
จะไปเทรคกิ้ง ไม่มีความรู้เรื่อง AMS หรือ ภาวะแพ้ความสูง หรือ อาการแพ้ความสูง รวมทั้ง อาการที่พบได้ นี่ ไม่ได้เลยนะคะ มีความอันตรายและเสี่ยงถึงชีวิตมากๆ ค่ะ แต่ไหนๆ จะศึกษาทั้งที ก็เอาให้ถูก ให้เข้าใจดี และ ที่สำคัญคือ ให้นำไปปฏิบัติได้จริง ด้วยตัวเอง ด้วยนะคะ
ทั้งนี้ หากเพื่อนๆ ท่านไหน อยากเทรค แต่ดูแผนการเดินไม่เป็น ไม่รู้ว่าเส้นทางที่จะไปนั้น เสี่ยงเกิดไหม ไหนจะกลัวและกังวลว่าจะเกิด ภาวะแพ้ความสูง หรือ อาการแพ้ความสูง เหล่านี้อีก มาร่วมทริปเทรคกิ้งกับหยก ได้ค่ะ หยกจัดทริปพาเทรค ด้วยค่ะ ที่สำคัญสุดๆ คือ หยกออกแบบแผนการเดินเอง จึงมั่นใจได้ว่าแผนการเดินดี หลีกเลี่ยง และ ลดความเสี่ยงการเกิด AMS ทั้งยังเป็นแผนการเดินแบบที่ เอื้ออำนวยและช่วยให้ร่างกายสามารถปรับตัวเองได้ดียิ่งขึ้น อีกด้วยนะคะ และที่สำคัญไปอีกนั้น ก็คือ หยกไปด้วยและพาเทรคเองด้วยค่ะ
บทความด้านล่างจะมีหัวข้อ (คลิกได้) ดังต่อไปนี้นะคะ
- 1. คำศัพท์เกี่ยวกับ Acute Mountain Sickness – AMS ที่เทรคเกอร์ควรรู้ มีอะไรบ้าง? อ่านว่า? หมายความว่า?
- High Mountain Sickness | ฮาย เม้าท์-เท่น ซิค-เน็สส์
- Acute Mountain Sickness หรือ AMS | แอ็ค-คิ้วท์ เม้าท์-เท่น ซิค-เนสส์
- High Altitude Pulmonary Edema หรือ HAPE | ฮาย อัล-ติ-จูด พัล-โม-นา-รี อี-ดี-มา
- High Altitude Cerebral Edema หรือ HACE | ฮาย อัล-ติ-จูด ซี-รี-บรัล อี-ดี-มา
- Acclimatization | เออะ-ไคล-มะ-ไทซ์-เซ-ชั่น
- Ascend | แอ็ซ-เซ้นด์
- Descend | ดี-เซ้นด์
- 2. AMS หรือ ภาวะแพ้ความสูง หรือ อาการแพ้ความสูง จริงๆ แล้วคืออะไร?
- 3. อาการ AMS ทั่วไป และ อาการที่รุนแรงขึ้น ที่สามารถพบได้
- 4. จะรู้ได้หรือไม่ว่า อาการ AMS มักเกิดกับใคร? หากเทรคครั้งนี้ไม่มีอาการ แสดงว่าจะไม่มีอาการ ทุกครั้งเลยไหม?
- 5. การปฏิบัติตัว 17 ข้อ เพื่อหลีกเลี่ยง AMS พร้อมคำอธิบาย
- 6. กฎหลักควรจำ 9 ข้อ เพื่อป้องกัน กรณียังไม่มีอาการ
- 7. กฎหลักควรจำ 7 ข้อ เมื่อเริ่มมีอาการ

ก่อนจะไปเรียนรู้เรื่อง ภาวะแพ้ความสูง หรือ อาการแพ้ความสูง เพื่อนๆ มือใหม่ หรือ มือเก่า ที่อยากเทรค แต่ไม่รู้จะเริ่มอะไร เริ่มตรงไหน ยังไง หยกมีบทความ คู่มือการเตรียมตัวก่อนไปเทรคกิ้งเนปาล ให้อ่านด้วยค่ะ มีข้อมูลครบถ้วนเลย ตั้งแต่ ข้อควรรู้เกี่ยวกับการเทรคกิ้ง, การเตรียมตัว และ รายการของที่แนะนำให้เตรียมไป พร้อมเหตุผลอธิบาย ว่า เตรียมอะไรไป ทำไม จะได้เข้าใจและเห็นภาพง่ายขึ้น เป็นต้น
อีกเรื่องที่สำคัญโดยตรงกับ AMS สำหรับการไปเทรคกิ้งเนปาล นั่นก็คือ ประกันการเดินทาง ไปเนปาล ค่ะ ยากมากที่จะหาประกันที่ครอบคลุมกิจกรรมการเทรคกิ้ง บนเขาสูง แต่หยกเจอ บริษัทประกันที่เชื่อถือได้ และหยกใช้บริการอยู่เป็นประจำ (ไม่มีใครจ้างให้เอามาลงนะคะ หยกแนะนำจากประสบการณ์ค่ะ) ไม่ใช่แค่กับเนปาลค่ะ แต่หยกใช้กับการไปเที่ยว คีร์กีซสถาน, ทาจิกิสถาน, สโสลีเนีย และ อีกหลายๆ แห่งทั่วโลกเลยค่ะ
บทความข้อมูลเทรคกิ้งเนปาล
สำหรับเพื่อนๆ ที่อยากลองเทรค อยากเที่ยวแนวนี้ แต่เริ่มไม่ถูก ไม่รู้จะหาข้อมูลเกี่ยวกับการเทรคกิ้งทั้งหมดได้ที่ไหน หรือแม้แต่เพื่อนๆ ที่หลงใหลการเทรคกิ้งเนปาล ที่อยากได้ข้อมูลเทรคกิ้งเพิ่ม นี่เลยค่ะ ที่เดียวกับข้อมูลเต็มๆ
- ไฮกิ้ง เทรคกิ้ง คืออะไร? ต่างกันยังไง? พร้อมคำอธิบายที่แจ่มชัด และตัวอย่าง
- ข้อมูลเทรคกิ้งบนเส้นทาง Poon Hill
- ข้อมูลเทรคกิ้งบนเส้นทาง Langtang
