
“เปิดให้ขึ้นแล้วจ้า ”
“จำกัด 30 ท่าน/ช่วงเวลา ”
“ต้องทำการจอง ล่วงหน้าได้ 15 วัน ”ผ่านแอป QueQ ระบุช่วงเวลา & ใส่ชื่อ-สกุลทุกท่านที่ไป
ไม่มาเช็คอินในช่วงเวลาที่จอง=สละสิทธิ์ แต่สามารถอยู่เที่ยวได้นานกว่าช่วงเวลาที่จอง
โปรดตรวจสอบข้อมูลที่ชัดเจนอีกครั้งก่อนออกเดินทาง สำหรับมาตรการการปฏิบัติตัวระหว่างท่องเที่ยวนะคะ
อยากขึ้น ยอดเขาเทวดา อุทยานแห่งชาติพุเตย จ.สุพรรณบุรี ต้องไปที่ไหนน้า จะบอกว่า ไม่ได้เริ่มเดินจาก ที่ทำการอุทยานแห่งชาติพุเตย นะเออ แล้วต้องเตรียมตัวอะไรบ้าง เริ่มเดินกี่โมงดี เดินนานไหม เดินยากหรือเปล่า และ อื่นๆ ที่ควรรู้อีกมากมาย แล้วรู้ไหมว่า นอกจาก ยอดเขาเทวดา แล้ว ยังมีอะไรให้เที่ยว ให้ชม อีกเพียบเลยนะ ไปดูกันเลยค่ะ
โดยเพื่อนๆ ชาวสนุกเที่ยว สามารถเข้าไปอ่านรายละเอียดของ อุทยานแห่งชาติพุเตย ได้ที่ลิ้งค์นี้เลยนะคะ จะได้ทราบรายละเอียดว่า อุทยานแห่งชาติพุเตย มีกี่หน่วย โดยแต่ละหน่วยอยู่ที่ไหน มีที่เที่ยวอะไรบ้าง จะไปยอดเขาเทวดาต้องค้างที่ไหน รวมทั้งที่พัก, ลานกางเต็นท์, ร้านอาหาร และ สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ

ซึ่งในบทความนี้ จะขอกล่าวถึง ยอดเขาเทวดา และ หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติพุเตยที่ 3 (ตะเพินคี่) เป็นหลักนะคะ โดยจะมีรายละเอียดตามหัวข้อด้านล่างนี้เลยค่ะ
ปล. มีรูปทางช้างเผือก และ รูปดวงดาวเต็มท้องฟ้าข้างล่าง ไฟล์รูปใหญ่สักหน่อย ถึงแม้จะพยายามทำให้เล็กแล้วก็ตาม อาจจะโหลดช้าไปบ้างนะคะ
- จะไปขึ้นยอดเขาเทวดา ต้องไปที่ใด, ต้องค้างคืนที่หน่วยไหน, จุดเริ่มเดิน อยู่ไกลจากลานกางเต็นท์ไหม, เดินนานไหมน้า แล้วต้องเริ่มเดินกี่โมงดี
- ค่าใช่จ่ายเพื่อขึ้นยอดเขาเทวดา และ ช่วงเปิด – ปิด ของ หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติพุเตยที่ 3 (ตะเพินคี่) และ ยอดเขาเทวดา
- ไปขึ้นยอดเขาเทวดาทำไมเนี่ย มีอะไรให้ชม ให้ฟิน ทางเดินขึ้นเป็นแบบไหน แล้วด้านบนมีอะไร
- สิ่งอำนวยความสะดวก และ ค่าใช้จ่าย ในหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติพุเตยที่ 3 (ตะเพินคี่) ไม่ว่าจะเป็น บ้านพัก ลานกางเต็นท์ ห้องน้ำ ไฟฟ้า ร้านอาหาร ร้านค้าสวัสดิการ และ สัญญาณโทรศัพท์
- นอกจาก ยอดเขาเทวดา แล้ว ที่ หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติพุเตยที่ 3 (ตะเพินคี่) มีอะไรให้ทำ หรือ ที่เที่ยวที่อื่นอีกไหม
- เรื่องเล่ามันส์ๆ, ใช้เวลาเดินนานแค่ไหน, ทริค, ข้อควรรู้ และ ข้อควรระวัง ระหว่างการเดินขึ้นยอดเขาเทวดา และ การแค้มป์ปิ้ง ที่ หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติพุเตยที่ 3 (ตะเพินคี่)
- การเตรียมพร้อม, สิ่งที่ต้องเตรียม และ ข้อควรรู้ หากจะมาขึ้น ยอดเขาเทวดา และ การแค้มปิ้ง ที่ หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติพุเตยที่ 3 (ตะเพินคี่)
- แนะนำที่พักใกล้ อุทยานแห่งชาติพุเตย (หน่วยหลัก)
หลังจากหยกโพสต์รีวิวการท่องเที่ยวในรูปแบบที่ค่อนข้างลุย ไปในที่ๆ มีนักท่องเที่ยวน้อยๆ ชอบขวนขวายหาสถานที่เที่ยวใหม่ๆ และได้เที่ยวได้สัมผัสแต่ละที่แบบเต็มๆ ทำให้มีเพื่อนๆ หลายท่านให้ความสนใจ บอกว่า “ดูสนุกมากๆ เป็นสไตล์การท่องเที่ยวที่หายาก ไม่ค่อยมีใครเที่ยวแนวนี้กัน และอยากให้หยกจัดทริปพาเที่ยว” ในที่สุด หยกได้จัดทัวร์พาเที่ยวแล้วนะคะ เย้ๆๆ หยกเลยถือโอกาสนี้ ทำโพสต์ถึงเหตุผลที่หยกจัดทริป ทำไมทัวร์ของหยกจึงแตกต่าง และ ทำไมต้องมาเที่ยวกับหยก? มาไว้ที่นี้ค่ะ มาร่วมทริปร่วมสนุกด้วยกันนะคะ
แต่ก่อนจะไปขึ้น ยอดเขาเทวดา ที่ อุทยานแห่งชาติพุเตย หยกมีลิสต์ของอุทยานแห่งชาติที่หยกไปเยือนมา โดยเพื่อนๆ ชาวสนุกเที่ยวสามารถคลิ๊กอ่านรายละเอียดการท่องเที่ยวเพิ่มเติม ที่ตัวหนังสือสีส้มๆ ตามสถานที่ต่อไปนี้ ได้เลยนะคะ เริ่มจาก จ.กาญจนบุรี ก่อนเลย ข้อมูลครบถ้วนกับการไปปีน สันหนอกวัว ที่ อุทยานแห่งชาติเขาแหลม เปิด – ปิด ช่วงไหน ต้องจอง ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง, หรือ จะไปศึกษาทางเดินธรรมชาติ ชมความมหัศจรรย์ของถ้ำ ที่มีน้ำไหลลอดผ่านถ้ำที่ อุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์ (ถ้ำธารลอด), หรือ อยากไปขึ้นเหนือ ไปชมรอยต่อระหว่างประเทศไทย กับ ประเทศพม่า ผ่านแม่น้ำสาละวินที่ อุทยานแห่งชาติสาละวิน จ.แม่ฮ่องสอน, หรือ ไปนอนกางเต็นท์ริมน้ำ กินบรรยากาศชิวๆ ที่ อุทยานแห่งชาติออบหลวง จ.เชียงใหม่, หรือ เลือกไปเดินชมความงาม ของ ผาช่อ ที่ อุทยานแห่งชาติแม่วาง ที่ไม่ไกลจากตัวเมืองเชียงใหม่นัก, หรือ อยากลุยหน่อย ก็ไปเทรคกิ้ง + แค้มปิ้ง 3 – 4 วัน ที่ ดอยลังกาหลวง – ดอยลังกาน้อย อุทยานแห่งชาติขุนแจ จ.เชียงราย, หรือ พลาดไม่ได้ กับการไปนอนดูดาว ที่เสมอกับดอย ที่ ดอยเสมอดาว ใน อุทยานแห่งชาติศรีน่าน จ.น่าน, หรือ จะไปเที่ยวอีสาน เดินฟินๆ ที่ ทุ่งดอกกระเจียวที่ อุทยานแห่งชาติไทรทอง จ.ชัยภูมิ หรือ จะลงใต้ไปเล่นน้ำทะเล บน เกาะสวรรค์ เกาะตะรุเตา ใน อุทยานแห่งชาติตะรุเตา จ.สตูล เลือกเที่ยวได้ตามใจชอบเลยนะคะ
มองหาทริปลุยๆ มันส์ๆ + ไกด์หญิงคนไทย ? เนปาล? ทาจิกิสถาน? คีร์กีซสถาน? จอร์แดน? ศรีลังกา?
หยกจัดทริปแล้วค่ะ ปี 2565 สนใจทริปไหน คลิ๊กอ่านเพิ่มเติมที่ภาพได้เลยค่ะ ไปผจญภัยกัน!
ทีนี้ก็มาเตรียมตัว เตรียมลุย กับ การขึ้น ยอดเขาเทวดา กันได้เลยค่ะ
1. จะไปขึ้น ยอดเขาเทวดา ต้องไปที่ใด, ต้องค้างคืนที่หน่วยไหน, จุดเริ่มเดินอยู่ไกลจากลานกางเต็นท์ไหม, เดินนานไหมน้า แล้วต้องเริ่มเดินกี่โมงดี
1.1) จะไปขึ้นยอดเขาเทวดา ต้องไปที่ใด

