้ให้ หรือ ไม่มีของเหล่านี้ ก็เลยให้เป็นเงินแทน เช่นนี้แล้ว เด็กๆ ก็จะเรียนรู้ว่า หากเจอนักท่องเที่ยว (และเด็กๆ จะคาดว่า)นักท่องเที่ยว(ทุกคน)จะต้องให้อะไรพวกเขา และแน่นอนว่า เมื่อเด็กๆ เหล่านี้มีความเคยตัว จากการอยู่ดีๆ ก็มีคนให้ จากนั้นก็เริ่มมีการขอ แล้วหากวันหนึ่งมีคนเริ่มไม่ให้ อาจก่อให้เกิดการขอที่รุนแรงขึ้น จนกลายเป็นความก้าวร้าว ก็เป็นได้นะคะ
- ตั้งใจ ซื้อของเล่นต่างๆ เอาไปแจกเด็กๆ บนเขา
- เป็นความตั้งใจที่ดีมากๆ ค่ะ แต่อย่าลืมว่า เราไม่สามารถแจกเด็กๆ บนเขาได้ครบทุกคน อีกทั้ง บนเขามีของเล่นตามธรรมชาติ ที่เหมาะสมกับชีวิตที่สวยงามท่ามกลางธรรมชาติอยู่แล้ว โปรดอย่าเอาของเล่นพลาสติก หรือ ของเล่นของเด็กในเมือง ที่เค้าไม่ต้องการ ไปทดแทนความสวยงามของธรรมชาติที่รังสรรค์สำหรับเด็กๆ บนเขาเลยนะคะ
เป็นต้น
ทราบกันไหมคะ ว่าเด็กๆ บนเขามีกันมากมายแค่ไหน และที่เราการให้ของกับเด็กๆ นั้น เราให้กับแค่เด็กส่วนน้อย ลองจินตนาการดูนะคะ ว่าหากเด็กที่เราให้ของ(ที่หาไม่ได้บนเขา ที่เค้าไม่เคยรู้จัก)ไป แล้วเด็กคนนี้ ไปเจอเพื่อนๆ เจอสังคมของเค้า แล้วเพื่อนอยากได้บ้าง แต่เด็กคนนี้ไม่ให้! ไม่แบ่งให้เล่น! จะเกิดอะไรขึ้น? 1.เด็กๆ ทะเลาะกัน 2.เด็กคนที่ไม่ได้ เรียนรู้ว่าต้องไปดักขอนักท่องเที่ยวตามเส้นทางเดินป่า หรือ 3. หรือ 4. หรือ ข้ออื่นๆ ที่เราอาจคาดไม่ถึงว่าจะสามารถเกิดขึ้นได้กับเด็กเหล่านั้น
หากเพื่อนๆ อยากช่วยเหลือเด็กๆ เหล่านี้ โปรดอย่าสปอยความบริสุทธิ์ที่น่ารัก ตามธรรมชาติ ของเด็กๆ ชาวเขาเหล่านี้ ด้วยความหวังดีและความไม่ตั้งใจของเราเลยนะคะ แนะนำว่าให้ไปบริจาคกับองค์การการกุศลต่างๆ หรือ ศูนย์ต่างๆ ที่จะส่งความช่วยเหลือไปบนเขา หรือ โรงเรียน ที่เชื่อถือได้ จะดีที่สุดค่ะ

2.6) ออกจากที่พัก (teahouse) โดยไม่ตรวจสอบว่าลืมอะไรไหม
เส้นทางเทรคกิ้งเนปาล นั้นไม่ได้เหมือนการท่องเที่ยวทั่วๆ ไป ที่ลืมของ ก็โทรไปแจ้งที่ที่พัก ให้เก็บของไว้ให้ จากนั้นก็วนรถกลับ เพื่อไปรับของที่ลืมไว้ แต่การเทรคกิ้งนั้นเป็นการเดินบนเขา เดินไปเรื่อยๆ หลายๆ วัน ในที่ห่างไกล ที่สัญญาณโทรศัพท์เข้าไม่ถึง ไม่มี หรือ มีน้อยมาก ทั้งยังใช้แรงงานในการเดินเท้า ก้าวต่อก้าว มีตารางการเดินที่ชัดเจน ทุกวัน จนจบทริป ที่หลายครั้ง เปลี่ยนแผนการเดินไม่ได้