- ข้อมูลเทรคกิ้งบนเส้นทาง Annapurna Circuit ที่รวม Tilicho Lake ทะเลสาบสีฟ้าสุดเข้ม และ สวยงามสุดๆ เข้าไว้ด้วย
- ข้อมูลเทรคกิ้งบนเส้นทาง Mohare + Khopra
- ข้อมูลเทรคกิ้งบนเส้นทาง Everest Base Camp (EBC) + Kalapatthar
- ไป Pokhara พักที่ไหนดี มีอะไรเที่ยว
- Checklist เตรียมอะไรไปเทรคกิ้ง ที่สามารถเตรียมเองได้ ไม่มีสิ่งนี้ ทำยังไง หาอะไรทดแทน หาซื้อที่ไหน เตรียมสิ่งนี้ไปทำไม ใช้ประโยชน์อะไร
- How to ขอวีซ่าเนปาล ตั้งแต่การเตรียมการณ์มาจากบ้าน เพื่อยื่นขอ Visa On Arrival ที่สนามบินตรีภูวัน
- ข้อมูลการเตรียมตัว ก่อนไปเทรคกิ้งเนปาล ให้พร้อมที่สุด ต้องเตรียมอะไร, เทรคเส้นไหน, ประกันบริษัทอะไรดี, ฉีดวัคซีนไหม, Permits อะไรบ้าง, น้ำดื่มล่ะ, ซิมการ์ดแพงไหม และ แลกเงินที่ไหน ฯลฯ
- AMS – อาการทั่วไป? อาการรุนแรง? เกิดกับใคร? ที่ไหน? ป้องกัน+หลีกเลี่ยงยังไง? ข้อควรปฏิบัติ? ถ้ามีอาการต้องทำยังไง? รักษาได้ไหม?
- ประกันเดินทางต่างประเทศ และ ประกันเดินทางที่ครอบคลุมเทรคกิ้งเนปาล บนเขาสูงไม่เกิน 4,500 m + ครอบคลุมทั่วโลก เช่น เนปาล, ยุโรป, อเมริกา & ประเทศอื่นๆ + ครอบคลุมค่ารักษาโควิด
- DOs & DON’Ts ระหว่างเทรคกิ้ง เนปาล ข้อควรรู้ อะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ – ใส่หูฟังฟังเพลง? ให้ขนมเด็กบนเขา? เดินลุยข้ามแม่น้ำ ต้องถอดรองเท้าเดินป่า? ต้องทำยังไงเพื่อไม่ให้เมื่อยกล้ามเนื้อ? ฯลฯ
เป็นยังไงละคะ เพื่อนๆ ได้ข้อมูลเกี่ยวกับการเทรคกิ้งที่ครบถ้วน ที่ละเอียด อ่านง่าย เข้าใจเองได้ และยังทำตามได้เองสบายๆ เลยใช่ไหมล่ะ หากมีข้อสงสัยใดๆ คอมเม้นต์ที่ช่องคอมเม้นต์ด้านล่าง เข้ามาได้เลยนะคะ หยกรอตอบแล้วค่ะ
ไปศึกษา ความน่ากลัวของ AMS และ ข้อปฏิบัติตัวง่ายๆ ของการป้องกันและหลีกเลี่ยง กันเถอะค่ะ
1. คำศัพท์เกี่ยวกับ Acute Mountain Sickness – AMS ที่เทรคเกอร์ควรรู้ มีอะไรบ้าง? อ่านว่า? หมายความว่า?
High Mountain Sickness | ฮาย เม้าท์-เท่น ซิค-เน็สส์
เป็นกลุ่มอาการความเจ็บป่วย จากการที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพอากาศในเขตพื้นที่สูงๆ บนเขาได้ ซึ่งมี 3 อาการที่เกิดขึ้นได้ คือ
- Acute Mountain Sickness หรือ AMS
- High Altitude Pulmonary Edema หรือ HAPE
- High Altitude Cerebral Edema หรือ HACE
Acute Mountain Sickness หรือ AMS | แอ็ค-คิ้วท์ เม้าท์-เท่น ซิค-เนสส์
AMS ไม่ได้เป็นโรคนะคะ แต่เป็นสภาวะของความเจ็บป่วยที่รุนแรงน้อยที่สุด ในกลุ่มอาการ High Mountain Sickness ซึ่งเกิดจากการที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพอากาศในเขตพื้นที่สูง (ที่มีความสูงมากกว่า 2,500 เมตร) ได้ทันเวลา อาการเบื้องต้นที่พบ เช่น ปวดหัวเหมือน hangover, เหนื่อยง่าย, เวียนหัว หรือ นอนไม่หลับ
มักมีชื่อเรียกที่รู้จักกันนอกจาก AMS คือ ภาวะแพ้ความสูง หรือ อาการแพ้ความสูง

High Altitude Pulmonary Edema หรือ HAPE | ฮาย อัล-ติ-จูด พัล-โม-นา-รี อี-ดี-มา
คืออาการปวดบวมน้ำจากการอยู่ในเขตพื้นที่สูง ทำให้ปอดเสียประสิทธิภาพในการแลกเปลี่ยนก๊าซออกซิเจน เป็นอาการต่อเนื่องมาจาก AMS อาจเกิดขึ้นได้ภายใน 2 – 3 วัน โดยจะมีอาการแสดงคือ เหนื่อยหอบ, ไม่มีแรง, หายใจลำบาก, แน่นหน้าอก, อยู่เฉยๆ ก็เหนื่อย, ไอ, มีเสมหะสีชมพูและเป็นฟอง, หัวใจเต้นเร็ว, ริมฝีปากคล้ำ, อุณหภูมิสูง จนถึงขั้นเสียชีวิตได้ในระยะเวลาอันสั้น
High Altitude Cerebral Edema หรือ HACE | ฮาย อัล-ติ-จูด ซี-รี-บรัล อี-ดี-มา