ยอดเขาเทวดา เป็นยอดเขาที่สูงที่สุดใน จังหวัดสุพรรณบุรี โดยสูง 1,123 เมตรเหนือระดับทะเล ซึ่งอยู่ในอุทยานแห่งชาติพุเตย ในเขตของหน่วยย่อยที่ชื่อ หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติพุเตยที่ 3 (ตะเพินคี่) ค่ะ ซึ่งหน่วยนี้อยู่สูง 802 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ซึ่งอยู่ห่างจากอุทยานแห่งชาติพุเตย (หน่วยหลัก) ประมาณ 23 กิโลเมตร
1.2) ข้อควรรู้ และ การเดินทางไป หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติพุเตยที่ 3 (ตะเพินคี่) เพื่อค้างคืน เตรียมขึ้นยอดเขาเทวดา
โปรดอย่าเข้าใจผิดว่า สามารถขึ้นยอดเขาเทวดาได้จาก อุทยานแห่งชาติพุเตย (หน่วยหลัก) นะคะ ต้องไปค้างคืนที่ หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติพุเตยที่ 3 (ตะเพินคี่) โดยหน่วยนี้ อยู่ห่างจาก อุทยานแห่งชาติพุเตย (หน่วยหลัก) ประมาณ 23 กิโลเมตร ซึ่งทาง 10 กิโลเมตรแรก เป็นถนนดำ อีก 13 กิโลเมตรหลัง เป็นถนนดินลูกรัง ทางค่อนข้างชัน และมีทางโค้งบ้างนะคะ พาหนะที่ใช้ในการเดินทางจึงต้องเป็นรถที่มีท้องรถสูง แนะนำเป็นรถกระบะ, รถโฟร์วีล หรือ มอเตอร์ไซค์ ค่ะ โดยสามารถใช้บริการรถจาก อุทยานแห่งชาติพุเตย (หน่วยหลัก) ได้ ราคาไป – กลับ ประมาณ 2,000 บาทค่ะ
1.3) จุดเริ่มเดินขึ้น ยอดเขาเทวดา

ยอดเขาเทวดา อยู่ห่างจาก ลานกางเต็นท์ ใน หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติพุเตยที่ 3 (ตะเพินคี่) ประมาณ 1 กิโลเมตร ค่ะ โดย 200 เมตรแรก เป็นทางดินลูกรังแบบทางเดินราบๆ (สามารถเดิน หรือ ขับรถไปก็ได้ค่ะ) จากนั้นก็เดินขึ้นเขาชันๆ ที่ทางเดินเป็นขั้นบันได และมีเชือกให้จับ อีกประมาณ 800 เมตร ค่ะ
1.4) เดินนานไหมน้า แล้วต้องเริ่มเดินขึ้น ยอดเขาเทวดา กี่โมงดี
หากต้องการจะขึ้น ยอดเขาเทวดา เพื่อชมพระอาทิตย์ขึ้น สมมุติว่าพระอาทิตย์จะขึ้น 06.00 น. ก็ควรเผื่อเวลาสัก 1.5 – 2 ชั่วโมงค่ะ ขึ้นกับสภาพร่างกายของแต่ละคน อาจต้องเริ่มเดินในช่วงระหว่างเวลา 04.00 น. – 04.30 น. โดยตัวหยกเองเดินขึ้นตอนสว่าง (ไม่ได้ขึ้น ยอดเขาเทวดา เพื่อชมพระอาทิตย์ขึ้น) ใช้เวลาเดิน จากลานกางเต็นท์ ไปถึง ยอดเขาเทวดา ประมาณ 1 ชั่วโมงค่ะ อย่าลืมเลื่อนไปอ่านเรื่องราวมันส์ๆ สนุกๆ ระหว่างการเดินขึ้น ยอดเขาเทวดา ของหยกที่ข้อ 5 ด้านล่างด้วยนะคะ
2. ค่าใช้จ่ายเพื่อขึ้น ยอดเขาเทวดา และ ช่วงเปิด – ปิด ของ หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติพุเตยที่ 3 (ตะเพินคี่) และ ยอดเขาเทวดา
ไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมสำหรับการขึ้น ยอดเขาเทวดา นะคะ มีแต่ค่าธรรมเนียมเข้า อุทยานแห่งชาติพุเตย, ค่าเต็นท์, ค่ากางเต็นท์ และ ค่ายานพาหนะ ค่ะ
ยอดเขาเทวดา เปิดให้ขึ้นตลอดปีนะคะ แต่ไม่แนะนำให้มาช่วงเดือนเมษายนค่ะ เพราะอากาศจะร้อนมาก
3. ไปขึ้น ยอดเขาเทวดา ทำไมเนี่ย มีอะไรให้ชม ให้ฟิน ทางเดินขึ้นเป็นแบบไหน แล้วด้านบนมีอะไร
ไปยอดเขาเทวดากันทำไม
อุทยานแห่งชาติพุเตย เป็นที่รู้จักกันกับการขึ้น ยอดเขาเทวดา ดังนั้น ใครๆ ที่มาเที่ยวที่นี่ ก็มักจะมาขึ้น ยอดเขาเทวดา ในช่วงฤดูหนาว เพื่อชมพระอาทิตย์ขึ้น ชมทะเลหมอก ชมวิวภูเขาหลายๆ ลูก ไกลๆ สุดลูกหูลูกตา วิวหมู่บ้าน ดีไม่ดีได้ชมทางช้างเผือกด้วย แต่เสียดายที่หยกมาเที่ยวที่ อุทยานแห่งชาติพุเตย ผิดช่วงไปหน่อยค่ะ คือมาตอนปลายหนาวแล้ว ทะเลหมอกจึงไม่มีให้เห็น ฟ้าจึงไม่ใสอย่างที่ควร วิวภูเขาซ้อนๆ กันไกลๆ ก็มองไม่เห็น เพราะชาวบ้านเริ่มเผาไร่อ้อย เผาไร่ข้าวโพด เพื่อให้ง่ายต่อการตัดขาย จึงทำให้ทะเลหมอกที่ควรจะเห็น กลายเป็น ทะเลหมอกควัน หมอกฝุ่นละอองจากการเผาแทน วิวภูเขาสลับซับซ้อนหลายๆ ลูก ที่ควรจะเห็น จึงกลายเป็นเห็นภูเขา 2 – 3 ลูกแรก แล้วก็พื้นหลังขาวจั๊วแทน

สามารถมาเที่ยวที่ อุทยานแห่งชาติพุเตย และมาขึ้น ยอดเขาเทวดา ได้ตลอดเลยปีนะคะ หากมาเที่ยวในฤดูอื่นๆ ที่ไม่ใช่ฤดูหนาว ก็มาเพื่อชมพระอาทิตย์ขึ้น, ชมวิวธรรมชาติ วิวหมู่บ้านจากยอดเขาที่สูงที่สุดในสุพรรณบุรี และ ชมดวงดาวที่เต็มท้องฟ้า หากมาถูกช่วงก็จะได้ชมทางช้างเผือกด้วยค่ะ
ลักษณะทางเดิน ระหว่างการขึ้น ยอดเขาเทวดา

ทางเดินขึ้น ยอดเขาเทวดา เดินไม่ยากนะคะ ระยะทางสั้นๆ แค่ 800 เมตรเอง ทางเดินเป็นขั้นบันไดค่ะ ไม่ลื่น ชันบ้าง แต่จะชันมากขึ้นตอนใกล้ๆ จะถึง ยอดเขาเทวดา ค่ะ แต่ก็มีเชือกให้จับในช่วงทางเดินที่ชันๆ นะคะ และ ก็มีจุดนั่งพักประมาณ 5 – 6 จุดเห็นจะได้ค่ะ โดยอยู่ห่างกันทุกๆ การเดิน 6 – 15 นาทีเลยค่ะ หากมี ไม้เท้าเดินป่า ก็แนะนำให้พกไปก็ดีค่ะ จะได้เดินคล่องขึ้น ซึ่งสามารถคลิ๊กอ่านประโยชน์ ส่วนประกอบ และวิธีการใช้ไม้เท้าเดินป่าได้ที่ลิ้งค์ตัวหนังสือสีส้มนะคะ

ด้านบน ยอดเขาเทวดา มีอะไร
ด้านบนเป็นพื้นที่เล็กๆ ยาวๆ ค่ะ มีเจดีย์เล็กๆ และ พระพุทธรูป ไว้สักการะ เอาฤกษ์เอาชัยเมื่อขึ้นไปถึงแล้ว, มีโต๊ะ + เก้าอี้ไม้ไผ่ ใต้ร่มไม้ ไว้นั่งพักเหนื่อย และ รับลมเย็นๆ และ ก็มีจุดชมวิวเป็นทำจากไม้ไผ่เป็นลานกว้างๆ ยื่นออกไปสวยเชียวค่ะ

