
รองเท้าเดินป่า หรือ hiking shoes หรือ hiking boots นั้น มีมากมายหลายชนิด หลายแบบมากๆ หากเรามีความรู้และเข้าใจถึง ชนิดรองเท้าเดินป่า แต่ละชนิด จะช่วยให้เราสามารถ เลือกรองเท้าเดินป่า และ ซื้อรองเท้าเดินป่า ได้ตรงกับจุดประสงค์ของการสวมใส่ เพื่อให้ใส่สบาย ไม่เกิดปัญหาระหว่างเที่ยว คุ้มค่า คุ้มเงินที่ใช้จ่ายไป
- ไม่เพียงแต่การ เลือกรองเท้าเดินป่า ให้ได้ตรงใจ ตรงความต้องการ และใส่สบายแล้ว
- การดูแลรักษา รองเท้าเดินป่า ให้คงสภาพดี เพื่อให้มีความแข็งแรงทนทาน และใช้ประโยชน์ได้นานๆ ก็เป็นอีกสิ่งที่สำคัญ ที่จำเป็นต้องทราบ และปฏิบัติให้ถูกต้องเช่นกันค่ะ
บทความต่อไปนี้ เพื่อนๆ จะได้ทราบถึง รองเท้าเดินป่า (hiking shoes หรือ hiking boots) ข้อดี ข้อเสีย, ชนิดรองเท้าเดินป่า และ คุณสมบัติของรองเท้าแต่ละชนิด, วิธีเลือกรองเท้าเดินป่า ให้เหมาะกับการใช้งานของแต่ละรูปแบบของการท่องเที่ยว ต้อง เลือกรองเท้าเดินป่า แบบไหน ไซส์อะไร ต้องลองยังไง แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าคู่ไหน คือคู่ที่ใช่ และการดูแลรักษาเพื่อให้รองเท้าแข็งแรงทนทาน อยู่คู่เท้าเราไปได้นานๆ เป็นต้น ซึ่งจะมีรายละเอียดยิบย่อยมากมายที่ด้านล่างนี้เลยค่ะ
- ชนิดรองเท้าเดินป่า (hiking shoes หรือ hiking boots) ข้อดี ข้อเสีย และ คุณสมบัติของรองเท้าแต่ละชนิด
- วิธีเลือกรองเท้าเดินป่า
- วิธีการดูแลรักษารองเท้าเดินป่า ที่ทำจากหนัง และ การทำให้รองเท้ามีคุณสมบัติกันน้ำ
- หา ซื้อรองเท้าเดินป่า ได้ที่ไหนบ้าง
บทความนี้ ไม่ได้มีสปอนซ์เซอร์ หรือ การสนับสนุนจาก Lowa หรือ บริษัทใดๆ หรือ จากใคร นะคะ
ทั้งนี้ หยกยังมีบทความที่เป็นประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็น วิธีการเลือกซื้อกระเป๋าแบ็คแพ็ค, วิธีการเลือกซื้อและใช้ trekking poles, วิธีซื้อตั๋วรถไฟยุโรป หรือ บัตรโดยสารแบบหลายเที่ยว ที่เรียกว่า Rail Pass หรือจะเป็น คู่มือท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ เป็นต้น
มีเพื่อนๆ หลายท่านให้ความสนใจ หลังจากอ่านรีวิวการท่องเที่ยวของหยก ที่มีรูปแบบที่ค่อนข้างลุย ไปในที่ๆ มีนักท่องเที่ยวน้อยๆ ชอบขวนขวายหาสถานที่เที่ยวใหม่ๆ และได้เที่ยวได้สัมผัสแต่ละที่แบบเต็มๆ บอกว่า “ดูสนุกมากๆ เป็นสไตล์การท่องเที่ยวที่หายาก ไม่ค่อยมีใครเที่ยวแนวนี้กัน และอยากให้หยกจัดทริปพาเที่ยว” ในที่สุด หยกได้จัดทัวร์พาเที่ยวแล้วนะคะ เย้ๆๆ หยกเลยถือโอกาสนี้ ทำโพสต์ถึงเหตุผลที่หยกจัดทริป ทำไมทัวร์ของหยกจึงแตกต่าง และ ทำไมต้องมาเที่ยวกับหยก? มาไว้ที่นี้ค่ะ มาร่วมทริปร่วมสนุกด้วยกันนะคะ
บทความข้อมูลเทรคกิ้งเนปาล