คืออาการสมองบวมน้ำจากการอยู่ในเขตพื้นที่สูง เป็นอาการต่อเนื่องมาจาก AMS เช่นกัน โดยจะมีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง, คลื่นไส้, อาเจียน, เดินเซ, เห็นภาพซ้อน, มีอาการสับสนมึนงง ถ้ามีอาการรุนแรงมากอาจชัก หมดสติ จนถึงขั้นเสียชีวิตได้ภายในเวลาแค่ไม่กี่ชั่วโมง
โดยที่ทั้ง HAPE และ HACE นั้น สามารถเกิดร่วมกันได้นะคะ
Acclimatization | เออะ-ไคล-มะ-ไทซ์-เซ-ชั่น
กระบวนการปรับตัวของร่างกาย เพื่อให้เคยชินต่อสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง เพื่อให้เข้ากับสภาวะของสิ่งแวดล้อมในช่วงระยะเวลานั้นๆ
ในที่นี้หมายถึง กระบวนการตามธรรมชาติของร่างกาย ที่สามารถปรับตัวเองอย่างช้าๆ เพื่อให้มีความคุ้นชินต่อสภาวะของอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปในเขตพื้นที่สูงบนเขา โดยทั่วไป มักจะเกิดบนความสูง 2,500 เมตรขึ้นไป ที่ซึ่งมีปริมาณออกซิเจนน้อยลง (เทียบกับเขตพื้นที่ต่ำกว่า เช่น ที่ความสูงระดับน้ำทะเลที่เราคุ้นเคย ที่มีปริมาณออกซิเจนปกติ) อาจเรียกได้ว่าเป็น “กลไกการเอาตัวรอดของร่างกาย”
ทั้งนี้ การทำกิจกรรมต่างๆ ที่ต่อต้านกระบวนการปรับตัวของร่างกาย (ที่เกิดขึ้นได้เองอย่างช้าๆ) นั้น จะส่งผลเสียตามมา นั่นก็คือ “การเกิด อาการ AMS และอาจพัฒนาไปเป็นอาการที่รุนแรง จนถึงชีวิตได้” นั่นเองค่ะ
Ascend | แอ็ซ-เซ้นด์
การเดินขึ้นจากเขตพื้นที่ที่ต่ำกว่า ไปยังเขตพื้นที่ที่สูงกว่า เช่น บนเส้นทาง Khopra Trek ต้องทำการ ascend จาก Chistabang ที่สูง 3,004 เมตร ขึ้นไปยัง Khopra Danda ที่สูงถึง 3,660 เมตร
Descend | ดี-เซ้นด์
การเดินลงจากเขตพื้นที่ที่สูงกว่า ไปยังเขตพื้นที่ที่ต่ำกว่า เช่น บนเส้นทาง Manaslu Circuit ต้องทำการ descend จาก Larkya La Pass ที่สูงถึง 5,150 เมตร ลงไปยัง Bimthang ที่สูงเพียง 3,700 เมตร

มองหาทริปลุยๆ มันส์ๆ + ไกด์หญิงคนไทย ? เนปาล? ทาจิกิสถาน? คีร์กีซสถาน? จอร์แดน? ศรีลังกา?
หยกจัดทริปแล้วค่ะ ปี 2565 สนใจทริปไหน คลิ๊กอ่านเพิ่มเติมที่ภาพได้เลยค่ะ ไปผจญภัยกัน!
2. AMS หรือ ภาวะแพ้ความสูง หรือ อาการแพ้ความสูง จริงๆ แล้วคืออะไร?
“AMS ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ สามารถพัฒนาเป็นอาการที่รุนแรงขึ้น นำไปสู่การเสียชีวิตในระยะเวลาแสนสั้น แค่ภายในไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้นเอง แต่ AMS ก็สามารถป้องกันได้ง่าย
Attitude Mountain Sickness หรือ AMS นั้น ยังไม่มีชื่อภาษาไทยอย่างเป็นทางการ มักจะรู้จักกันในชื่อ ภาวะแพ้ความสูง หรือ อาการแพ้ความสูง โดยมีคำอธิบายคือ ความเจ็บป่วยจากการที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพอากาศในเขตพื้นที่สูงบนเขาที่สูงกว่า 2,500 เมตรขึ้นไปได้
AMS เป็น 1 ใน 3 อาการที่มีความรุนแรงน้อยที่สุด ของ High Altitude Sickness ซึ่งหากไม่มีการป้องกันที่ถูกต้อง AMS ก็สามารถพัฒนาไปสู่อีก 2 อาการที่รุนแรงขึ้นได้ นั่นก็คือ น้ำท่วมปอด (HAPE) และ/หรือ สมองบวม (HACE) ซึ่งนำไปสู่การเสียชีวิตได้ภายในเวลาอันสั้น แค่ไม่กี่ชั่วโมง เท่านั้นเอง
ดังนั้นแล้ว จึงควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับ ภาวะแพ้ความสูง หรือ อาการแพ้ความสูง นี้ เพื่อนำไปสู่เตรียมการณ์ที่ดีแต่เนิ่นๆ เพื่อลดความเสี่ยง และ ป้องกันการเกิด AMS ได้อย่างอย่างทันการ ถูกต้อง และ ถูกวิธี