จดทะเบียนสมรสบนฟ้า
ซึ่งพึ่งจะมาทราบทีหลังว่า พี่ๆ เจ้าหน้าที่พึ่งปรับปรุงด้านบน ไม่ว่าจะเป็น โต๊ะ + เก้าอี้ไม้ไผ่, ลานไม้ไผ่ พร้อมทั้งป้าย ยอดเขาเทวดา ป้ายใหม่ ไม่กี่วัน ก่อนที่หยกจะขึ้นไปนี่เอง เพื่อต้อนรับหยก อ้าว ไม่ใช่ เพื่อต้อนรับคนที่ขึ้นไปร่วม พิธีการจดทะเบียนสมรส บน ยอดเขาเทวดา ในเช้ามืดของวันวาเลนไทน์ อะไรจะโรแมนติกขนาดนั้น ซึ่งปีนี้จัดโครงการนี้ขึ้นมาเป็นปีแรก

4. สิ่งอำนวยความสะดวก และ ค่าใช้จ่าย ใน หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติพุเตยที่ 3 (ตะเพินคี่) ไม่ว่าจะเป็น บ้านพัก ลานกางเต็นท์ ห้องน้ำ ไฟฟ้า ร้านอาหาร ร้านค้าสวัสดิการ และ สัญญาณโทรศัพท์
4.1) บ้านพัก ราคาเท่าไหร่
ที่หน่วยนี้ ไม่มีบ้านพักให้บริการนะคะ นอนเต็นท์อย่างเดียวเลยค่ะ
4.2) ลานกางเต็นท์อยู่ตรงไหน ราคาเช่าเต็นท์เท่าไหร่ และ มีอุปกรณ์อะไรให้เช่าบ้าง

ลานกางเต็นท์ที่นี่ เป็นลานยาวๆ อยู่ตรงทางเข้าเลยค่ะ
ด้านบนมีเต็นท์ให้เช่าด้วยนะคะ ราคา 250 บาท ต่อคืน นอนได้ 2 – 3 คน ค่ะ ราคานี้รวมเซ็ทเครื่องนอน ซึ่งประกอบไปด้วย หมอน, ที่รองนอน และ ถุงนอน ไว้แล้วค่ะ
4.3) ห้องน้ำ ห้องอาบน้ำ อยู่บริเวณไหน เป็นยังไง

ห้องน้ำ และ ห้องอาบน้ำ เป็นแบบรวมชาย – หญิง มีบริเวณที่ปัสสาวะของคุณผู้ชายอยู่ด้านข้างด้วยค่ะ ซึ่งบริเวณห้องอาบน้ำนี้อยู่ในบริเวณลานกางเต็นท์เลยนะคะ โดยมีรั้วไม้ไผ่กั้นไว้ระหว่างบริเวณห้องน้ำ และ ลานกางเต็นท์ ซึ่งห้องอาบน้ำที่นี่เป็นแบบตักอาบนะคะ และมีอยู่ทั้งหมด 4 ห้องค่ะ
4.4) มีไฟฟ้าใช้ไหม เปิด-ปิดกี่โมง แล้วปลั๊กไฟล่ะ มีให้บริการหรือเปล่า

ที่นี่มีไฟฟ้าตลอดเวลาค่ะ โดยใช้ไฟฟ้าจาก โซล่าเซลล์ (solar cell) โดยจะมีไฟฟ้าเฉพาะบริเวณหน้าห้องน้ำ, ในห้องน้ำทุกห้อง และบริเวณร้านค้าสวัสดิการ ส่วนปลั๊กไฟนี่ไม่ได้มีไว้ให้บริการนะคะ
4.5) ร้านอาหาร และ ร้านค้าสวัสดิการล่ะ อยู่บริเวณไหน แล้วเปิด – ปิดกี่โมง


บนนี้ไม่มีร้านอาหารนะคะ ส่วนร้านค้าสวัสดิการนั้น เปิดให้บริการทุกวัน ตลอดปี ตั้งแต่ 06.00 น. – 20.00 น. ไม่มีวันหยุดค่ะ ไม่มีนักท่องเที่ยว ก็เปิดค่ะ พี่คนขายบอกมา ของขายช่วงที่หยกไป ก็มีพวกเครื่องปรุงที่จำเป็นๆ สำหรับการทำกับข้าว, ทิชชู่, ของใช้จำเป็นในห้องน้ำ, บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป, น้ำดื่มขวดเล็ก และไข่ไก่ ค่ะ

บนนี้ยังมีบริเวณที่เป็นโต๊ะไม้ไผ่ 5 – 7 โต๊ะ ไว้ให้ใช้บริการด้วยนะคะ โดยอยู่บริเวณด้านหน้าๆ ตรงทางขึ้นลานกางเต็นท์ด้านซ้ายมือค่ะ เสียดายที่ไม่ได้ถ่ายรูปมาให้ดู
4.6) สัญญาณโทรศัพท์ มีไหมน้า
ตายสนิทค่ะ ไม่มีทั้งสัญญาณโทรศัพท์ และ สัญญาณอินเตอร์เนตระบบใดๆ ทั้งสิ้น
5. นอกจาก ยอดเขาเทวดา แล้ว ที่ หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติพุเตยที่ 3 (ตะเพินคี่) มีอะไรให้ทำ หรือ ที่เที่ยวที่อื่นอีกไหม
5.1) ดาวเต็มฟ้า และ ทางช้างเผือก
หากโชคดี ท้องฟ้าโปร่ง จะได้เห็นดาวเต็มๆ จนล้นขอบท้องฟ้าเลยค่ะ และอาจโชคดีขั้นสอง หากไปถูกช่วงที่มีทางช้างเผือก ซึ่งคุณอาจจะมองเห็นไม่ชัดด้วยตาเปล่า แต่สามารถมองเห็นได้จากในภาพถ่าย ตั้งกล้องถ่ายดีๆ ถ่ายเป็นไฟล์ raw ก็จะดีกว่าค่ะ สามารถเก็บข้อมูลได้เยอะกว่า
5.2) จุดชมวิว 2 จุด ระหว่างทางขึ้น หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติพุเตยที่ 3 (ตะเพินคี่)


เป็นจุดชมวิว ก่อนถึง หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติพุเตยที่ 3 (ตะเพินคี่) ประมาณ 1 -2 กิโลเมตรค่ะ โดยสองจุดนี้ อยู่ใกล้ๆ กัน เหมาะสำหรับการชมพระอาทิตย์ตกนะคะ
5.3) น้ำตกตะเพินคี่น้อย

โดยอยู่ระหว่าง ลานกางเต็นท์ กับ ทางไปขึ้น ยอดเขาเทวดา ค่ะ เดินเข้าไปนิดเดียวจากป้ายบอกทางเข้า น้ำตกตะเพินคี่น้อย ก็ถึงตัวน้ำตกแล้วค่ะ
5.4) น้ำตกตะเพินคี่ใหญ่

น้ำตกตะเพินคี่ใหญ่ นั้น อยู่ระหว่างทางขึ้นไป หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติพุเตยที่ 3 (ตะเพินคี่) ค่ะ โดยอยู่ห่างกัน 6.5 กิโลเมตร
5.5) ทางเดินศึกษาธรรมชาติ น้ำตกตะเพินคี่ใหญ่ – น้ำตกตะเพินคี่น้อย
ทางเดินศึกษาธรรมชาติเส้นนี้ เดินเองไม่ได้นะคะ ต้องอาศัยพี่เจ้าหน้าที่ประจำอุทยานฯ นำทาง เพราะเส้นทางไม่ชัดเจน อาจหลงป่าได้ค่ะ หากใครสนใจจะเดินเส้นทางนี้ จะต้องทำการติดต่อกับทาง อุทยานฯ ล่วงหน้า เพื่อจัดหาเจ้าหน้าที่เดินนำทางนะคะ
5.6) ถ้ำตะเพินเงิน และ ถ้ำตะเพินทอง
ถ้ำตะเพินเงิน และ ถ้ำตะเพินทอง นี้ อยู่เลย หมู่บ้านกระเหรี่ยงตะเพินคี่ไปค่ะ พี่เจ้าหน้าที่บอกว่าข้างในถ้ำค่อนข้างมืด ใครจะไปให้เตรียมไฟฉายไปด้วยนะคะ

5.7) หมู่บ้านกะเหรี่ยงตะเพินคี่
หมู่บ้านกะเหรี่ยงตะเพินคี่ ตั้งอยู่บนที่ราบสูงของสันเขาเทวดานะคะ อากาศที่นี่จะหนาวเย็นตลอดทั้งปีค่ะ หากต้องการมาเที่ยว มาชมวิถีความเป็นอยู่ของชาวกะเหรี่ยง ก็แวะมาที่นี่ได้เลยค่ะ
6. เรื่องเล่ามันส์ๆ, ใช้เวลาเดินนานแค่ไหน, ทริค, ข้อควรรู้ และ ข้อควรระวัง ระหว่างการเดินขึ้น ยอดเขาเทวดา และ การแค้มป์ปิ้ง ที่ หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติพุเตยที่ 3 (ตะเพินคี่)
กางเต็นท์กลางแดด