สำหรับเพื่อนๆ ที่อยากลองเทรค อยากเที่ยวแนวนี้ แต่เริ่มไม่ถูก ไม่รู้จะหาข้อมูลเกี่ยวกับการเทรคกิ้งทั้งหมดได้ที่ไหน หรือแม้แต่เพื่อนๆ ที่หลงใหลการเทรคกิ้งเนปาล ที่อยากได้ข้อมูลเทรคกิ้งเพิ่ม นี่เลยค่ะ ที่เดียวกับข้อมูลเต็มๆ
- ไฮกิ้ง เทรคกิ้ง คืออะไร? ต่างกันยังไง? พร้อมคำอธิบายที่แจ่มชัด และตัวอย่าง
- ข้อมูลเทรคกิ้งบนเส้นทาง Poon Hill
- ข้อมูลเทรคกิ้งบนเส้นทาง Langtang
- ข้อมูลเทรคกิ้งบนเส้นทาง Annapurna Circuit ที่รวม Tilicho Lake ทะเลสาบสีฟ้าสุดเข้ม และ สวยงามสุดๆ เข้าไว้ด้วย
- ข้อมูลเทรคกิ้งบนเส้นทาง Mohare + Khopra
- ข้อมูลเทรคกิ้งบนเส้นทาง Everest Base Camp (EBC) + Kalapatthar
- ไป Pokhara พักที่ไหนดี มีอะไรเที่ยว
- Checklist เตรียมอะไรไปเทรคกิ้ง ที่สามารถเตรียมเองได้ ไม่มีสิ่งนี้ ทำยังไง หาอะไรทดแทน หาซื้อที่ไหน เตรียมสิ่งนี้ไปทำไม ใช้ประโยชน์อะไร
- How to ขอวีซ่าเนปาล ตั้งแต่การเตรียมการณ์มาจากบ้าน เพื่อยื่นขอ Visa On Arrival ที่สนามบินตรีภูวัน
- ข้อมูลการเตรียมตัว ก่อนไปเทรคกิ้งเนปาล ให้พร้อมที่สุด ต้องเตรียมอะไร, เทรคเส้นไหน, ประกันบริษัทอะไรดี, ฉีดวัคซีนไหม, Permits อะไรบ้าง, น้ำดื่มล่ะ, ซิมการ์ดแพงไหม และ แลกเงินที่ไหน ฯลฯ
- AMS – อาการทั่วไป? อาการรุนแรง? เกิดกับใคร? ที่ไหน? ป้องกัน+หลีกเลี่ยงยังไง? ข้อควรปฏิบัติ? ถ้ามีอาการต้องทำยังไง? รักษาได้ไหม?
- ประกันเดินทางต่างประเทศ และ ประกันเดินทางที่ครอบคลุมเทรคกิ้งเนปาล บนเขาสูงไม่เกิน 4,500 m + ครอบคลุมทั่วโลก เช่น เนปาล, ยุโรป, อเมริกา & ประเทศอื่นๆ + ครอบคลุมค่ารักษาโควิด
- DOs & DON’Ts ระหว่างเทรคกิ้ง เนปาล ข้อควรรู้ อะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ – ใส่หูฟังฟังเพลง? ให้ขนมเด็กบนเขา? เดินลุยข้ามแม่น้ำ ต้องถอดรองเท้าเดินป่า? ต้องทำยังไงเพื่อไม่ให้เมื่อยกล้ามเนื้อ? ฯลฯ
เป็นยังไงละคะ เพื่อนๆ ได้ข้อมูลเกี่ยวกับการเทรคกิ้งที่ครบถ้วน ที่ละเอียด อ่านง่าย เข้าใจเองได้ และยังทำตามได้เองสบายๆ เลยใช่ไหมล่ะ หากมีข้อสงสัยใดๆ คอมเม้นต์ที่ช่องคอมเม้นต์ด้านล่าง เข้ามาได้เลยนะคะ หยกรอตอบแล้วค่ะ
1. ชนิดรองเท้าเดินป่า ข้อดี ข้อเสีย และ คุณสมบัติของรองเท้าแต่ละชนิด
จะ เลือกรองเท้าเดินป่า คู่ที่เหมาะกับเราได้ ก็ต้องมาดูกันก่อนค่ะว่า รองเท้าเดินป่า มีกี่ชนิด และแต่ละชนิดต่างกันอย่างไร
รองเท้าเดินป่า แบ่งออกเป็น 4 ชนิดหลักๆ ซึ่งการจำแนกชนิด รองเท้าป่า ในแต่ละชนิดนั้น ยังแบ่งแยกออกเป็นชนิดย่อยๆ ได้อีก (ซึ่งหยกจะไม่ลงลึกนะคะ จะทำให้งงซะเปล่าค่ะ) หรือ ที่เรียกว่าชนิดผสม เพราะคุณสมบัติของรองเท้าอยู่ก่ำกึ่งกันระหว่าง 2 ชนิด เช่น รองเท้าคู่แรกของหยก จัดอยู่ในชนิด A/B ส่วนคู่ใหม่ล่าสุดที่พึ่งซื้อ อยู่ในชนิด B/C เป็นต้น