ภาวะแพ้ความสูง หรือ อาการแพ้ความสูง นี้ มักเกิดขึ้นกับนักท่องเที่ยว ที่เดินทางไปในเขตพื้นที่สูง 2,500 เมตรขึ้นไป ซึ่งบริเวณนี้ จะมีความกดอากาศต่ำ และ มีปริมาณออกซิเจนน้อย เมื่อเทียบกับสภาพอากาศในเขตพื้นที่ที่ต่ำกว่า
โดยทั่วไป ร่างกายเราจะมีกลไกในการปรับตัวอย่างช้าๆ โดยใช้เวลาสักพัก ก็จะสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมเช่นนั้นได้ดีในระดับหนึ่งอยู่แล้วค่ะ แต่… หากมีการปฏิบัติตัวที่ต่อต้านการปรับตัวของร่างกาย เช่น การเดินที่เร็วเกินไป หรือ การเดินไปยังเขตที่สูงที่แตกต่างกันเกินกว่า 500 เมตรต่อวัน หรือ ปัจจัยอื่นๆ อีกมากมายที่จะได้กล่าวถึงต่อไป จึงทำให้ร่างกายตอบสนองกลับมาด้วยการแสดงอาการต่างๆ ของ ภาวะแพ้ความสูง หรือ อาการแพ้ความสูง นั่นเองค่ะ
แนะนำเส้นทางเทรคกิ้งเนปาล เพื่อจะช่วยเลือกได้ว่าไปเทรคเส้นทางไหนดี
ในเขต Annapurna
- เส้นทางฮิต Poon Hill Trek ที่เลือกเทรคได้ตั้งแต่ 3 – 5 วัน
- Mardi Himal Trek ใช้เวลา 4 – 7 วัน
- เส้นทางน้องใหม่ ใกล้ Poon Hill กับ Mohare + Khopra Trek ใช้เวลา 9 – 10 วัน
- เส้นทางในฝันของใครหลายคน ความท้าทายของ Thorong La Pass 5416 m กับ Annapurna Circuit + Tilicho Lake Trek ใช้เวลา 14 – 20 วัน
ในเขต Everest หรือ Khumbu
- Everest Base Camp (EBC) + Kalapatthar Trek ใช้เวลา 10 – 17 วัน
ในเขต Langtang
- Langtang Trek ใช้เวลา 5 – 12 วัน
ในเขต Manaslu
- ฮาร์ทคอร์หน่อย ก็ต้องเขตหวงห้าม Manslu Circuit & Tsum Valley Trek ใช้เวลา 20 – 22 วัน มี Manaslu Base Camp ให้ได้เทรคด้วยค่ะ
3. อาการ AMS ทั่วไป และ อาการที่รุนแรงขึ้น ที่สามารถพบได้
3.1 อาการ AMS โดยทั่วไปที่พบได้ คือ
อาการแรกที่มักพบ คือ ปวดหัว เค้าว่ากันว่า คล้ายการปวดหัว จากอาการเมาค้าง (hangover) ค่ะ โดยอาจตามมาด้วย คลื่นไส้, วิงเวียน, เหนื่อย, นอนยาก, ไม่อยากอาหาร หรือ รู้สึกแปลกๆ ไม่ปกติ เป็นต้น ซึ่งไม่ได้หมายความว่า ต้องมีอาการครบทั้งหมดนะคะ อาจมีแค่ไม่กี่อาการก็ได้ค่ะ
ข้อควรระวัง
- อาการจะค่อยๆ เริ่มเกิด ที่ความสูง 2,500 เมตรขึ้นไป ซึ่งหากสามารถเฝ้าระวัง และ สังเกตอาการที่ผิดปกติช่วงนี้ได้ จะดีมากค่ะ เพราะจะทำให้เราสามารถป้องกันได้ทัน ก่อนที่อาการจะเริ่มรุนแรงขึ้น
- โดยจะเริ่มเห็นอาการที่ชัดขึ้น ที่ความสูง 3,000 เมตรขึ้นไปค่ะ
โดยที่อาการเหล่านี้ อาจจะไม่เกิดขึ้นทันทีระหว่างการเดินขึ้นที่สูง แต่อาจจะเกิดขึ้นหลังจากการเดินเสร็จไปแล้ว 6 – 24 ชั่วโมงก็ได้ จึงควรพึงระวังและคอยหมั่นสังเกตอาการของตัวเองอยู่ตลอดเวลา ทั้งนี้ อาการเหล่านี้สามารถหายไปได้เอง ด้วยกระบวนการปรับตัวของร่างกายของแต่ละคน ภายใน 12 – 36 ชั่วโมง สำหรับการเดินขึ้นที่สูง ที่แตกต่างกันไม่เกิน 500 เมตรต่อวัน
3.2 อาการที่รุนแรงขึ้น คือ
หากอาการไม่ทุเลา แต่กลับแย่ลง และ มีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ไม่อยากอาหาร นอนไม่หลับ หายใจลำบากติดขัด แน่นหน้าอก หัวใจเต้นรัวเร็ว หรือ เหนื่อยล้าแม้ไม่ได้ทำอะไร เป็นต้น
อาการเหล่านี้ เป็นสัญญาณบ่งบอกที่ไม่ดี จึงต้องรีบจัดการอย่างทันทีทันใด เพื่อป้องกันการนำไปสู่อาการที่รุนแรงขึ้น จนถึงขั้นเสียชีวิต ซึ่งวิธีรักษาที่ดีที่สุด ง่าย และ เห็นผลไวที่สุด คือ ให้รีบเดินลงไปยังที่ที่ต่ำกว่าทันที ห้ามเดินต่อเพื่อขึ้นที่ที่สูงขึ้นเด็ดขาด โดยยังคงสังเกตอาการของตัวเองต่อไป

4. จะรู้ได้หรือไม่ว่า อาการ AMS มักเกิดกับใคร? หากเทรคครั้งนี้ไม่มีอาการ แสดงว่าจะไม่มีอาการ ทุกครั้งเลยไหม?