ลานกางเต็นท์ที่ หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติพุเตยที่ 3 (ตะเพินคี่) เป็นลานกว้าง แบบไม่มีร่มไม้ใดๆ หากจะมีก็แค่บริเวณเดียว คือ ตรงกลาง คือ หน้าห้องน้ำ หยั่งใจคิดสักครู่นึง
“เราจะอยู่ในเต็นท์ตอนกลางวันเหรอ?” คำตอบที่ได้ คือ “ไม่อย่างแน่นอน”
จึงเลือกบริเวณที่คิดว่า สะดวกสบาย และ วิวดีที่สุด คือ
- พื้นราบเรียบที่สุด และ ไม่ขรุขระ นอนแล้วไม่ลาดเทไปข้างใดข้างหนึ่ง
- อยู่ใกล้โต๊ะ ก็แม้ เราต้องทำกับข้าวทานเองนี่นา แล้วพี่ๆ เจ้าหน้าที่ก็เตือนเรื่องน้องหมา ชอบจะมาช่วยทานอาหาร งั้นขอเลือกทำอาหาร และทานอาหารบนโต๊ะ ก็ดูท่าจะดีกว่านะ
- วิวสวย ทำไมนะเหรอ? อืมมม ไม่มีเหตุผลสนับสนุนสำหรับข้อนี้แหะ แค่คำว่าวิวสวย ก็น่าจะตรงความหมายสุดๆแล้วเนอะ

น้ำเย็นเจี๊ยบบบบบ อาบ? ไม่อาบ?
พระอาทิตย์ยังไม่ทันจะตกดินเลยค่ะ ก็เหมือนมีพรายกระซิบว่าควรจะรีบอาบน้ำ แล้วก็รู้สึกว่าตัดสินใจถูกสุดๆ ไม่งั้นคืนนี้อาจมีสิทธิ์ได้ซักแห้งเป็นแน่ ก็น้ำเย็นมากๆ ขนาดอาบตอนห้าโมงเย็นนะคะนั่น ยังเล่นเอาอาบน้ำไปกัดฟันไปเลย ตัวนี่ก็สั่นหงิกๆ เชียวค่ะ แต่พออาบเสร็จนะ คือ สบายตัว กะปรี้กะเปร่า และ สดชื่นสุดๆ เลย จากนี้ไปอีก 3 คืน ก็เลยอาบน้ำก่อนห้าโมงเย็นทุกวันเลยค่ะ
ไข่แตก
ก่อนขึ้นไปที่ หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติพุเตยที่ 3 (ตะเพินคี่) หยกก็ถามพี่เจ้าหน้าที่เรื่องอาหารการกิน ก็ได้ความว่า ด้านบนนั้น ไม่มีร้านอาหาร ส่วนร้านค้าสวัสดิการนั้น ก็ขายเฉพาะช่วงวันหยุดเทศกาลเท่านั้น (ซึ่งไม่จริงนะคะ ดูข้อมูลตามข้อ 4 ด้านบนเลยค่ะ) หยกจึงต้องขนเสบียงมาเอง จะขนเนื้อสัตว์ใส่กระเป๋าแบ็คแพ็ค ก็ดูจะไม่ใช่ จึงเสี่ยงดวงขนไข่ไปด้วย 6 ฟองค่ะ จริงๆ คือน่าจะรู้อยู่แล้วว่าไม่รอดแน่ แล้วก็จริงค่ะ แตกทั้ง 6 ฟองเลย เหอๆ โชคดีนะที่ใส่กล่อง ใส่ถุงแบบแน่นหนา ไม่งั้นคือไม่อยากจะคิดเลย ว่าข้าวของในกระเป๋าจะเละผสมไข่มากแค่ไหน เลยกลายเป็นเรื่องฮาไปค่ะ
ทุกๆ ความโชคร้าย มักจะมีความโชคดีแฝงอยู่
โชคดีที่ หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติพุเตยที่ 3 (ตะเพินคี่) มีร้านค้าสวัสดิการ และมีไข่ขายเพียบเลยค่ะ จึงไม่อดตาย ไม่ต้องฝากท้องกับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป หยกไม่ใช่แฟนบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เป็นไปได้ขอหลีกเลี่ยง ไม่อร่อย ที่สำคัญคือกินยังไงก็ไม่อิ่ม 55+ จึงซื้อผักหลายๆ ชนิด ทำการล้างเรียบร้อย ตั้งแต่ อุทยานแห่งชาติพุเตย (หน่วยหลัก) พร้อมกับซื้อเส้นก๋วยเตี๋ยว แล้วก็ต้มมันทุกอย่างรวมกัน ใส่ไข่ด้วย เสร็จแล้วก็ปรุงพริก บีบมะนาว โอ้โหห มันช่างอร่อย ช่างฟิน ช่างอิ่ม และ อุ่น เหมาะกับอากาศหนาวๆ ของยามค่ำคืนแบบนี้จริงๆ
ถึงกลางวันอากาศจะร้อนมาก แต่กลางคืนก็หนาวมากเช่นกัน

วันนี้เหนื่อยจากการเดินทางมาทั้งวัน จะให้ตื่นแต่เช้ามืดเพื่อเดินขึ้น ยอดเขาเทวดา นั้น หยกยังไม่พร้อม คือทริปนี้กะชิวสุดๆ อยู่จนหนำใจแล้วค่อยกลับ ไม่รีบร้อน คืนนี้จึงขอนอนหลับสบายๆ ก่อนละกัน ช่วงกลางคืนอากาศหนาวค่ะ ลมด้วย อุณหภูมิต่ำสุดของช่วงเกือบๆ กลางกุมภาพันธ์ประมาณ 15 องศาเซสเซียสค่ะ แต่หยกเตรียมอุปกรณ์มาอย่างพร้อม ทั้งถุงนอน ทั้งไลเนอร์ นอนนิ่ง หลับสบายถึงสว่างเลยค่ะ
ชิวๆ ขี้เกียจๆ ท่ามกลางธรรมชาติอันบริสุทธิ์
วันนี้วางแผนว่าจะไม่ทำกิจกรรมใดๆ จึงหาทำเลร่มๆ ใต้ร่มไม้เท่าที่จะหาได้ แล้วเอาเบาะรองนอนออกมานอนอ่านหนังสือ นอนทำงานชิวๆ โอ้ มันฟินสุดๆ เลยค่ะ ถึงแม้ว่าตอนกลางวันอากาศนี่ร้อนสุดๆ แต่พอเข้าร่มปุ๊ป ก็เย็นปั๊ปเลยค่ะ น่าประหลาดใจมากๆ นอนเพลินๆ สบายๆ ย้ายที่ตามเงาไม้ไปเรื่อยๆ ฟังเสียงลม เสียงนก เสียงต้นไม้ใบไม้กระทบกัน ธรรมชาติสุดๆ อีกทั้งยังมีน้องหมา มานอนกลิ้งข้างๆ เป็นเพื่อนอีกด้วย

จากลานกางเต็นท์ ไป จุดเริ่มเดินขึ้น ยอดเขาเทวดา

และแล้วเวลาแห่งความสุขก็ผ่านไปอย่างรวดเร็ว แปปๆ ก็สี่โมงเย็นแล้ว จึงรีบอาบน้ำ แล้วก็ออกไปสำรวจเส้นทาง เพื่อกะเวลา เตรียมเดินขึ้น ยอดเขาเทวดา ในวันพรุ่งนี้ค่ะ จะได้ไปทันดูพระอาทิตย์ขึ้นไง ทางเดินไปจุดเริ่มเดินค่อนข้างงงเลยทีเดียวค่ะ ดีนะที่มาสำรวจเส้นทางก่อน ไม่งั้นพรุ่งนี้มีหลงเป็นแน่
คือเดินออกจากลานจอดรถ แล้วก็เลี้ยวขวาไปตามทางดินลูกรัง แล้วก็เดินผ่านบ้านคน เดินไปเรื่อยๆ ก็จะเจอป้ายให้เลี้ยวขวา จากนั้นก็จะเจอป้าย ซ้ายไป ยอดเขาเทวดา ขวาไป น้ำตกตะเพินคี่น้อย เดินไปเรื่อยๆ ก็จะไปโผล่กลางไร่ยางพาราค่ะ เลยพึ่งจะรู้ว่าใบต้นยางพารานี้เปลี่ยนสีได้ สวยเหมือนกันแหะ เดินไปก็เพลินดีค่ะ


จากนั้นก็ไปโผล่ไร่มันสำปะหลัง ทีนี้ชักจะไม่แน่ใจละว่ามาถูกทางไหม ป้ายก็ไม่มีบอก คนก็ไม่มีให้ถาม แต่ก็เดินไปเรื่อยๆ แล้วก็เดินผ่านสำนักสงฆ์ค่ะ (จำชื่อไม่ได้) ซึ่งยังอยู่ในบริเวณไร่มันสำปะหลังอยู่ สักพักก็เจอคนกำลังขุดมัน จึงสอบถามทางสักหน่อย จริงๆ มันก็มีทางเดินทางเดียวอ่ะนะ แต่ก็ถามเพื่อความมั่นใจไปงั้นเองค่ะ