*รองเท้าเดินป่าคู่ที่หยกใช้เป็นประจำนั้นอยู่ในชนิด B ค่ะ ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นคู่ใหม่ที่พึ่งซื้อนี้ ซึ่งเป็นชนิด B/C ค่ะ (คู่ที่เป็นหนัง) ซึ่งรองเท้าเดินป่าคู่แรกของหยกนั้นเป็น ชนิด A/B ค่ะ อย่าพึ่งงงค่ะ อย่าพึ่งงง ไปทำความรู้จักกับชนิดหลักๆ ของ hiking shoes กันเลยค่ะ

1.1. ชนิดรองเท้าเดินป่า ชนิด A
คำนิยามง่ายๆ คือ น้ำหนักเบา ยืดหยุ่นดี พื้นนิ่ม สวมใส่สบาย เช่น พวก hiking sandal , hiking shoes และ trail running shoes
ใช้ทำกิจกรรมง่ายๆ เช่น การท่องเที่ยวทั่วไป, การสวมใส่ในชีวิตประจำวัน, การเดินบนเทรลสั้นๆ ง่ายๆ ในสภาพอากาศร้อนหรือสบาย (ไม่หนาว) และการวิ่งเทรล
ข้อดี
มีความคงทนระดับหนึ่ง น้ำหนักเบา มีการถ่ายเทอากาศดี สวมใส่สบาย แห้งเร็วหากเปียกน้ำ และมีให้เลือกมากมาย
ข้อเสีย
มีความสามารถในการรองรับข้อเท้า (ankle support) น้อย (แต่ก็ดีกว่ารองเท้าผ้าใบหรือรองเท้ากีฬาทั่วไป) กรณีเกิดเท้าพลิกหรือแพลง, หากเดินสะดุดรากไม้ เตะหิน สามารถบาดเจ็บได้ง่าย มีการป้องกันเท้าได้น้อย, พื้นรองเท้าไม่หนามาก หากต้องเดินบนทางเดินขรุขระนานๆ อาจเจ็บฝ่าเท้าได้ เพราะพื้นรองเท้าบาง, มีการยึดเกาะได้น้อย จึงไม่เหมาะกับการเดินบนทางลาดหรือชัน และพวกหินดินทรายสามารถเข้ามาภายในรองเท้าได้ง่าย
1.2. ชนิดรองเท้าเดินป่า ชนิด B
คำนิยามง่ายๆ คือ รองเท้าเดินป่าที่พบเห็นได้ทั่วไป คนส่วนใหญ่นิยมเลือกซื้อชนิดนี้ ยังคงมีน้ำหนักเบา มีโครงสร้างที่แข็งแรงคงทนมากขึ้น พื้นรองเท้ามีความหนาขึ้น มีดอกยางลึก หลายคนอาจเรียกรองเท้าชนิดนี้ว่า hiking boots บ้างก็เรียก light hiking boots บางก็เรียก medium-weight hiking boots เพราะมีทั้งแบบน้ำหนักเบา และหนักปานกลาง ซึ่งเริ่มกลายเป็นชนิดผสมที่มีคุณสมบัติก่ำกึ้งๆ ได่ค่ะ
ใช้กับกิจกรรมเดินป่าทั่วไป แบบกลางๆ บนเทรลทั่วไป หรือที่มีพื้นผิวขรุขระๆ บ้าง แต่ไม่เหมาะบนพื้นหินปูนที่ลาดชัน (ไม่เหมาะ แต่ใช้ได้ค่ะ เพียงแค่เค้าไม่ได้ออกแบบรองเท้าชนิดนี้ ให้เดินบนพื้นหินปูน, ต้องเป็นชนิดผสม B/C หรือ ชนิด C ที่ออกแบบมาให้ตรงกับทางเดินประเภทนี้) และไม่เหมาะกับการแบกสัมภาระเดินระยะไกลเป็นเวลานานๆ (ไม่เหมาะ แต่ใช้ได้เช่นกันค่ะ เพราะรองเท้าชนิด B ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้แบกสัมภาระ และเดินระยะไกล เป็นเวลานานๆ, ต้องเป็นชนิดผสม B/C หรือ ชนิด C แต่หยกก็ใช้รองเท้าชนิด B แบกสัมภาระ และเทรคเป็นระยะเวลา 20 วัน บน Manaslu & Tsum Trek ที่เนปาลมาแล้ว ซึ่งก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร ออกจะรักรองเท้าคู่นั้นมากซะด้วยสิ)


ข้อดี