ดังนั้น หากเราลืมของ ถ้าเป็นของที่ทิ้งได้ ก็คงต้องทิ้งไป แต่หากลืมของสำคัญๆ เช่น หนังสือเดินทาง อาจจะต้องเดินกลับไปเอา อาจจะต้องเจรจาให้ลูกหาบเดินเร็วกลับไปเอามาให้ อาจจะต้องให้ลูกหาบคนนั้นค้างคืนที่นั่น แล้วตามมาสบทบในวัดถัดไป ส่วนของๆ เราก็คงต้องแบกเอง หรือ หากมีลูกหาบของเพื่อน ก็คงต้องเจรจาให้เค้าช่วยแบก? แบกของเยอะขึ้น ซึ่งนอกจากจะเสียเวลา เสียหัวแล้ว ยังต้องเสียเงินเพิ่มโดยไม่จำเป็นอีกด้วยค่ะ แล้วหากบังเอิญ กลับไปเอาไม่ได้ ด้วยเหตุผลที่คาดการณ์ไม่ได้ล่ะคะ
อย่าคิดแก้ปัญหาล่วงหน้าให้ปวดหัวเลยค่ะ มาหลีกเลี่ยง มาระมัดระวังไม่ให้ลืมของกันดีกว่านะคะ ตรวจสอบข้าวของดีๆ ตั้งแต่ในห้อง ใต้เตียง บนโต๊ะ ที่วางของริมหน้าต่าง และ ในห้องอาหาร ก่อนออกเริ่มเดินนะคะ

2.7) ขอ หรือ ยืม ของ จาก เพื่อนร่วมทริป หรือ เพื่อนร่วมทาง
หยกกล่าวในกรณีที่ไปเทรคนานๆ แบบมากกว่า 10 วันนะคะ หากเทรคสั้นๆ มักเตรียมของไปได้เยอะ และของมักจะเหลือซะด้วยซ้ำไปค่ะ
การไปเทรคกิ้งบนเขา ในที่ห่างไกลความเจริญเป็นระยะเวลาหลายๆ วัน ที่มีการจำกัดต่อการเข้าถึงร้านค้าต่างๆ ร้านสะดวกซื้อ หรือ ร้านขายยา เป็นต้น นั้น บังคับให้เราต้องเตรียมของจำเป็นไปให้เพียงพอตลอดทริป อีกทั้งการจำกัดของน้ำหนักของ ที่สามารถเตรียมไปด้วยได้นั้น ทำให้เราไม่สามารถเตรียมของไปเผื่อเพื่อนได้ค่ะ
นอกจากว่า เพื่อนท่านนั้นๆ เสนอของบางอย่าง หรือ ยินดีที่จะแบ่งของบางอย่างให้เรา ทั้งนี้ แนะนำให้รับไว้พอประมาณ นิดๆ หน่อยๆ ไม่ให้เสียน้ำใจกันก็พอนะคะ ระยะทางของการเทรค และข้าวของที่ยังต้องใช้ อาจจะยังอีกยาวไกล เผื่อๆ ของให้ถึงวันสุดท้ายด้วยค่ะ
ไม่เพียงแค่ อาหาร หรือ ของกิน นะคะ ในกรณีนี้ หยกยังรวมถึง พาวเวอร์แบงก์ อีกด้วยค่ะ ยิ่งกรณีที่มีการเข้าถึงการชาร์จไฟที่จำกัด หรือ ต้องเสียเงินเพื่อชาร์จไฟ อีกทั้งปัจจุบัน คนเรายังมีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หลายอย่าง ไหนจะกล้อง มือถือ จีพีเอส นาฬิกา และ อื่นๆ ที่บางที พาวเวอร์แบงก์ เพียงเครื่องเดียว ยังชาร์จของคนๆ เดียวได้แค่วันเดียวเท่านั้นเองค่ะ
ไม่ได้แนะนำให้เห็นแก่ตัวนะคะ แต่แนะนำให้เตรียมตัวไปให้พร้อมที่สุด และ นึกถึงใจเค้าใจเราค่ะ

2.8) ทานอาหารเหลือ
ของบนเขาทุกอย่างมีคุณค่ามากๆ ลำบากตั้งแต่การเตรียม การหาซื้อ และการขนจากที่ต่ำๆ ขึ้นเขาไป ที่อาจใช้เวลาหลายวันกว่าจะถึง ยิ่งที่ไกลๆ ทางลำบากๆ อาจต้องใช้แรงงานคนแบกเท่านั้น สัตว์ต่างๆ (เช่น ล่า, ล่อ หรือ จามรี) อาจเดินไปไม่ได้ ทั้งต้องมีการตุนของ เพราะไม่สามารถซื้อของขึ้นเขาได้บ่อยๆ 1 เดือนสั่งของที เป็นต้น