เดินไปเรื่อยๆ ก็เพลินดีค่ะ สวยดีด้วย ล้อมรอบไปด้วยภูเขา และไร่ต่างๆ โดยมีอะไรให้ชมตลอดทาง แล้วก็โผล่ไร้สัปปะรด คือไม่เคยรู้เลยว่า สุพรรณบุรี ปลูกสัปปะรดเยอะขนาดนี้ สวยดีค่ะ ลูกโตๆ น่ากินสุดๆ เลย คงต้องหาซื้อสัปปะรดสดๆ จากไร่ ไปลองทานแล้วล่ะค่ะ
ขอบคุณที่ปวด (เบา) เข้าห้องน้ำ
คืนนี้เลยจัดการแพ๊คกระเป๋า เตรียมเสบียงให้เรียบร้อย พร้อมสำหรับการขึ้นยอดเขาเทวดา เข้านอนแต่หัววัน แต่ดันมาปวดเข้าห้องน้ำ ตอนตี 3 น่ะสิ ข้างนอกก็ทั้งลมทั้งหนาว พยายามจะข่มตาหลับ แล้วค่อยลุกทีเดียวตอนจะไปขึ้น ยอดเขาเทวดา แต่ก็อดต่อไปไม่ไหวแล้วค่ะ สักตี 3 ครึ่งก็ต้องค่อยๆ ลากตัวเองออกมาจากถุงนอน แต่ก็เกือบวิ่งไปเข้าห้องน้ำแทบไม่ทัน
หลังจากทำธุระเสร็จ ก็เหลือบมองรอบๆ พอสายตาเริ่มชินกับความมืด เฮ้ย ทำไมมันไม่มืดสักเท่าไหร่เลยแหะ เมื่อเงยหน้ามองฟ้าเท่านั้นแหละ คือดาวนี่วิบวับๆ เต็มท้องฟ้าเลยค่ะ

อยากเก็บเธอไว้ทั้งสองคน ยอดเขาเทวดา กับ ทางช้างเผือก
ตั้งกล้องกดชัตเตอร์รัวๆ แล้วก็เช็คภาพ ก็เหมือนจะเห็นก้อนๆ สองก้อนยาวคล้ายๆ ทางช้างเผือก ตื่นเต้นใหญ่เลยค่ะ นี่คือครั้งแรกเลยนะคะที่ได้เห็น และได้ถ่ายรูปทางช้างเผือก ถึงแม้จะถ่ายมาเป็นร้อย แต่ใช้ได้แค่ไม่กี่ใบก็ตาม เพลินมาก จนพระอาทิตย์ขึ้น วันนี้เลยอดไปชมพระอาทิตย์ขึ้น บน ยอดเขาเทวดา สินะ
เจอทางลัด

การขึ้น ยอดเขาเทวดา ซึ่งควรจะเป็นจุดประสงค์หลัก จึงถูกเลื่อนออกไปอีกครั้ง วันนี้หยกจึงเลือกที่จะเดินเล่นไปเรื่อยๆ ชมไร่ข้าวโพดเดินเพลินๆ เดินไปเรื่อยๆ เดินไปเดินมาก็เจอทางลัดไป น้ำตกตะเพินคี่น้อย ซึ่งทางนี้ก็ไป ยอดเขาเทวดา ได้เช่นกัน เป็นทางที่สั้นกว่าทางที่ไปสำรวจมาเมื่อวานมากด้วย

น้ำตกตะเพินคี่น้อย


จากปากทางเข้า น้ำตกตะเพินคี่น้อย เดินอีกแค่ไม่ถึง 200 เมตร ก็ถึงตัว น้ำตกตะเพินคี่น้อย แล้วค่ะ ทางเดินก็ง่าย มีแค่ทางเดินช่วงสั้นๆ ช่วงหนึ่งที่ชันสักหน่อยเท่านั้นเองค่ะ คำพูดที่ว่า “ที่ไหนที่มีน้ำ ที่นั่นมักจะเย็น และอุดมสมบูรณ์เสมอ” มันคงจะจริงสินะ ก็ในนี้ทั้งเย็น ลมพัดสบาย เสียงนกร้องมากมาย ผีเสื้อบินไปมาขวักไขว่ ชอบมากๆ เลยค่ะ
เงิบ
แล้วก็เหมือนเดจาวู คืนนี้หยกก็มานั่งเตรียมของเพื่อไปขึ้น ยอดเขาเทวดา อีกแล้วค่ะ 55+ ซึ่งแอบหวังนิดๆ ว่าจะได้เห็นทางช้างเผือกอีก (จะเป็นไปได้ไหมนี่) แล้วตี 4 ก็สะดุ้งตื่นขึ้นมา สิ่งแรกที่ทำคือ โผล่ศีรษะออกมานอกเต็นท์ ซึ่งสิ่งที่เห็นนั่น ทำให้ช็อคมาก จนต้องขยี้ตาแล้วขยี้ตาอีก คือเมฆค่ะ เมฆหนาเชียว ไม่เห็นดาวสักดวง พระจันทร์ก็ไม่เห็น แล้วอย่างนี้จะเห็นพระอาทิตย์ขึ้นไหมเนี่ย

ตีสี่ครึ่ง ก็โผล่ออกมาดูอีก ตีห้าอีกสักที ไม่มีหวังแน่แล้ว นอนต่อเลยแล้วกัน แล้วก็จริงๆ ค่ะ ขนาดหกโมงนิดๆ ยังไม่เห็นแสงอาทิตย์เลยค่ะ มีแค่แสงสว่างผ่านเมฆหนาๆ แค่นั้นเอง ก็เลยแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการไปขึ้น ยอดเขาเทวดา สายๆ หน่อย สัก 7 – 8 โมง ละกัน ดีซะอีก ไม่มืด มองเห็นทางเดินด้วย คงจะเดินง่ายกว่าเดินตอนมืดๆ เป็นแน่
ในที่สุด

กว่าจะได้ฤกษ์เริ่มเดินขึ้น ยอดเขาเทวดา ก็ปาไปแปดโมงเช้าของวันที่สามของการมาแค้มป์ปิ้งที่นี่แล้ว บางทีก็คิดว่าตัวเองชิวไปนะ ไปทางลัดเลยค่ะ เดินชิวๆ เพลินๆ 18 นาที ก็ถึงจุดเริ่มเดินขึ้น ยอดเขาเทวดา แล้วค่ะ

ขอเลือกได้ไหม
ทางเดินขึ้น ยอดเขาเทวดา เป็นขั้นบันได เดินง่ายค่ะ ไม่ลื่น แต่เหนื่อยหอบไม่เบา ยิ่งตอนที่เกินครึ่งทางไปแล้วนั้น ทางนี้ชันเชียวค่ะ จนหลายๆ ครั้ง ก็คิดว่า ถ้าเลือกได้ จะเลือกเดินทางเดินแบบมีบันไดแบบนี้ หรือ เดินเองตามทางชันๆ เหยียบเกาะไปตามก้อนหิน ตามรากต้นไม้ เกาะเชือก ไต่เชือกไปเรื่อยๆ ดีนะ ส่วนตัวแล้ว หยกชอบอย่างหลังมากกว่า เดินสนุก เหนื่อยหอบน้อยกว่า ไม่ทรมานน้องหัวเข่า ใครที่ไฮกิ้งบ่อยๆ คงจะเข้าใจดี


ขาขึ้น ยอดเขาเทวดา (จากตีนเขา) หยกใช้เวลา 45 นาที ค่ะ ก็เล่นหยุดพักหอบทุกจุดพักเลยน่ะสิ ส่วนขาลง หยกหยุดพักหนึ่งทีค่ะ ใช้เวลา 25 นาที ขาลงนี้เพลินมาก สนุกเชียวค่ะ ถึงข้างล่างโดยไม่รู้ตัวเลย
กองทัพต้องเดินด้วยท้อง

เมื่อขึ้นมาถึงด้านบน สิ่งแรกที่หยกทำ ไม่ใช่ไปดูวิวนะคะ แต่กินค่ะ ก็มันเหนื่อย และ หิวมากๆ หยกพกนมกล่อง ซีเรียล และกล้วยไป คลาสสิกไหมล่ะคะ ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีถั่วต่างๆ และคุ้กกี้อีกด้วย กินเกลี้ยงเลยค่ะ คือถือคติว่า จะได้ไม่ต้องแบกของหนักกลับไง