โครงสร้างรองเท้าแข็งแรง คือ พื้นหนา, ดอกยางลึก, มีหัวรองเท้าหนา แข็ง (toe cap) ซึ่งจะช่วยป้องกันในกรณีเดินเตะของแข็ง, มีการรองรับข้อเท้าได้ดี ช่วยลดการเกิดข้อเท้าพลิกหรือแพลง, ปกป้องดินทราย หินก้อนก้อนเล็กๆ หรือกรวดเข้าไปในรองเท้า, มักจะทำจากวัสดุที่กันน้ำ (waterproof) และมีทั้งแบบที่ออกแบบมาให้ใช้ร่วมกับ crampons ได้และไม่ได้
ข้อเสีย
แทบจะไม่มีข้อเสียเลยค่ะ นอกเสียจาก มีราคาที่ค่อนข้างสูง


1.3. ชนิดรองเท้าเดินป่า ชนิด C
คำนิยามง่ายๆ คือ รองเท้าเดินป่า ที่เห็นแล้วฮาร์ดคอร์สุดๆ มักทำจากหนัง ดูหนัก ดูหนา ดูใส่ไม่สบาย ดูเหมือนใส่แล้วเจ็บ และมีราคาแพงมากๆ แต่ในทางกลับกัน ก็ดูเท่ห์และน่าเป็นเจ้าของสุดๆ รองเท้าชนิดนี้เรียกกันว่า backpacking boots หรือ heavy boots นะคะ
ใช้กับกิจกรรมที่ต้องเดินบนเทรลแบบกลางๆ ไปทางยาก กับการเดินระยะไกล ที่ต้องมีการแบกสัมภาระ บนทางเดินเป็นหินขรุขระ พื้นหินปูน ทางเดินที่ไม่ราบเรียบ หรือ ทางเดินที่ลาดหรือชันมากๆ, ทางเดินที่เปียก หรือ เต็มไปด้วยหิมะ
ข้อดี
โครงสร้างรองเท้าแข็งแรงมากๆ หัวรองเท้าหนา แข็ง ซึ่งจะช่วยป้องกันในกรณีเดินเตะของแข็ง สะดุดรากไม้หรือก้อนหิน, มีพื้นรองเท้าที่หนามากๆ, มีดอกยางลึกหนา ยึดเกาะได้ดี, ช่วยรองรับแรงกระแทก, มีการรองรับข้อเท้าไม่ให้พลิกหรือแพลงด้วยที่บริเวณข้อเท้าจะสูง, ตัววัสดุมักทำจากหนัง อาจจะเป็นหนังแท้ หนังแท้ผสมหนังสังเคราะห์ หรือ หนังกำมะยี่ก็ได้ และมักจะทำจากวัสดุที่กันน้ำ (หรือเราสามารถทำให้หนังเหล่านี้ กันน้ำด้วยการทาขี้ผึ้ง ที่หยกจะได้กล่าวที่ด้านล่างนี้ค่ะ) และถูกออกแบบมาให้ใช้ร่วมกับ crampons ได้
ข้อเสีย
มีราคาสูงลิ่วๆ, สวมใส่ไม่สบาย (ในช่วงแรกๆ) เพราะตัวหนังมีความแข็ง เมื่อมีการซื้อรองเท้าเดินป่าชนิดนี้มาใหม่ๆ จึงต้องมีการใส่เดินอย่างน้อย 2 – 3 วัน ก่อนใส่เดินเทรคจริง เพื่อให้หนังรองเท้าเริ่มขยาย ให้สวมใส่ได้สบายขึ้น ที่เรียกว่า break-in

1.4. ชนิดรองเท้าเดินป่า ชนิด D
คำนิยามง่ายๆ คือ รองเท้าปีนเขา ที่นักปีนเขาใช้พิชิตยอดเขาสูงๆ กัน หรือที่รู้จักกันว่า mountaineering boots
ใช้กับกิจกรรมแบบฮาร์ดคอร์ การปีนยอดเขาต่างๆ การเดินบนหิมะ หรือ น้ำแข็ง (ใส่ crampons)
ข้อดี
มีโครงสร้างและพื้นรองเท้า ที่หนาและแข็งแรงทนทานมากๆ, มีการรองรับเท้าและข้อเท้าอย่างดีที่สุด, มีความสามารถในการกันน้ำ กันลม เป็นฉนวนกันความหนาวเย็นจากหิมะ และถูกออกแบบมาให้ใช้ร่วมกับ crampons ได้
ข้อเสีย
ราคาแพงมาก มีน้ำหนักที่หนัก และแข็ง อาจสวมใส่ไม่สบายนัก และต้องมีการ break-in แบบจริงจัง เป็นระยะเวลาหลายวัน ก่อนใช้สวมใส่เทรคจริง
แล้วทราบไหมคะ ถ้าเรารู้จักการดูแลรักษารองเท้าเหล่านี้ให้ดี รองเท้าหนังเดินป่าเหล่านี้สามารถอยู่กับเราได้นานเป็นสิบปีเลยนะคะ
มองหาทริปลุยๆ มันส์ๆ + ไกด์หญิงคนไทย ? เนปาล? ทาจิกิสถาน? คีร์กีซสถาน? จอร์แดน? ศรีลังกา?