ของทุกอย่างบนเขา จึงต้องใช้อย่างมีคุณค่า และ ประหยัดที่สุด การทานอาหารเหลือ จึงเป็นสิ่งที่รับไม่ได้ของชาวพื้นเมืองค่ะ ข้าวทุกเม็ด มันฝรั่งทุกชิ้น มีราคา มีคุณค่า และมีการเสียเวลา (ของการขนมา) หากเราทานเหลือ จะสังเกตได้อย่างชัดเจนเลยว่าไกด์พื้นเมืองจะถามว่า ทำไมทานไหม่หมด ไม่อร่อยเหรอ ด้วยสีหน้าที่เศร้าและเสียใจ เพราะเค้าต้องเอาอาหารที่เหลือนั้นทิ้งไป (เก็บไว้ทานอีกก็ไม่ได้ เพราะบนเขาไม่ได้มีตู้เย็น หากเก็บอาหารเก่าไว้ทาน ก็จะพาลท้องเสียเอา) เสียใจยาวไปถึงคนในครัว คนทำอาหาร ที่เห็นอาหารเหลือ
ข้อควรรู้
เนื่องจากกิจกรรมการเทรคกิ้ง เป็นกิจกรรมที่ใช้พลังงานมหาศาล ธรรมเนียมปฏิบัติของการเทรคกิ้งในเนปาล ตามที่พัก teahouse ต่างๆ จึงมักจะเสิร์ฟอาหารให้กับเทรคเกอร์ในปริมาณที่เยอะค่ะ คือพูนๆ จานเลย ให้เหมาะกับการสูญเสียพลังงานกับการเทรคที่หนักหน่วง เพื่อที่เทรคเกอร์จะได้มีพลัง มีแรง ในการเทรควันต่อๆ ไป
ในปัจจุบัน ที่พักหลายแห่ง เริ่มมีการปรับตัว เพื่อลดการเสียของโดยเปล่าประโยชน์ โดยการเสิร์ฟอาหารในปริมาณที่น้อยลง (แต่ในราคาเดิม) เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียของ เพราะเทรคเกอร์มักจะทานกันไม่หมด
ดังนั้นแล้ว หากกังวลว่าจะทานไม่หมด เมื่อเห็นว่าอาหารที่มาเสิร์ฟมีปริมาณเยอะเกินไป แนะนำให้ขอจานแบ่ง มาแบ่งอาหารไว้ อาจแบ่งให้ไกด์พื้นเมือง หรือ ลูกหาบ ไปทานได้นะคะ

2.9) ทิ้งขยะบนเทรล บนเขา
การขนของขึ้นเขาก็มีค่าใช้จ่ายค่ะ นอกจากจะเสียเงินแล้ว ยังเสียเวลาในการขนอีกด้วย แล้วการขนของลงเขาจะฟรีได้ยังไงคะ? ทั้งขยะหลายประเภทก็ไม่ได้ย่อยสลายหายไปเองในวันสองวันนะคะ แล้วเพื่อนๆ คิดเหรอคะว่า ชาวพื้นเมืองจะยอมเสียเงินจ้างคนหรือสัตว์ เพื่อแบกขยะลงมาทิ้ง! ไม่ค่ะ! สิ่งที่เค้าทำ ก็ทิ้งมันไว้เช่นนั้น ไม่ก็หาที่กองไว้ในมุมลับบนเขาสักแห่ง ไม่ก็เผาไปซะเลย จะพลาสติกก็ไม่สน ซึ่งไม่ใช่ทางออกที่ดีงามสำหรับธรรมชาติเลยนะคะ
ดังนั้นแล้ว คนละไม้คนละมือนะคะ แบกอะไรขึ้นไป อย่างน้อยก็ช่วยกันแบกของตัวเองกลับลงมากันเถอะค่ะ มาช่วยกันคนละไม้คนละมือ รักษาธรรมชาติ และ หิมาลัย ให้สวยงาม และ ยั่งยืนไปนานๆ นะคะ

2.10) นอนกลางวัน
นี่เป็น ข้อควรรู้เทรคกิ้งเนปาล ที่ต้องระวังให้มาก ยิ่งกรณีที่อยู่บนที่สูงๆ ที่เสี่ยงต่อการเกิด AMS