โปรดพึงระวังอยู่เสมอ ว่า ภาวะแพ้ความสูง หรือ อาการแพ้ความสูง นั้น เป็นอาการที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ และ คาดการณ์อะไรไม่ได้เลย ทั้งยังสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย และ อาการที่เกิดในแต่ละบุคคล ก็อาจแตกต่างกันออกไปอีกด้วยค่ะ จึงไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้เลย ว่าร่างกายของใคร จะสามารถปรับตัวต่อสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงนี้ได้ดีกว่ากัน คือ ไม่สามารถรู้ได้เลยว่า ใครจะ มี หรือ ไม่มี อาการ
ข้อควรระวัง ตัวอย่างเช่น
- คนที่มีความสมบูรณ์แข็งแรงของร่างกายมากๆ และ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อาจมีอาการได้ ในทางกลับกันร่างกายของคนที่มีความแข็งแรงน้อยกว่า อาจมีการปรับตัวต่อสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงได้ดีกว่า แล้วไม่มีอาการ ก็เป็นได้ หรือในทางกลับกันก็ได้ค่ะ
- คนที่เคยไปเที่ยวในเขตพื้นที่สูงแล้วไม่มีอาการ ก็ไม่ได้หมายความว่าครั้งหน้า เมื่อไปเที่ยวในเขตพื้นที่สูงจะไม่มีโอกาสเกิด ภาวะแพ้ความสูง หรือ อาการแพ้ความสูง นะคะ
5. การปฏิบัติตัว 17 ข้อ เพื่อหลีกเลี่ยง AMS พร้อมคำอธิบาย
สิ่งแรกที่สำคัญที่สุด ในการรับมือ กับเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดอาการ ก็คือ การทำความเข้าใจ และ ทราบถึงสาเหตุการเกิด, ความเสี่ยง และ อันตรายที่จะได้รับ ก่อนการเริ่มทริป เพื่อที่จะได้เตรียมตัว และ ทำการป้องกันได้อย่างถูกต้อง และ ถูกวิธี
มีคำกล่าวที่ว่า “AMS ง่ายที่การป้องกัน ไม่ใช่ที่การรักษา” ดังนั้น เรามารู้วิธีป้องกัน กันดีกว่าค่ะ
5.1) ศึกษาข้อมูลของเส้นทางที่จะเทรค
ในเรื่องระดับความสูงของแต่ละจุด แต่ละวัน เพื่อวางแผนการเดินให้เหมาะสม ดูว่าวันไหนที่ต้องให้ความระมัดระวังเรื่อง ภาวะแพ้ความสูง หรือ อาการแพ้ความสูง นี้ มากขึ้นเป็นพิเศษ จะได้เดินช้าๆ ออกเช้าๆ ไม่เร่งรีบ, คอยสังเกตอาการ และ เตรียมพร้อมรับมือ กับอาการที่อาจเกิดขึ้นได้ ในช่วงนั้นๆ
5.2) ไม่ควรไต่ระดับความสูงเกิน 500 เมตรต่อวัน
ห้ามเดินขึ้นไปยังที่ๆ มีความสูงแตกต่างกันมากกว่า 500 เมตรต่อวัน เพราะร่างกายต้องการเวลาในการปรับตัว
เช่น หากเริ่มเดินจากที่สูง 2,600 เมตร จุดหมายปลายทางของวันนี้ก็ไม่ควรจะสูงกว่า 3,100 เมตร เป็นต้น แต่หลายครั้งเราก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ตัวอย่างเช่น หมู่บ้านที่เป็นปลายทางของวันนี้นั้นสูง 3,330 เมตร สูงกว่า 3,100 เมตร ทั้งยังไม่มีหมู่บ้านระหว่างทาง ในกรณีนี้คือ หลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็ไปปฏิบัติตัวตามข้ออื่นๆ เอาค่ะ เช่น พักผ่อนให้เพียงพอ, ค่อยๆ เดิน, ดื่มน้ำมากๆ และ ทานอาหารให้ครบ 3 มื้อ เป็นต้น โดยที่ระหว่างเดินก็ค่อยๆ เดิน และ สังเกตอาการตัวเองอยู่ตลอดเวลา หากเห็นว่า ท่าไม่ดี ก็ให้รีบเดินลงทันทีนะคะ
5.3) เดินขึ้นไปยังที่ๆ สูงกว่าที่นอน และ อยู่บนนั้นสักพัก
การเดินขึ้นไปยังที่ๆ สูงกว่า แล้วอยู่บนนั้นสักพัก อย่างน้อย 20 – 30 นาที หรือมากกว่านี้หากเป็นไปได้ เพื่อให้ร่างกายปรับตัว แล้วเดินกลับลงมานอนค้างคืนในที่ๆ ต่ำกว่า เป็นอีกวิธีที่ช่วยให้ร่างกายทำการปรับตัวได้ดียิ่งขึ้น
เช่น บนเส้นทาง Manaslu Circuit เมื่อไปถึง Samdo 3,880 เมตร ซึ่งจะค้างคืนที่นี่ (หลังการพักผ่อนสักพัก) จึงไปทำการเดินเล่นโดยเดินขึ้นเขาที่ใกล้ๆ กัน อาจจะเป็น samdo hill หรือเดินขึ้นไปยังเขตชายแดน tibet border ซึ่งมีทางเดินชัดเจน ที่สูงมากกว่า 4,000 เมตร เพื่อขึ้นไปชมทิวทัศน์รอบๆ พักผ่อน ทานขนมเพลินๆ สักชั่วโมง เพื่อช่วยร่างกายในการปรับตัวให้เข้ากับสภาพอากาศในเขตที่สูง แล้วกลับลงมาที่ Samdo เช่นเดิม เป็นต้น