หยกจัดทริปแล้วค่ะ ปี 2565 สนใจทริปไหน คลิ๊กอ่านเพิ่มเติมที่ภาพได้เลยค่ะ ไปผจญภัยกัน!
2. วิธีเลือกรองเท้าเดินป่า
การ เลือกรองเท้าเดินป่า นั้น ไม่ได้ทำกันได้ง่ายๆ ก็รองเท้าเดินป่านั้นเป็นสิ่งของที่ไม่ได้หาได้ง่ายในประเทศไทย ไม่ได้มีขายตามร้านทั่วไป มีราคาที่สูง อีกทั้งคู่ที่ใช่ ที่ใส่สบาย อาจไม่สวยถูกใจก็เป็นได้ มาดูวิธีการเลือกรองเท้าเดินป่าอย่างมีประสิทธิภาพกันดีกว่าค่ะ

2.1. วิธีเลือกรองเท้าเดินป่า มองหารองเท้าสำหรับการใช้งานประเภทไหน?
หากต้องการ ซื้อรองเท้าเดินป่า สำหรับการเทรคกิ้งทั่วๆ ไป ความยากระดับง่าย ถึง ปานกลาง บนทางเดินเทรลที่มีการจัดการดูแลอย่างดี เช่น เทรคกิ้งในประเทศไทย หรือ เนปาล เป็นต้น ที่ไม่ได้มีการปีนป่ายใดๆ ร่วมด้วย เช่น via ferrata ชนิด B ก็เพียงพอแล้วค่ะ
แต่หากกำลังจะไปเทรคกิ้งบนเส้นทางที่มีความยากระดับกลาง ถึง ยาก ต้องเดินบนเส้นทางที่ไม่ใช่ทางเดินราบ แต่เป็นเส้นทางเดินหินปูนชันๆ ที่อาจเกี่ยวข้องกับการปีนป่าย เช่น via ferrata อาจมีการแบกสัมภาระเอง ก็แนะนำให้ เลือกรองเท้าเดินป่า ชนิด B/C หรือ C ค่ะ แต่หากไม่ได้มีการเทรคในระดับนี้เป็นประจำ แต่รักการเทรคกิ้งเป็นชีวิตจิตใจ และมีการเทรคกิ้งแบบทั่วไปเป็นประจำ แบบนี้แล้ว เลือกรองเท้าเดินป่า แค่ชนิด B ก็เพียงพอแล้วเช่นกันค่ะ


ส่วนชนิด A ก็แนะนำสำหรับใส่เดินเที่ยวตามเมืองทั่วๆ ไป หรือเดินบนเทรลดีๆ เรียบๆ เดินเป็นระยะทางสั้นๆ ส่วนชนิด D ก็ไม่ต้องพูดถึง หากใครที่จะไปปีนยอดเขาเอเวอร์เรสก็ต้องเลือกชนิดนี้เลยค่ะ
2.2. การเลือกไซส์รองเท้า ต้องใหญ่กว่าเท้าขนาดไหน
เราจะ เลือกรองเท้าเดินป่า ที่ใหญ่กว่าเท้าเรา ด้วยเหตุผลหลายอย่าง เช่น ยามเย็นเท้าเราจะขยายใหญ่ขึ้น, หากเดินในเขตที่มีอากาศหนาว มีหิมะ เราจะต้องใส่ถุงเท้าที่หนา เพื่อให้ความอบอุ่น ลดความเสี่ยงการโดนหิมะกัด และช่วยลดการเสียดสีของเท้ากับรองเท้า ในกรณีที่เลือกไซส์ที่พอดี เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดเล็บม่วง หรือ ตุ่มน้ำใส (blister) เป็นต้น
โดยที่สามารถเลือกขนาดของรองเท้าได้โดย นำแผ่นรองรองเท้าออกมาแล้ววางเท้าที่ใส่ถุงเท้าลงไป ให้ส้นเท้าชิดกับปลายของที่รองเท้า รองเท้าคู่ที่เหมาะกับเท้าของคุณจะต้องมีพื้นที่ด้านหน้า วัดจากนิ้วเท้าที่ยาวที่สุด เท่า ความกว้างของนิ้วโป้งมือ ค่ะ
2.3. ลองใส่เดิน ก้าว กระโดด เขย่ง เดินขึ้นลงบันได เดินบนทางลาด และเดินลงทางชัน เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 40 นาที