เข้าใจดีค่ะ ว่าเทรคกิ้งนั้นเหนื่อยมากๆ ยิ่งหากเทรคถึงที่พักเร็ว ก็คงอยากจะพัก อยากจะงีบทันทีเลยใช่ไหมล่ะคะ แต่ไม่ได้ค่ะ การงีบกลางวันเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง ยิ่งหากเราอยู่ในเขตที่สูง 2,500 เมตรขึ้นไป เพราะมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิด อาการ AMS ได้ ทั้งการที่เรานอนกลางวัน จะทำให้กลางคืนเรานอนหลับยาก นอนไม่หลับ หรือ นอนดึก ที่อาจไปรบกวนเพื่อนร่วมห้อง ให้นอนไม่หลับไปด้วยก็เป็นได้ค่ะ หรือ กว่าจะหลับ ก็เกือบเช้า เกือบถึงเวลาต้องตื่นนอน เตรียมออกเดินของเช้าวันใหม่แล้ว ทีนี้กลางวันก็เหนื่อย เพราะเมื่อคืนนอนไม่หลับ ไม่มีแรงเดิน หมดแรง เพลีย เดินไม่ไหว พาลหมดสนุกไปอีก และ ส่งผลให้ตารางเวลาการพักผ่อนรวน ทั้งยังเสี่ยงสูงต่อการเกิดอาการ AMS อีก
ดังนั้นแล้ว นอนให้เป็นเวลา และ พักผ่อนให้เพียงพอนะคะ หากเทรคถึงที่พักเร็ว ก็หาอะไรทำค่ะ อาจจะอาบน้ำ ซักผ้า ออกไปเดินเล่น หรือ เล่นเกมส์กัน เพลินๆ แปปเดียวเวลาก็ผ่านไปแล้วค่ะ

2.11) ไม่ทานอาหาร เหนื่อยมาก จนไม่หิว
อีก เรื่องน่ารู้ระหว่างเทรคกิ้งเนปาล ที่หลายคนคาดไม่ถึง คือ เรื่องการทานอาหารค่ะ ยิ่งการทำกิจกรรมเทรคกิ้งนั้น ทำให้เราสูญเสียพลังงานไปเยอะ เราต้องหาอะไรมาทดแทนนะคะ ทั้งการทานอาหารยังช่วยในเรื่องลดความเสี่ยงการเกิด AMS อีกด้วยนะคะ
มีกลุ่มคนประเภทที่พอเหนื่อยมากๆ แล้วก็จะหิวสุดๆ หากไม่ได้มีอะไรลงท้อง จะหมดแรง จะไม่ไหว ต้องทานเมื่อหิว เมื่อเหนื่อย แต่ก็มีกลุ่มคนอีกประเภทที่จะทานอะไรไม่ลง ไม่มีความหิว ไม่อยากอะไรเลย ซึ่งไม่ได้เลยนะคะ เพราะกิจกรรมเทรคกิ้ง เป็นกิจกรรมที่ใช้พลังงานมหาศาล และยังต้องเดินต่อเป็นเวลาหลายวัน หากจะต้องมาหมดแรง หรือ ไม่มีแรงเดิน นั้น คงทำให้หมดสนุกเป็นแน่เลยค่ะ
อีกทั้ง การทานอาหาร ยังถือว่าเป็น การเติมน้ำให้ร่างกาย (hydration) ทางอ้อมอีกด้วยนะคะ ซึ่งเป็นการช่วยลดความเสี่ยงการเกิด AMS ได้อีกด้วยค่ะ
2.12) วิ่ง หรือ ออกกำลังกาย หรือ แข่งกันเดิน เมื่ออยู่บนเขาที่สูง 2,500 เมตรขึ้นไป
นี่คือกฎหลักของการหลีกเลี่ยงอาการ AMS เลยค่ะ คือ หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมใดๆ ที่หนัก ในระยะเวลาสั้นๆ บนเขาที่สูงกว่า 2,500 เมตรขึ้นไป หากอยากวิ่ง อยากออกกำลังกาย ก็ทำตอนเตรียมตัวก่อนมาเทรคดีกว่านะคะ

2.13) ผิดหวัง เมื่อสถานการณ์จริงไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้
เทรคกิ้ง เป็นกิจกรรมการท่องเที่ยวที่มีเอกลักษณ์ ท่ามกลางธรรมชาติ จึงมีปัจจัยหลายอย่างที่เราไม่สามารถคาดการณ์ได้ ทั้งยังอยู่เหนือการควบคุมของเราอีกด้วยค่ะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กับสภาพอากาศ นี่จึงเป็นอีกหนึ่ง เรื่องน่ารู้ระหว่างเทรคกิ้งเนปาล ค่ะ