ช้าไปนิดเดียวเอง


วิวที่เห็นคือความขาว ของ ทะเลหมอกควัน หมอกฝุ่นละออง ที่เกิดจากการเผาไร่อ้อย ไร่ข้าวโพด เพื่อง่ายต่อการเก็บเกี่ยว จึงมองเห็นวิวภูเขา และ หมู่บ้านเบื้องล่างแบบลางๆ ผิดหวังนิดๆ ค่ะ จริงๆ คือ สองวันแรกที่หยกมาถึงนั้น ฟ้าใส แจ่มเชียวค่ะ แต่สองวันหลังนี่สิ ฟ้าขาวจั๊วเลย ครั้งหน้าจะลองมาขึ้น ยอดเขาเทวดา ช่วงหน้าหนาวเพื่อเป็นการแก้ตัวละกัน อ่อ จากมุมนี้ มองเห็นลานกางเต็นท์ด้วยนะคะ
มองหาทริปลุยๆ มันส์ๆ + ไกด์หญิงคนไทย ? เนปาล? ทาจิกิสถาน? คีร์กีซสถาน? จอร์แดน? ศรีลังกา?
หยกจัดทริปแล้วค่ะ ปี 2565 สนใจทริปไหน คลิ๊กอ่านเพิ่มเติมที่ภาพได้เลยค่ะ ไปผจญภัยกัน!
7. การเตรียมพร้อม, สิ่งที่ต้องเตรียม และ ข้อควรรู้ หากจะมาขึ้น ยอดเขาเทวดา และ การแค้มปิ้ง ที่ หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติพุเตยที่ 3 (ตะเพินคี่)
7.1) เตรียมใจตัดขาดจากโลกโซเซียล
ก็เพราะที่นี่ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์เลยยังไงล่ะคะ จริงๆ แล้ว ตัวหยกเองนั้นชอบมากเลยค่ะ เวลาไปเที่ยวแล้วไม่มีสัญญาณโทรศัพท์เนี่ย ทำให้ได้ใช้เวลากับธรรมชาติ, กับตัวเอง และ กับสิ่งที่อยู่รอบๆ ตัว ณ ตอนนั้น แบบเต็มๆ ถือเป็นการผ่อนคลายอย่างดีเยี่ยมเลยนะคะ
7.2) อาหาร, อุปกรณ์การทำอาหาร, อุปกรณ์สำหรับทานอาหาร และ อุปกรณ์ล้างจาน
ก็บนนี้ไม่มีร้านอาหารนี่นา หากไม่อยากจะทานบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบในถ้วยแล้วล่ะก็ ก็ต้องเตรียมอาหาร และ อุปกรณ์มาปรุงเองแล้วล่ะค่ะ
7.3) น้ำดื่ม
หากใครจะไปขึ้น ยอดเขาเทวดา ตอนเช้ามืด ขาลงแดดจะร้อนนะคะ พกน้ำดื่มไปดื่มตอนขาลงด้วย แต่หากใครจะขึ้นช่วงสายๆ ไปแล้ว ก็พกน้ำดื่มเยอะขึ้นหน่อยค่ะ ให้พอทั้งขาขึ้น และขาลง
7.4) ยากันยุง
ยุงที่นี่ตัวโตมาก จะชุมหน่อยในช่วงหัวค่ำ แต่พอดึกๆ หน่อย ก็จะน้อยลงค่ะ สงสัยยุงจะหนาว 55+
7.5) เสื้อกันหนาว
ตรวจสอบสภาพอากาศก่อนมากด้วยนะคะ จะได้จัดเสื้อผ้ามาถูก บางครั้งช่วงกลางวันร้อน แต่อุณหภูมิช่วงกลางคืนอาจจะหนาวได้ค่ะ อีกทั้งบริเวณลานกางเต็นท์ เป็นลานโล่ง ถ้าช่วงที่ลมแรงนี่คือ ลมพัดแบบเต็มๆ ได้นะคะ
7.6) ไฟฉาย หรือ ไฟฉายคาดศีรษะ
ไว้ใช้ในกรณีเดินไปเข้าห้องน้ำ ยามค่ำคืน ถึงแม้จะมีไฟฟ้าก็ตาม เพราะไฟฟ้ามีเฉพาะบริเวณห้องน้ำ และในห้องน้ำค่ะ ไม่ได้มีไฟฟ้าที่บริเวณลานกางเต็นท์ และไว้ใช้ในกรณีเดินขึ้น ยอดเขาเทวดา ในช่วงเช้ามืด หรือ ใข้ในกรณีที่จะไปเที่ยวถ้ำต่างๆ ละแวกนี้ค่ะ
7.7) ระวังน้องหมา(ที่ไม่ดุ)

ถ้าน้องหมาที่นี่ไม่ดุ ไม่น่ากลัว จริงๆ ออกจะเป็นมิตรซะด้วยซ้ำ แล้วต้องระวังอะไรกันเล่า ก็ต้องระวังเรื่องอาหารยังไงล่ะค่ะ โดยอย่าวางอาหาร หรือ ของกินอะไรก็แล้วแต่ ไว้บนพื้น หรือ บนบริเวณที่น้องหมาจะคว้าถึง เพราะอาหารเหล่านั้นอาจจะไปอยู่ในท้องของน้องหมาแทนในท้องของคุณนั่นเอง
7.8) ห้ามก่อกองไฟ
ที่ หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติพุเตยที่ 3 (ตะเพินคี่) ไม่อนุญาตให้ทำการก่อกองไฟบนพื้นนะคะ ให้ใช้เตาถ่าน หรือ เตาแก๊สปิกนิกเท่านั้น ในการทำอาหารค่ะ