แนะนำให้ถือถุงเท้าเดินป่าที่เราจะใส่เดินจริงไปลองใส่กับรองเท้าที่ร้านด้วยค่ะ และทำการมัดเชือกรองเท้าให้แน่นๆ ให้ตึงๆ ซึ่งจะรู้ได้ว่าแน่นพอไหมคือ เท้าจะไม่สามารถขยับหรือไหลไปมาภายในรองเท้าได้
หากเจอคู่ที่คิดว่าใช่ ให้ลองใส่เดิน ก้าว กระโดด เขย่ง เดินขึ้นลงบันได เดินบนทางลาด และเดินลงทางชัน เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 40 นาที หรือจนกว่าจะมั่นใจว่า หากเราต้องใส่รองเท้าคู่นี้เดินบนทางเดินเทรลเป็นระยะเวลา 4 – 5 ชั่วโมง พร้อมทั้งแบกสัมภาระเอง รองเท้าคู่นี้จะไม่ทำให้เกิดปัญหา ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว ร้านขายอุปกรณ์ท่องเที่ยวแบบมืออาชีพขนาดใหญ่ มักจะมี แบบจำลองทางเดินเทรลที่เป็นเนินและมีหินขรุขระๆ ให้ได้ลองเดินค่ะ (ซึ่งหยกเคยเห็นเฉพาะร้านที่อเมริกาและยุโรป)
2.4. คำแนะนำอื่นๆ ในการ ซื้อรองเท้าเดินป่า
- เรื่องแฟชั่น สีสัน ความงามเป็นเรื่องรอง แต่เรื่องการได้รองเท้าที่ใส่สบายนั้นเป็นเรื่องหลัก
- อย่าเกรงใจ แต่จงลองทุกคู่ และลองแบบจริงจัง โดยให้เวลากับแต่ละคู่ อย่างเต็มที่
- อย่าเกรงใจ หากไม่มีคู่ไหนที่ใส่สบาย หากคิดว่าไม่มีคู่ไหนที่ใช่ ก็ไม่จำเป็นต้องซื้อค่ะ คงไม่อยากต้องทรมานตลอดการเทรคใช่ไหมล่ะคะ
- อย่าใส่รองเท้าเดินป่าคู่ใหม่เทรค หากยังไม่ได้ลองใส่เดินก่อนอย่างน้อย 2 – 3 วัน
3. วิธีการดูแลรักษารองเท้าเดินป่า ที่ทำจากหนัง และทำให้รองเท้ามีคุณสมบัติกันน้ำ
Disclosure
หลังจากอยู่ในวงการเทรคกิ้งมานานหลายปี ในที่สุดก็มีโอกาสได้ครอบครองรองเท้าหนังเดินป่าของจริงสักที เย้! ซึ่ง รองเท้าเดินป่า คู่นี้ เป็นรองเท้าคู่แรกของหยกที่เป็นรองเท้าชนิด B/C และทำจากหนัง โดยที่หยกได้มาด้วยทรัพย์ของตัวเองนะคะ ไม่ได้มีการสนับสนุนจาก Lowa หรือ บริษัทใดๆ หรือ จากใคร ด้วยการลองรองเท้ามากกว่า 12 คู่ ในเวลาหลายชั่วโมง ทั้งลองใส่ ลองเดิน ในร้านขายอุปกรณ์ท่องเที่ยวแห่งหนึ่ง ในกรุงเวียนนา (Vienna) ประเทศออสเตรีย (Austria) และที่ต้องซื้อคู่ใหม่ เพราะหยกกำลังจะไปเทรคกิ้งที่ประเทศสโลเวเนีย (Slovenia) กับทริปใหญ่ที่สุดด้วยเส้นทางกว่า 600 กิโลเมตร กับระยะเวลา(คาดว่า) 49 วัน ทั้งยังมีหลายช่วงที่ต้องมีการปีนไต่หินชัน และมีการปีนป่ายที่เรียกว่า via ferrata ที่ รองเท้าเดินป่า คู่เก่า (ชนิด B) ที่ใกล้พังนั้น จะต้องเสียชีวิตระหว่างทางเป็นแน่