ดังนั้นแล้ว จึงอาจมีกรณีที่ไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ จึงก่อให้เกิด “ความผิดหวัง” เพราะเราไม่รู้ว่าเราจะมีโอกาสมาเทรคที่นี่อีกไหม จะได้กลับมาที่นี่อีกหรือเปล่า อีกทั้งเพื่อนๆ บางท่าน ก็แพลนทริปนี้ รวมทั้งเก็บเงิน มาเป็นเวลานาน ก็แน่นอนว่าทุกคนอยากจะให้ทุกอย่างราบรื่น เป็นไปตามที่คิดฝันไว้ หรือ มากกว่า
แต่หากมีเหตุการณ์สุดวิสัยเกิดขึ้น เช่น สภาพอากาศไม่เป็นใจ หิมะตกหนัก เมฆหนา ฟ้าปิด เดินต่อไม่ได้ ที่ทำให้เราต้องปรับเปลี่ยนแผนการ เพื่อความปลอดภัยแล้วล่ะก็ ลองเปลี่ยนมุมมอง แล้วพลิกสถานการณ์ ให้เป็นความตื่นเต้นผจญภัย มาเรียนรู้หาวิธีแก้ปัญหาเฉพาะหน้า หรือ ฝึกไหวพริบการเปลี่ยนแผนการณ์อย่างรวดเร็ว หรือ ประชุมปรีกษา หารือ ออกความคิดเห็นกับเพื่อนๆ ในกลุ่ม ดูนะคะ
ความผิดหวัง หรือ ไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ระหว่างเทรคกิ้งนั้นเป็นเรื่องปกติค่ะโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออากาศไม่เป็นใจเราจึงต้องพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนแผนและปรับเปลี่ยนใจ (ไม่ให้มีความรู้สึกเศร้าเสียใจและผิดหวัง) อยู่ตลอดเวลา

ทั้งนี้ เรื่องน่ารู้ระหว่างเทรคกิ้งเนปาล ที่หยกได้นำเสนอไปนั้น ไม่ได้เป็นข้อบังคับ หรือ กฎระเบียบใดๆ นะคะ โดยที่ อะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ ระหว่างเทรคกิ้งที่เนปาล ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น เป็นแค่บางส่วนสำคัญๆ ที่หยกเลือกมาเท่านั้น (จริงๆ มีเยอะกว่านี้มากๆ ค่ะ แต่บางอย่างนั้นก็อธิบายให้เห็นภาพยากมาก) และเป็นสิ่งที่หยกทำเป็นประจำระหว่างการเทรคกิ้ง และ คำแนะนำจากสิ่งที่หยกเรียนรู้มากจากประสบการณ์ที่หยกได้มาจากการเทรคกิ้งที่เนปาลกว่า 6 เส้นทาง ที่หลายอย่างนั้นมีประยชน์มากๆ เช่น เรื่องทานอาหารไม่หมด แบบที่เพื่อนๆ จะสามารถสังเกตได้อย่างชัดเจนจากสีหน้าของคนที่มาเก็บจาน หรืออาจถูกถามตรงๆ เลยว่าทำไมทานไม่หมด โดยตรงเลยก็ได้ค่ะ หรือ เรื่องการอาบน้ำร้อน และ ซักผ้า เป็นต้น จึงอยากนำมาแบ่งปันค่ะ เพื่อที่เพื่อนๆ จะได้เทรคกิ้งได้อย่างสบายใจ ประทับใจ สนุกตลอดทริป และมีความทรงจำที่ดีๆ กลับบ้านไปด้วย
หากเพื่อนๆ มีความคิดเห็นอื่นใด มีสิ่งไหนอยากเพิ่มเติม หรือ อยากแบ่งปันประสบการณ์ใดๆ ก็คอมเม้นต์มาที่ช่องคอมเม้นต์ที่ด้านล่างนี้ได้เลยนะคะ