8. แนะนำที่พักใกล้ อุทยานแห่งชาติพุเตย (หน่วยหลัก)
หากใครที่กำลังมองหาที่พักระหว่างทางก่อนไป อุทยานแห่งชาติพุเตย (หน่วยหลัก) และทั้งยังเตรียมเสบียงก่อนจะไปแค้มป์ที่หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติพุเตยที่ 3 (ตะเพินคี่) หรือที่พักเหล่านี้หยกหามาเองนะคะ ไม่ได้มีการรับจ้างให้ลงจากทางที่พักแต่อย่างใดค่ะ
8.1) ที่พักใน อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี
ซึ่งที่พักเหล่านี้อยู่ห่างจากอุทยานแห่งชาติพุเตย (หน่วยหลัก) ขับรถประมาณ 1 – 1.5 ชั่วโมงนะคะ
A) กระท่อม ณ. บ้านไร่ (กลางๆ)
ว้าว ที่พักเป็นกระท่อมสมชื่อเลยค่ะ ทั้งทุกกระท่อมยังมีระเบียง มีวิวสวนธรรมชาติเขียวๆ ห้องน้ำก็ตกแต่งสไตล์โบราณๆ สวยเก๋ดีค่ะ ส่วนเตียงนอนนี่ก็มีมุ้งด้วยนะคะ หากใครชอบบรรยากาศการพักแบบธรรมชาติๆ ในกระท่อม ก็แนะนำเลยค่ะ ที่พักสไตล์นี้หายากมากแล้ว ราคาเริ่มต้น 1,000 บาท
B) บ้านสวน รีสอร์ท (กลางๆ)
ที่พักบ้านทรงไทย ที่ให้บรรยากาศจองความเป็น(อุ)ไทย(ทัย)(ธานี) อิอิ มีสวนเขียวๆ สมชื่อบ้านสวนรีสอร์ท ทั้งมีบริเวณที่นั่งเป็นโต๊ะไม้ในศาลาทรงไทย ให้ความรู้สึกที่ผ่อนคลายสบายๆ ไปอีกแบบ ห้องพักราคาเริ่มต้นที่ 1,200 บาท
C) โรงแรมอวตารมิราเคิล (หรูหรา)
หากใครมีงบมากสักหน่อย ก็แนะนำมากๆ เลยค่ะ ที่นี่สวยมาก สิ่งอำนวยความสะดวกก็เพียบ มีทั้งสระว่ายน้ำที่เห็นแล้วอยากจะกระโดดลงสระทันทีเลย ไหนจะมีสปา, ห้องซาวน่า, ห้องอบเกลือบำบัด, อ่างน้ำอุ่น, คาราโอเกะ, ห้องออกกำลังกาย และเล่นโยคะ โอ๊ย เพียบ จนอยากจะพักซะหลายคืนเลยค่ะ จ่ายแบบไหนก็ได้แบบนั้นเนอะ ราคาเริ่มต้นก็จะอยู่ที่ประมาณ 3,000 บาทค่ะ
8.2) กลางเมืองสุพรรณบุรี
ที่พักเหล่านี้อยู่ห่างจาก อุทยานแห่งชาติพุเตย (หน่วยหลัก) ขับรถประมาณ 2 ชั่วโมงนะคะ
A) บ้านตอไม้ รีสอร์ท (ถูก)
รีสอร์ทน่ารักๆ ริมทะเลสาบที่ไม่ไกลจากตัวเมืองมากนัก ทั้งยังมีสวนเขียวๆ ให้ได้เดินเล่นอีกด้วย ตัวอาคารตกแต่งน่ารัก หลากสี ห้องพักสะอาด ตกแต่งเรียบง่าย สามารถเข้าพักได้มากถึง 4 คน ในราคาที่หารเฉลี่ยแล้วถูกเลยแหละค่ะ ราคาเริ่มต้น 790 บาทไม่เพียงเท่านั้นที่นี่ยังมีสวนอาหารที่มีอาหารน่าทานๆทั้งนั้นเลยค่ะ
B) Country Lake View Hotel (ถูก)
แนะนำที่นี่มากๆ บรรยากาศดีสุดๆ นอกจากจะเห็นวิวทะเลสาบ ยังมีพื้นที่กว้างขวาง มีการตกแต่งที่สวยงามลงตัว ทั้งยังมีการนำต้นไม้นานาชนิดมาประดับประดา และยังมีบริเวณนั่งเล่นกลางแจ้ง มีน้ำตกและบ่อเลี้ยงปลาเล็กๆ ให้ได้เพลิน ในส่วนของร้านอาหาร ตั้งอยู่บนทะเลสาบ มีดนตรีสดให้ได้ฟัง บรรยากาศที่ดีอยู่แล้ว เลยยิ่งดีเข้าไปใหญ่ ห้องพักเริ่มต้นที่ 850 บาท
C) ม้วนรีสอร์ท (กลางๆ)
รีสอร์ทที่เต็มไปด้วยธรรมชาติ สวนสวยสีเขียว สะพานไม้สีแดง และจุดถ่ายรูปงามๆ อีกเพียบ ทั้งยังมีวิวของแม่น้ำท่าจีน มีโต๊ะนั่งผ่อนคลายๆ ในสวนริมน้ำ สามารถเลือกพักห้องพักที่มีระเบียงริมน้ำชิวๆ ห้องพักส่วนใหญ่มีหน้าต่างกระจกยาวให้ได้รับแสงธรรมชาติและวิวแม่น้ำท่าจีนเต็มๆ สดชื่นสุดๆ ห้องพักตกแต่งเรียบง่าย เตียงหนานุ่มน่านอนสุดๆ ห้องพักก็ราคาไม่แพงเลยค่ะ เริ่มต้นคืนละ 1,000 บาท
8.3) นอกเมืองสุพรรณบุรี
ที่พักเหล่านี้อยู่ห่างจากตัวเมืองสุพรรณบุรี ขับรถประมาณ 15-40 นาที และ อุทยานแห่งชาติพุเตย (หน่วยหลัก) ประมาณ 2 ชั่วโมงค่ะ
A) Pechnamkang (ถูก)
ที่พักสไตล์โฮมสเตย์ราคาไม่แพง ที่ให้ความเงียบสงบ หากต้องการความสะดวกยังสามารถเลือกพักในห้องที่มีห้องน้ำในตัวได้ด้วยนะคะ การตกแต่งในแต่ละห้องนั้นแตกต่างกัน ทั้งยังมีห้องพักที่มีระเบียง มีประตูที่เป็นกระจกรอบด้านให้แสงธรรมชาติให้ได้รู้สึกผ่อนคลาย หรือหากค้องการจะเลือกเข้าพักบนศาลากลางน้ำก็ได้ด้วยนะคะ ราคาเริ่มต้นที่ 650 บาทค่ะ
B) บ้านอมร รีสอร์ท (ถูก)
ที่พักสไตล์ตู้คอนเทนเนอร์ราคาไม่แพง สำหรับใครที่ตัองการประสบการณ์เข้าพักที่แปลกใหม่ ที่ยังมีพื้นที่ของสวนหย่อมสีเขียวที่มีที่นั่งกลางแจ้ง แต่ร่มรื่นเพลินๆ ที่ถูกใจได้ทุกวัย และยังร้านคาเฟ่เล็กๆ เริ่มต้น 700 บาทค่ะ
C) Piccolo House (กลางๆ)
หากขับรถกันมาเองก็เลือกหยุดพักที่นี่ได้ง่ายๆ เลยค่ะ ที่พักบรรยากาศดี ที่นี่มีการตกแต่งเก๋ๆ น่าอยู่มากๆ ห้องสะอาด เตียงหนานุ่ม ราคากลางๆ ประมาณ 1,000 บาทต่อคืน
หมายเหตุ
ราคาที่พักอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลานะคะ ไม่ว่าจะเป็นตามกาลเวลา และ/หรือ อาจมีราคาที่สูงขึ้นในฤดูท่องเที่ยว
อุทยานแห่งชาติพุเตย อุทยานแห่งชาติเดียว แต่มีหลายหน่วยย่อย อย่าสับสนนะคะ หลายๆ คนเข้าใจว่าสามารถขึ้นยอดเขาเทวดา จาก อุทยานแห่งชาติพุเตย (หน่วยหลัก) ซึ่งไม่ใช่นะคะ โดยสามารถอ่านรายละเอียดข้อมูลท่องเที่ยวของ อุทยานแห่งชาติพุเตย ได้ที่ลิ้งค์นี้เลยค่ะ
ขอบคุณที่แวะเข้ามาอ่านนะคะ หยกหวังว่าข้อมูลการขึ้น ยอดเขาเทวดา จะเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆ ชาวสนุกเที่ยว ให้ได้เที่ยวอย่างสนุก ที่สำคัญคือเพื่อนๆ สามารถคอมเม้นต์อะไรก็ได้ที่ด้านล่างบทความนี้ ไม่ว่าจะเป็น คำถาม, ข้อสงสัย, คำแนะนำ, คำติ หรือ คำชม หยกยินดีตอบให้เร็วที่สุด (ถ้าไม่ติดเที่ยวในบางที่ เช่นที่นี่ ที่ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ หรือ อินเตอร์เนทนะคะ) และ รับฟังทุกความเห็นเลยค่ะ
สวัสดีครับ ผมว่าจะไปน่าหนาวช่วงกลางเดือนธันวา อยากถามเรื่องรถครับ เราเอาเก๋งไปจอดแล้ว นั้งรถของอุทยานไป เท่าไรและได้กี่คนครับ ค่ากลางเต้น+ค่าเข้า เท่าไรบ้าง แล้วอุปกรณ เราเอาไปเองได้ใช้มั้ยท่ามี ครับ ขอบคุณครับ
สวัสดีค่ะ คุณโก๋ยุท
ขอบคุณสำหรับคอมเม้นต์นะคะ 🙂