5.4) คืนที่ 4 นอนที่สูงๆ, คืนที่ 5 เดินลงที่ต่ำกว่า, คืนที่ 6 เดินขึ้นไปนอนที่ๆ สูงกว่าคืนที่ 4 (ความสูงสลับกันเหมือนฟันปลา)
หากสามารถวางแผนการเดินได้แบบนี้ จะยิ่งช่วยให้ร่างกายปรับตัวได้ดีมากยิ่งขึ้นค่ะ
เช่น บนเส้นทาง Mohare + Khopra Trek คืนที่ 3 เรานอนที่ Mohare Danda 3,300 เมตร, คืนที่ 4 เดินลงไป Swanta 2,248 เมตร แล้วคืนที่ 5 เดินขึ้นไป Chistabang 3,004 เมตร แล้วพักทานอาหารกลางวันที่นี่ จากนั้นค่อยๆ เดินต่อไป Khopra Danda 3,660 เมตร เป็นต้น
5.5) เดินช้าๆ หยุดกิจกรรมต่างๆ ที่ต้องเคลื่อนไหวเร็ว เช่น วิ่ง, ออกกำลังกาย หรือ เทรคแข่งกัน
ห้ามวิ่ง หรือ เดินเร็วเกินไป หากกำลังเดินขึ้นที่สูงที่สูงกว่า 2,500 เมตร (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่สูงกว่า 3,000 เมตรขึ้นไป) เพราะร่างกายต้องการเวลา ในการปรับตัวให้คุ้นชินกับ ภาวะที่มีปริมาณออกซิเจนน้อย ที่เรียกว่า “acclimatization” จึงควรเดินช้าๆ เพื่อให้เวลา และ ช่วยให้ร่างกายค่อยๆ ปรับตัวให้ได้เอง ให้คุ้นชินกับสภาพอากาศ ณ ขณะนั้นๆ

5.6) ดื่ม(จิบ)น้ำตลอดเวลา อย่ารอให้หิวน้ำก่อนแล้วค่อยดื่ม
ควรดื่มน้ำให้บ่อย และ มาก อย่าให้มีภาวะขาดน้ำ (dehydration) โดยสังเกตได้จาก สีของปัสสาวะ ถ้ามีสีเหลือง จนถึง เหลืองเข้ม นั่นหมายความว่า มีภาวะขาดน้ำ ยิ่งเหลืองเข้ม ยิ่งเสี่ยงต่อการเกิด AMS สูง ดังนั้น ควรดื่มน้ำบ่อยๆ และ มาก ดื่มทั้งๆ ที่ยังไม่มีหิวน้ำ โปรดอย่ารอให้มีอาการหิวน้ำก่อน แล้วจึงดื่ม เพราะการหิวน้ำนั้น คืออาการนำ ที่บ่งบอกว่าร่างกายกำลังจะเข้าสู่ภาวะขาดน้ำแล้ว นั่นเองค่ะ
ข้อควรรู้
นี่คือเหตุผล ที่หลายท่านเคยได้ยินว่า “ซุปกระเทียม ช่วยลดความเสี่ยงการเกิด อาการแพ้ความสูง” ที่เป็นซุปกระเทียม เพราะเป็นซุปที่มีแต่น้ำล้วนๆ เต็มๆ ชามยังไงล่ะคะ ทั้งกระเทียมยังมีประโยชน์มากๆ อีกด้วย หากใครไม่ชอบกระเทียม ทานซุปอื่นๆ ก็ได้ค่ะ หรือจะเลือกดื่มน้ำบ่อยๆ ทั้งวันเลยก็ยังได้
คำแนะนำ
การดื่มน้ำเปล่า และ น้ำที่เย็นจัด บนเขาสูงที่มีอากาศหนาวเย็นนั้น ยากมาก หยกเข้าใจดีค่ะ แนะนำให้พกเกลือแร่ผง ไปผสมน้ำเพื่อดื่ม เพื่อให้น้ำมีรสชาติ และ ดื่มง่ายขึ้น (อย่าดื่มเกลือแร่ เกินปกติที่กำหนดให้ดื่มต่อวันนะคะ)
5.7) ทำตัวให้มีสุขภาพสมบูรณ์ดี แข็งแรงให้มากที่สุด และ ไม่เครียด
ทานอาหารให้ครบ 3 มื้อ, พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ, ไม่เครียด, ไม่สูบบุหรี่ และไม่ควรดื่มแอกอฮอล์ เพราะยังไม่มีใครทราบถึงกลไลการเกิด AMS ที่แท้จริง การปฏิบัติตัวเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงเล็กๆ น้อยๆ ที่มีผลต่อประสิทธิภาพของร่างกายจึงเป็นสิ่งที่ควรทำค่ะ
5.8) หากมีอาการปวดหัวอ่อนๆ หรือ วิงเวียนนิดๆ อย่าคิดว่าอาการแค่นี้เอง เด็ดขาด!
หากมีอาการที่เดาว่า อาจเป็นอาการของ ภาวะแพ้ความสูง หรือ อาการแพ้ความสูง แบบอ่อนๆ เช่น ปวดหัวแบบอ่อนๆ, วิงเวียน, คลื่นไส้, เหนื่อยง่าย, ไม่อยากอาหาร, พอตกกลางคืนแล้วนอนไม่หลับ หรือ รู้สึกแปลกๆ ให้แจ้งเพื่อนร่วมเดินทาง และ ไกด์ทราบทันที
“อย่าคิดว่าอาการเล็กน้อยแค่นี้เอง ไม่จำเป็นต้องบอกใครให้รู้ ให้วุ่นวาย ทานยาแก้ปวด เดี๋ยวก็หาย”
โปรดอย่าลืมว่า… “AMS ง่ายที่การป้องกัน ไม่ใช่ที่การรักษา”