ปัจจุบัน มีผลิตภัณฑ์ดูแลรักษารองเท้าหนัง แบบสำเร็จรูปมากมายหลายชนิด ออกมาจำหน่าย แต่หยกจะขอกล่าวถึงวิธีดั้งเดิม ที่ทำได้ง่าย มีราคาถูก ให้ผลลัพธ์ที่ดีเยี่ยม ไม่ต่างจากผลิตภัณฑ์แพงๆ นั่นก็คือ การใช้ ขี้ผึ้ง (beeswax) ซึ่งเจ้าขี้ผึ้งนี้ นอกจากจะช่วยให้รองเท้าหนังเดินป่าของเราแข็งแรงทนทาน กันน้ำ กันฝนแล้ว ยังช่วยให้ความชุ่มชื้นหับหนัง ให้ไม่แห้งกรอบ จึงช่วยยืดอายุรองเท้า ให้อยู่คู่เท้าเราเป็นสิบปีอีกด้วยนะคะ
ก็การที่จะหารองเท้าเดินป่าคู่ใจนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนที่ชอบกิจกรรมการเทรคกิ้ง ที่ต้องใส่รองเท้าคู่นั้น เดินเป็นเวลานานหลายชั่วโมง หลายวัน หลายสัปดาห์ หรือ หลายเดือน ซึ่งจะยิ่งยากเข้าไปใหญ่หากรองเท้าคู่นั้นเป็นรองเท้าที่ทำจากหนัง ลองจินตนาการกับการที่ต้องใส่คัทชูดูสิคะ หากต้องใส่เดินนานๆ รองเท้ากัด ทั้งเจ็บและระบมจนต้องขอถอดรองเท้าเดินเลยทีเดียว อีกทั้งรองเท้าเดินป่าเหล่านี้มีราคาสูงมากๆ ซื้อครั้งเดียวก็คงอยากที่จะใช้ให้คุ้ม อยากจะดูแลให้แข็งแรงทนทาน และอยู่ร่วมทริปกับเราไปนานๆ เลยใช่ไหมล่ะคะ มาค่ะมา มาดูประโยชน์ของการแว๊กซ์รองเท้าและวิธีการแว๊กซ์รองเท้า เพื่อดูแลรักษารองเท้าและยืดอายุรองเท้าคู่ใจกันเถอะค่ะ

มองหาทริปลุยๆ มันส์ๆ + ไกด์หญิงคนไทย ? เนปาล? ทาจิกิสถาน? คีร์กีซสถาน? จอร์แดน? ศรีลังกา?
หยกจัดทริปแล้วค่ะ ปี 2565 สนใจทริปไหน คลิ๊กอ่านเพิ่มเติมที่ภาพได้เลยค่ะ ไปผจญภัยกัน!
3.1. ประโยชน์และข้อดีของการแว๊กซ์รองเท้า
- ช่วยให้รองเท้าแข็งแรงทนทาน เพื่อที่จะได้มีการใช้งานได้นานๆ
- ช่วยให้รองเท้ามีความสามารถในการกันน้ำได้ดีสุดๆ ด้วยคุณสมบัติของขี้ผึ้ง
- ช่วยสร้างความชุ่มชื้นให้หนังของรองเท้า ด้วยคุณสมบัติของขี้ผึ้งเช่นกัน ที่จะช่วยไม่ให้แห้งกรอบ จนหนังแตก และรองเท้าพังในที่สุด
- ช่วยระบายอากาศได้ดี เพราะมีขี้ผึ้งเคลือบไว้ ทำให้ฝุ่นไรต่างๆ ไม่ไปอุดตันที่ตัวหนัง จึงช่วยให้รู้สึกสบายขึ้น มีอากาศถ่ายเท เหงื่อออกน้อยลง เลยช่วยในเรื่องลดความเหม็นอับอีกด้วย กรณีที่ต้องใส่รองเท้าและถุงเท้าคู่เก่าเดินเป็นระยะเวลานานๆ หลายๆ วัน
3.2. ต้องแว๊กซ์บ่อยขนาดไหน?
โดยทั่วไปแล้ว มีการแนะนำให้แว๊กซ์รองเท้าหนังปีละหนึ่งครั้ง แต่ทั้งนี้ ขึ้นกับความถี่และความหนักหนาในการใช้งานด้วยค่ะ สังเกตง่ายๆ หากหนังดูแห้ง ก็คือถึงเวลาให้ความชุ่มชื้นกับหนังแล้วค่ะ
3.3. รองเท้าเดินป่าหนังคู่เก่า ที่โชกโชนมาแล้วหลายป่าหลายเขา แว๊กซ์ได้ไหม?