เรื่องการบริการรถของทางอุทยานแห่งชาติเพื่อพาไปที่ หน่วยย่อยตะเพินคี่ นั้น เมื่อครั้งที่หยกไปยอดเขาเทวดามานั้น อยู่ที่ 2,000 บาท รวมทั้งขาไปและขากลับค่ะ แต่ทั้งนี้รายละเอียดเพิ่มเติมเรื่องจำนวนคน ชนิดของรถนั้นอาจจะต้องติดต่อสอบถามทางอุทยานแห่งชาติโดยตรง รวมทั้งเรื่องค่าบริการที่อาจเพิ่มขึ้นหรือน้อยลงด้วยนะคะ ส่วนค่าเข้าอุทยานแห่งชาติ ผู้ใหญ่ 20 บาทต่อคน ค่ากางเต็นท์ 30 บาทต่อเต็นท์ต่อคืนค่ะ ส่วนค่าเช่าเต็นท์พร้อมเครื่องนอนนั้นประมาณ 300 บาทค่ะ ทั้งนี้เรื่องเช่าเต็นท์รบกวนสอบถามกับทางอุทยานแ่หงชาติเพื่อความมั่นใจอีกทีนะคะ ยิ่งหากชนวันหยุดหรือเสาร์อาทิตย์จะได้มั่นใจว่ามีเต็นท์ว่างให้เช่าแน่ๆ ถ้ามีอุปกรณ์ต่างๆ เองสามารถนำไปด้วยได้ค่ะ หวังว่าพอจะช่วยให้มองภาพเรื่องค่าใช้จ่ายคร่าวๆ ออกนะคะ 🙂
เที่ยวให้สนุก ชมวิวและทานสัปปะรดเผื่อหยกด้วยนะคะ 🙂
สวัสดีครับ คุณหยก ขอบคุณสำหรับข้อมูลท่องเที่ยวที่ละเอียดอีกครั้งนะครับ ขอถามถามหน่อยว่าหากต้องปีนขึ้นยอดเขาเทวดา ต้องมีเจ้าหน้าที่นำทางหรือเปล่า? หรือว่าสามารถขึ้นเดินเองได้? (ส่วนตัวอยากไปเองมากกว่า) ผมคิดว่าที่นี่คงจะเป็นสนามฝึกการเดินป่าแบบนอนกางเตนท์ค้างคืนที่ดี เสียดายที่ 13 กิโลหลังเป็นทางลูกรัง สงสัยรถยนต์ของผมเข้าไม่ได้แน่เลย คงต้องเช่ารถกระบะจากที่ทำการอุทยานตามที่คุณหยกแนะนำ…
สวัสดีค่ะ คุณ marsstar14
ขอบคุณสำหรับคอมเม้นต์และคำชมนะคะ 🙂
นักท่องเที่ยวสามารถขึ้นยอดเขาเทวดาได้เองอย่างอิสระเลยค่ะ ไม่จำเป็นต้องมีคนนำทางค่ะ เดินลุยเองได้สบายๆเลย 🙂 แค้มปิ้งได้มันส์เลยค่ะ อย่าทานมาม่าเป็นพอ ไม่งั้นคงเป็นที่ฝึกที่ไม่ดีแน่ค่ะ อิอิ และใช่ค่ะตอนที่หยกไปนั้นถนนยังเป็นดินลูกรังอยู่เลย ทั้งชันและคดโค้ง ต้องรถโฟร์วีลหรือที่สูงหน่อยค่ะถึงจะขึ้นได้ ยังไงลองติดต่อกับทางอุทยานแห่งชาติแต่เนิ่นๆนะคะ จะได้มีรถขึ้น
เที่ยวให้สนุก และเดินทางปลอดภัยค่ะ หากมีข้อมูลใดเปลี่ยนแปลงไปหรือข้อมูลหยกไม่อัพเดท แจ้งเข้ามาให้หยกแก้ไขได้เลยนะคะ 🙂
ขอบคุณอีกครั้งครับคุณหยก ตอนที่คุณหยกไปนั้นค้างคืนคนเดียวหรือเปล่าครับ? (หมายถึงไม่มีนักท่องเที่ยวกลุ่มอื่นมากางเตนท์แถวบริเวณตั้งแคมป์) และคุณหยกขับรถกระบะไปเองหรือเช่ารถครับ? สงสัยลุยๆแบบนี้คงขับไปเองแน่เลย อิอิ ผมเองก็ชอบขับรถครับแต่ไม่มีกระบะ มีฮอนด้าซีวิคคู่ใจ คันนี้พิชิตพันโค้งที่แม่ฮ่องสอนมาแล้วแต่ในที่ที่เป็นทางลูกรังมากๆก็จอด เคยขับบนทางลูกรังที่วัดอนาลโยฯ น้ำตกก้อหลวง และ ปางอุ๋งสุพรรณมาแล้ว แต่แถวนั้นเป็นพื้นราบหมด…
สวัสดีค่ะ คุณ marsstar14
ขอบคุณสำหรับคอมเม้นต์ค่ะ 🙂 ยอดเขาเทวดานั้นเป็นจุดฮตของนักท่องเที่ยวมานานแล้วค่ะ เลยมีนักท่องเที่ยวทยอยมาแค้มป์ที่ลานกางเต็นท์ก่อนเตรียมตัวเดินขึ้นยอดเขาเทวดาอยู่เรื่อยๆค่ะ โดยเฉพาะช่วงปีใหม่พี่ๆเจ้าหน้าที่แจ้งว่ามีนักทอ่งเที่ยวมารอเคาน์ดาวแน่นลานกางเต็นท์เลยนะคะ หยกนั่งรถมาเองค่ะ ไม่รู้ว่าตอนนี้ถนนเป็นอย่างไรบ้าง อาจมีการปรับปรุงซ่อมแซมหรือเปล่า หยกก็ไม่แน่ใจค่ะ ไปเที่ยวกลับมาแล้ว มาเล่าให้ฟัง มาอัพเดทด้วยนะคะ 🙂 ขอให้วันที่ขึ้นยอดเขาเทวดานั้นฟ้าแจ่มๆเลยนะคะ 🙂
น่าไปจังค่ะ ควรจะไปช่วงเดือนำหน ถึง เดือนไหนดีค่ะ
สวัสดีค่ะ คุณ Ratty
ยอดเขาเทวดา นั้น ขึ้นได้ตลอดปีนะคะ ถ้าถามช่วงที่สวยสุดก็น่าจะเป็นปลายฝนต้นหนาวค่ะ ฟ้าจะแจ่ม วิวจะเขียว แต่อาจจะคาดการณ์เรื่องฝนไม่ได้ ทางถนนขึ้นอาาจจะลำบากหน่อย แต่ช่วงหน้าหนาวถึงกุมภาก็สวยก็ฟินได้เหมือนกันค่ะ แค่ฟ้าจะไม่แจ่มไม่ใส วิวไม่เขียวเท่าค่ะ ถ้าเริ่มมีนาไปปุ๊ปจะร้อนมากๆ ไม่แนะนำค่ะ
หวังว่าจะเป็นประโยชน์นะคะ เที่ยวเผื่อหยกด้วยค่ะ 🙂
แล้วถ้าจะไปช่วงนี้ คืออ่านเจอแล้วคิดว่าพุ่งนี้จะไปกันเลย คิดว่าจะอากาศดีหรือเปล่าหรืออย่างไรแนะนำด้วยนะค่ะ
สวัสดีค่ะ คุณแนน หยกชอบมากเลยค่ะแบบนี้ ไม่มีแผน อยากไปก็ไปเลย โชคดีค่ะที่ ยอดเขาเทวดา (ตะเพิ่นคี่) เที่ยวได้ตลอดปี ยิ่งหน้าฝน วิวคงเขียวสวยมาก อากาศคงสบายค่ะ แต่ถนนขึ้นตะเพิ่นคี่ค่อนข้างโค้งและชัน ถนนสลับดินกับซีเมนต์ ถ้าฝนตกหนักถนนคงไม่น่ารื่นรมณ์เท่าใดนักและคงขึ้นยากและลำบากน่าดู หยกแนะนำว่าให้ตรวจสอบอากาศก่อน และโทรไปถามทางอุทยานแห่งชาติเรื่องอากาศ, เรื่องถนนขึ้นตะเพิ่นคี่ และเรื่องเส้นทางเดินขึ้นยอดเขาเทวดาด้วยดีกว่าค่ะ
อย่าลืมเตรียมอุปกรณ์กันฝนไปด้วย เลือกจุดกางเต็นท์ดีๆสูงๆหน่อย เผื่อฝนตก น้ำจะได้ไม่ไหลลงเต็นท์นะคะ ขอให้อากาศเป็นใจ ได้ไปยอดเขาเทวดานะคะ ได้ความอย่างไร ยอดเขาเทวดาหน้าฝนสวยงามขนาดไหน อย่าลืมมาเล่าให้ฟังนะคะ
ถ้าช่วงหน้าฝนอากาศจะดีไหมครับ ช่วงต้นเดือนสิงหาอะครับ
สวัสดีค่ะ คุณเอิร์ธ ยอดเขาเทวดา เที่ยวได้ตลอดปีค่ะ แต่ไม่แนะนำช่วงหน้าร้อนในเดือนเมษายน คือมันจะร้อนมากๆๆ และเค้าว่ากันว่าดอยและเขาช่วงหน้าฝนนี่ จะสวยมากเป็นพิเศษ ด้วยอิทธิฤทธิ์ของน้ำฝน 55+ ก่อให้เกิดความสมบูรณ์ ความเขียวขจีของธรรมชาติ ทางเดินก็ร่มรื่นสบายตา วิวที่เห็นจาก ยอดเขาเทวดา ก็จะสวยมากๆค่ะ ส่วนอากาศก็คงจะสบายๆ ไม่ร้อนค่ะ อาจจะเปียกชื้นอึดอัดได้ถ้าฝนตก อย่าลืมเตรียมอุปกรณ์ฉุกเฉินเผื่อกรณีฝนตกในตอนกลางวัน พกร่มหรือเสื้อกันฝน และตอนกลางคืน เลือกทำเลกางเต็นท์ดีๆ ที่อยู่ในระดับสูงสักหน่อย หากฝนตก น้ำจะได้ไหลไปที่ิอื่น ไม่เข้าเต็นท์
ส่วนถนนขึ้น ยอดเขาเทวดา นั้น เป็นถนนดินสลับกับถนนซีเมนต์ หากบังเอิญช่วงเดินทางขึ้นนั้นฝนดันตกพอดี ก็ระมัดระวังดีๆนะคะ ทางค่อนข้างโค้งและชัน
กลับมาเล่าให้ฟังด้วยนะคะ ว่า ยอดเขาเทวดา หน้าฝนนั้นสวยและน่าไปขนาดไหน 🙂
ยอดเขาเทวดา เป็นข้อมูลประมาณเดือนไหน ปีไหนครับ ไปมากี่ครั้งแล้ว
ผมขอบมาก ขอความกรุณา บอกให้ทราบหน่อย กำบังตัดสินใจไป เร็วๆนี้ครับ
สวัสดีค่ะ คุณเดช หยกไปยอดเขาเทวดา ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ ปีนี้ (2560) ค่ะ สดๆ ร้อนๆ เลย ไปครั้งเดียวค่ะ แนะนำว่าห้ามพลาดเลยค่ะ คือสวย เพลิน และสนุกมากๆ หวังว่าจะช่วยในการตัดสินใจนะคะ
ขอบคุณ อีกคำถาม เนตกับโทรศัพท์ ต้องใช้ค่ายไหนครับ
สวัสดีค่ะ คุณเดช จะใช้ค่ายไหนก็ได้ค่ะ เพราะไม่ว่าค่ายไหนๆ บนตะเพินคี่ และบน ยอดเขาเทวดา ก็ไม่สัญญาณทั้งสิ้น แฮ่ๆๆ ? แต่ถ้าคุณเดชไปแวะที่ อุทยานแห่งชาติพุเตย หน่วยหลัก ก่อน ก็จะมีบริเวณที่มีสัญญาณโทรศัพท์เฉพาะเครือข่ายค่ะ โดยสามารถเข้าไปอ่านข้อมูลได้ที่ลิ้งค์นี้ อุทยานแห่งชาติพุเตย ในข้อ 4.1 ข้อย่อย 6) เลยค่ะ