พึงระลึกอยู่เสมอว่า อาการแพ้ความสูง นั้น สามารถนำไปสู่อาการที่รุนแรงขึ้น และ นำไปสู่การเสียชีวิตได้ภายในระยะเวลาอันสั้นนะคะ
ดังนั้น แจ้งกันให้ทราบแต่เนิ่นๆ จะได้ช่วยกันดูแล และ ป้องกันค่ะ อย่ารอให้อาการมากขึ้น แล้วค่อยบอกค่อยแจ้งกันนะคะ อาจสายเกินการป้องกัน
5.9) หากเริ่มมีอาการอ่อนๆ เช่น ปวดหัวคล้าย hangover แนะนำให้ทานยาบรรเทาปวด
เมื่อเข้าเขตพื้นที่สูงที่มีความเสี่ยงเกิด ภาวะแพ้ความสูง แล้วเริ่มมีอาการอ่อนๆ เช่น ปวดหัวคล้าย hangover แนะนําให้พิจารณาทานยาบรรเทาปวด ไอบูโฟรเฟน อย่ารอให้ อาการปวดหัวมากขึ้นๆ จนยาบรรเทาปวดเอาไม่อยู่ จนมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย และ กลายเป็นอาการที่ รุนแรงขึ้นนะคะ
คำแนะนำ
โปรดใช้ช่วงเวลาที่อาการดีขึ้นจากฤทธิ์ยา ในการดูแลรักษาตัวเอง ให้หายขาดจากอาการที่มี แต่ก็อย่าพึ่งนิ่งนอนใจ หากอาการหายไปแล้ว เพราะ อาการ AMS สามารถเกิดขึ้นใหม่ได้ แต่ควรดูแลตัวเองให้ดี ให้แข็งแรง และหมั่นสังเกตอาการตัวเองอยู่เรื่อยๆ นะคะ
5.10) แต่… เมื่อทานยาบรรเทาปวด ยิ่งต้องระวังมากยิ่งขึ้น
ควรระมัดระวัง หากทานยาบรรเทาปวด เพราะอาการที่หายไปหรือดีขึ้นนั้น อาจเป็นเพราะฤทธิ์ของยาบรรเทาปวด ไม่ใช่อาการที่ดีขึ้นจริงค่ะ ทั้งอาการนั้นๆ อาจกลับมาได้เมื่อฤทธิ์ของยาหมดลง จึงควรใช้ประโยชน์ระหว่างที่อาการดีขึ้นเพราะฤทธิ์ยา ในการดูแลตัวเองให้ดี ให้มากขึ้นเป็นพิเศษ โดยการค่อยๆ เดิน, ดื่มน้ำมากๆ บ่อยๆ, ทานอาหารให้ครบ 3 มื้อ, นอนหลับพักผ่อนให้เต็มที่ และ ยังคงหมั่นสังเกตอาการต่อไป นะคะ
5.11) หากอาการไม่ดีขึ้น รุนแรงขึ้น take action ทันที
หากเกิดอาการอ่อนๆ ให้ดูแลตัวเองดีๆ, ค่อยๆ เดิน, ดื่มน้ำมากๆ บ่อยๆ, ทานอาหารเมื่อถึงเวลาที่ต้องทาน และ คอยสังเกตว่าอาการเหล่านั้นดีขึ้น หรือ แย่ลง
หากไม่มีท่าทีว่าอาการจะดีขึ้น แต่กลับแย่ลง จนถึงกับมีอาการอื่นๆ ร่วม เช่น ปวดหัวรุนแรง, ไม่อยากอาหาร, นอนไม่ได้, เหนื่อยมากๆ ทั้งๆ ที่ไม่ได้ทำอะไร, ซึมลง, เดินเซ, สับสน, หายใจลำบาก, แน่นหน้าอก หรือ อาเจียน เป็นต้น ให้รีบเดินลงไปยังที่ๆ ต่ำกว่าทันที และ ห้ามเดินลงคนเดียว นะคะ
หากคิดว่าไม่ไหวจริงๆ แบบที่มีอาการหายใจลำบากมากๆ หรือ หมดสติไป ควรเรียกเฮลิคอปเตอร์กู้ภัยมารับไปโรงพยาบาลเลยค่ะ

5.12) โปรดอย่าชะล่าใจเป็นอันขาด
อย่าชะล่าใจหากไม่มีอาการใดๆ หรือ มีอาการแต่น้อยมากๆ เพราะ อาการแพ้ความสูง เหล่านี้ อาจจะไม่ได้เกิดขึ้นทันทีระหว่างที่กำลังเดิน หรือ เมื่อเดินถึงจุดหมายแล้ว แต่เกิดขึ้นหลังจากการขึ้นที่สูงไปแล้ว 6 – 24 ชั่วโมง ก็ได้นะคะ ดังนั้นแล้ว สิ่งที่สำคัญก็คือ หมั่นสังเกตการเปลี่ยนแปลง และ ความรู้สึกเล็กๆ น้อยๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ทั้งกับตัวเอง, เพื่อนร่วมเดินทาง หรือแม้กระทั่ง กับไกด์และลูกหาบ (คงไม่มีใครอยากที่จะล้มทริป เพราะไกด์ป่วย หรือต้องช่วยกันแบกของเอง เพราะลูกหาบป่วย ซึ่งคงไม่ดีแน่เลยนะคะ)
5.13) Diamox (acetazolamide)
ปัจจุบัน ยังไม่มียาใดรักษา AMS ได้โดยตรง แต่มียาที่ใช้ได้ประสิทธิภาพมากที่สุด ที่พอจะทุเลาอาการได้ คือ diamox แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ถึงขนาดยา, วิธีการทานยาที่ถูกต้อง, ข้อห้าม และ ผลข้างเคียง นะคะ
หยกขอไม่ลงรายละเอียดเกี่ยวกับยานะคะ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์จะดีที่สุดค่ะ
มองหาทริปลุยๆ มันส์ๆ + ไกด์หญิงคนไทย ? เนปาล? ทาจิกิสถาน? คีร์กีซสถาน? จอร์แดน? ศรีลังกา?
หยกจัดทริปแล้วค่ะ ปี 2565 สนใจทริปไหน คลิ๊กอ่านเพิ่มเติมที่ภาพได้เลยค่ะ ไปผจญภัยกัน!