อย่างที่บอกไปว่า โดยทั่วไปแล้ว ควรแว๊กซ์รองเท้าอย่างน้อยปีละครั้ง นั่นก็หมายความว่า รองเท้าคู่เก่าทั้งที่เคยและยังไม่เคยผ่านการแว๊กซ์มานั้น สามารถแว๊กซ์ได้ค่ะ โดยมีวิธีการแว๊กซ์ที่เหมือนกัน ต่างกันแค่จะต้องทำความสะอาดรองเท้าก่อน ให้ไม่มีมีฝุ่นหรือดินโคลนเปรอะเปื้อน
3.4. อุปกรณ์ที่ใช้ในการแว๊กซ์รองเท้า
- รองเท้าเดินป่า คู่ใจ ต้องเป็นรองเท้าที่ทำจากหนังหรือกำมะยี่ (เราจะไม่แว๊กซ์ส่วนของรองเท้าที่ทำจากพลาสติกนะคะ)
- ขี้ผึ้ง หรือ beeswax
- ผ้าสะอาด
- ที่เป่าผม
3.5. วิธีการแว๊กซ์รองเท้าหนังเดินป่า
- กรณีรองเท้าที่ผ่านการใช้งานมาแล้ว ให้ทำความสะอาดก่อน ไม่ให้มีฝุ่นดินหรือคราบใดๆ เปื้อนเปรอะ
- ถอดเชือกรองเท้าออก
- ตรวจสอบรองเท้าให้ดีว่าบริเวณไหนเป็นหนัง บริเวณไหนเป็นพลาสติก โดยให้ทาขี้ผึ้งเฉพาะบริเวณที่เป็นหนังเท่านั้น
- ใช้ผ้าสะอาดป้ายขี้ผึ้ง แล้วทำการทาในลักษณะวนๆ ลงบนหนังของรองเท้า ทาวนๆ ไปเรื่อยๆ จนทั่วรองเท้าบริเวณที่เป็นหนัง
- ให้มั่นใจว่าได้ทาขี้ผึ้งลงบริเวณที่เป็นรอยต่อ รอบเย็บต่างๆ อย่างประณีตสุดๆ ทั้งบริเวณด้านใต้ของรูเหล็กร้อยเชือกรองเท้าด้วยนะคะ
- หากทาทั่วแล้ว ให้ใช้ที่เป่าผม ใส่ความร้อนพอดี เป่าให้ทั่ว ให้แห้ง ซึ่งดูได้จากคราบความมันของขี้ผึ้งได้หายไป
- ซึ่งรองเท้าที่แว๊กซ์แล้ว จะมีสีที่เข้มขึ้น มีลักษณะของหนังที่ดูไฮโซขึ้นมาหนึ่งระดับค่ะ



4. หา ซื้อรองเท้าเดินป่า ได้ที่ไหนบ้าง?
แย่หน่อยที่ประเทศไทยเราไม่ใช่แหล่งที่เราจะสามารถหา ซื้อรองเท้าเดินป่า ได้ง่ายๆ แต่ก็พอมีรองเท้าเดินป่าให้พอได้เลือกซื้อบ้างในร้านขายอุปกรณ์ท่องเที่ยว ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นชนิด A และ B ซึ่งอาจจะมีรุ่นและแบบไม่หลากหลายมากนัก ส่วนชนิด C ก็พอจะมีให้เห็นบ้าง และมีราคาค่อนข้างสูง จึงอาจจะต้องใช้ความพยายามในการตะเวนหาหลายๆ ร้าน และลองใส่ จนกว่าจะเจอคู่ที่ถูกใจ ซึ่งรองเท้าเดินป่า ชนิด A และ B มักจะไม่ค่อยมีปัญหาในการเลือกและลองเหมือนชนิด B/C และ ชนิด C
แต่หากเพื่อนๆ กำลังมองหารองเท้าเดินป่า และมีแผนการเดินทางเข้าสู่ประเทศเนปาล, ญี่ปุ่น, สหรัฐอเมริกา และแถบยุโรป เป็นต้น ประเทศเหล่านี้จะเป็นแหล่งดีที่มีตัวเลือกให้เลือกเยอะหน่อย โดยเฉพาะในยุโรป ละลานตามากๆ ค่ะ

เป็นอย่างไรกันบ้างคะ วิธีเลือกรองเท้าเดินป่า ง่ายนิดเดียวเองใช่ไหมล่ะคะ หากเจอคู่ที่ถูกใจแล้ว ก็อย่าลืมทำการดูแลรักษาให้ดีๆ ด้วยนะคะ
หากเพื่อนๆ มีคำถาม ข้อสงสัย อยากแบ่งปันประสบการณ์ หรือ อยากพูดคุยทักทาย ก็คอมเม้นต์มาได้ที่ด้านล่างนี้ได้เลยค่ะ