5.14) โรคปอดและหัวใจ
ผู้ที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับปอดและหัวใจ มีคำเตือนว่า ไม่แนะนำให้ทำการท่องเที่ยวเดินทางในเขตพื้นที่สูงๆ ที่เสี่ยงต่อการเกิด AMS ทั้งนี้ อาจมีข้อยกเว้น และ การดูแลรักษาตัวได้ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อรับคำแนะนำที่ถูกต้องค่ะ
5.15) คนทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ทุกความแข็งแรง สามารถเกิดหรือไม่เกิด AMS ก็ได้
ความสามารถของร่างกาย ในการปรับตัวให้เข้ากับสภาพอากาศในเขตพื้นที่สูงของแต่ละคนนั้น แตกต่างกัน ทั้งการดูแลตัวเอง และ การปฏิบัติตัวระหว่างเทรค เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิด อาการแพ้ความสูง นั้น ก็แตกต่างกัน หากเพื่อนร่วมเดินทางที่แข็งแรงน้อยกว่าไม่มีอาการใดๆ นั่นไม่ได้หมายความว่า คุณจะไม่มีอาการด้วยนะคะ
5.16) จงมีสติ และ อย่ากลัว
ถึงแม้ ภาวะแพ้ความสูง นี้ จะสามารถนำไปสู่อาการที่รุนแรง จนถึงขั้นเสียชีวิตได้ แต่หากเรารู้ทันท่วงที มีการเตรียมตัวที่ดี ที่พร้อม และ ถูกวิธีแล้ว ก็สามารถป้องกันไม่ให้เกิดอาการ หรือ รักษาได้ เมื่อเริ่มมีอาการอ่อนๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการมีอาการที่แย่ลง และ รุนแรงขึ้น
5.17) ไม่เคยมี อาการ AMS ไม่ได้หมายความว่า AMS จะไม่เกิด
หากใครเคยมีประสบการณ์เดินทางท่องเที่ยวในเขตพื้นที่สูงมาก่อน แต่ไม่มีอาการ ก็ไม่ได้หมายความว่า จะไม่มีความเสี่ยงของการเกิด AMS ในการเดินทางครั้งถัดไปนะคะ

6. กฎหลักควรจำ 9 ข้อ เพื่อป้องกัน กรณียังไม่มีอาการ
- เมื่อเข้าเขตพื้นที่สูง 2,500 เมตรขึ้นไป ให้เดินช้าๆ ห้ามเดินเร็วหรือวิ่ง
- ไม่ควรเดินขึ้นไปยังที่ๆ มีความสูงแตกต่างกันมากกว่า 500 เมตรต่อวัน
- ดื่มน้ำให้บ่อยและมาก, ทานอาหารให้ครบทุกมื้อ และ พักผ่อนให้เพียงพอ
- หมั่นสังเกตอาการอยู่ตลอดเวลา ถึงแม้จะยังไม่มีอาการก็ตาม
- แจ้งเพื่อนร่วมเดินทางทันทีที่มีอาการ ถึงแม้แค่ปวดหัวอ่อนๆ เพื่อให้ช่วยกันสังเกตอาการ และป้องกันไม่ให้เกิดอาการที่รุนแรงขึ้น
- หากเคยขึ้นที่สูงมากกว่า 2,500 เมตรมาแล้ว และไม่มีอาการ AMS ไม่ได้หมายความว่า การเทรคครั้งนี้จะยังคงไม่มีอาการ AMS
- หลีกเลี่ยงการบิน หรือ ขี่ม้า ไปยังที่สูงโดยตรงในระยะเวลาอันสั้น
- หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่
- หากคิดว่าอาจต้องทานยา diamox แนะนำปรึกษาแพทย์ถึงขนาดยา, วิธีการทานยาที่ถูกต้อง, ข้อห้าม และทราบถึงผลข้างเคียงของยา
ท่องให้ขึ้นใจ และทำให้ได้ “กินให้อิ่ม นอนให้หลับ ดื่มนํ้าให้บ่อย และ ไม่เร่งรีบ”
7. กฎหลักควรจำ 7 ข้อ เมื่อเริ่มมีอาการ
- พึงระลึกอยู่เสมอว่า อาการ AMS สามารถนำไปสู่การเสียชีวิตได้ภายในระยะเวลาแค่ไม่กี่ชั่วโมง
- หากเริ่มมีอาการ แล้ววันถัดมายังไม่มีท่าทีว่าจะดีขึ้น ให้พยายามดื่มน้ำให้บ่อยให้มาก ทานอาหารให้ครบทั้ง 3 มื้อ และ พักผ่อนให้เพียงพอ
- หากอาการยังไม่ดีขึ้นอีก ไม่ควรเดินต่อ ให้หยุดพักเพื่อค้างแรมที่นี่ ดูแลตัวเองให้ดี (เช่น ดื่มน้ำบ่อยๆ มากๆ และทานอาหาร 3 มื้อ) และหมั่นสังเกตอาการ อย่างน้อย 24 – 48 ชั่วโมง
- อาการไม่ทุเลา และเริ่มมีอาการที่แย่ลง ให้เดินลงไปยังที่ต่ำกว่าอย่างน้อย 500 เมตร ทันที! ห้ามรอ! หากเกรงใจเพื่อนร่วมทาง กลับไปอ่าน ข้อ 1
- กรณีทานยาบรรเทาปวด ให้พึงระวัง และ ยังคงหมั่นสังเกตอาการให้มากขึ้นเป็นพิเศษ เพราะฤทธิ์ของยาอาจช่วยลดอาการปวดหัวได้ แต่ไม่ได้ช่วยรักษา อาการแพ้ความสูง
- หากเพื่อนร่วมเดินทาง เริ่มมีอาการที่รุนแรงขึ้น เช่น สับสนมึนงง (ทดสอบได้ด้วยการถามคำถาม เช่น เกิดวันที่เท่าไหร่ กลับไทยวันไหน เมื่อเช้าทานอะไร เป็นต้น หากมีอาการมึนงงจะไม่สามารถตอบคำถามได้ หรือ ตอบช้ามากๆ), ปวดหัวอย่างรุนแรง, อาเจียน, แน่นหน้าอก, เหนื่อยหอบแม้ไม่ได้ทำอะไร เห็นภาพหลอน หรือ เดินเซ เป็นต้น นั่นคือ ขั้นอันตราย เสี่ยงถึงชีวิตแล้ว! อย่ารีรอ! ให้รีบพาเดินลงไปยังที่ที่ต่ำกว่าอย่างทันที! หรือ พิจารณาการเรียกเฮลิคอปเตอร์กู้ภัย! เพื่อนำส่งโรงพยาบาลอย่างเร่งด่วน
- หากอาการหายขาดอย่างสมบูรณ์ ถึงสามารถเดินต่อไปยังเขตพื้นที่ที่สูงขึ้นได้

เป็นยังไงล่ะคะ เราสามารถป้องกัน และ หลีกเลี่ยง AMS ด้วยตัวเองได้ง่ายๆ เลยใช่ไหมล่ะ ทีนี้เพื่อนๆ ก็พร้อมเทรคกิ้งมากๆ แล้ว หากไม่มีเพื่อนเทรค หรือ ไม่รู้จะเทรคเส้นทางไหน มาเทรคกับหยก ได้นะคะ ทักหยก เข้ามาได้เลยค่ะ
หากเพื่อนๆ มีคำถาม ข้อสงสัย หรือ อยากเพิ่มเติมอะไร คอมเม้นต์ที่ด้านล่างมาถามหยกได้เลยนะคะ
มีข้อสงสัย คำถาม หรือ อยากแชร์เรื่องเที่ยว คอมเม้นต์ที่ช่องนี้ได้เลยค่ะ