
เพื่อนๆ หลายท่านก็คงมีความฝันที่อยากจะเทรคเส้นทางนี้เช่นกัน และ ก็คงไม่แน่ใจว่า “เตรียมตัวไป Annapurna Circuit Trek ยังไง? จะเทรคได้ไหม? จะยากหรือเปล่า? Thorong La Pass ยากแค่ไหน ยากจริงไหม? ต้องเตรียมตัวขนาดไหน? ต้องฟิตมากไหม? อุปกรณ์กันหนาวต้องเตรียมไปขนาดไหน? ไปช่วงไหนดี? สภาพอากาศ Annapurna Circuit เป็นยังไง? แล้วจะเจอ AMS ไหมน้า? ทำไมบางคนเรียก Apple Pie Trail ละ?” และอีกมากมายหลากหลายความกังวล ที่หยกจะมีคำตอบ มาช่วยไขข้อข้องใจต่างๆ ให้กับเพื่อนๆ ที่ด้านล่างนี้เลยค่ะ
ปล. รูปภาพเยอะมากๆ นะคะ แต่ข้อมูลที่มีก็ละเอียดและเยอะมากเช่นกันค่ะ จบเทรคนี้แล้ว หยกไปเทรคต่อที่ EBC + Kalapatthar ค่ะ (คลิกอ่านได้ที่ลิ้งค์นะคะ สนุกมาๆ และรูปก็เยอะมากๆ อีกเช่นกันค่ะ)
หยกมีความฝันที่อยากจะเทรคบนเส้นทาง Annapurna Circuit Trek หรือ Apple Pie Trail มานานมาก ๆ แล้วค่ะ ยิ่งได้ยินชื่อของ Thorong La Pass ที่สูงกว่า 5,416 m ที่เค้าลือกันว่ายาก ว่าสวยสุดๆ นี่ยิ่งกระชุ่มกระชวยค่ะ แต่ “สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น สิบตาเห็นไม่เท่าลงมือทำ” หยกจึงอยากจะไปลองสักครั้ง ดูสิว่าสวยจริงอย่างที่ใครๆ เค้าว่ากันไหม!
ไหนเค้ายังจะลือกันอีกว่า หากไปเทรค Annapurna Circuit แล้วต้องห้ามพลาด หาเวลาเทรคไปต่อที่ Tilicho Lake ทะเลสาบที่เค้าลือกันว่า สวยงามมากๆๆ และ อาจจะถือว่าเป็นไฮไลท์ของเส้นทางนี้เลยก็ว่าได้ แล้วทำไมเค้าเรียกเส้นทางนี้ว่า Apple Pie Trail คืออะไร จะมี apple pie ให้กินบนเขาจริงๆ เหรอ (หยกชอบ apple pie มากๆ ค่ะ) ทำให้ต่อมอยากเทรคทำงานหนักขึ้นค่ะ ประกอบกับช่วงที่หยกเลือกมานั้น ยังอยู่ในช่วงการระบาดของโรคโควิด คือ ปลายเดือนตุลาคม – เดือนพฤศจิกายน 2564 ซึ่งคนน้อยมากๆๆๆๆ ค่ะ (เส้นทางนี้ปกติคนแน่นมากๆ ขนาดที่ว่า หากไม่ได้จองที่พักบนเขาล่วงหน้า ก็อาจจะได้นอนในห้องทานอาหารเลยนะคะ)





ทำไมได้ตัดสินใจเดินทางมาเนปาล ระหว่างช่วงโรคระบาด
หยกเดินทางเข้าเนปาล จากอเมริกา ค่ะ เป็นการตัดสินใจแบบกะทันหันมากๆ เพราะ
- ความที่กำลังแพลนทริปหาที่ใหม่ไป ก่อนวีซ่าจะหมด*
- เข้าฤดูเทรคกิ้งที่เนปาลพอดี
- เนปาลก็เปิดประเทศให้ท่องเที่ยวได้แล้ว
- พึ่งเริ่มให้ทำการขอ visa on arrival ได้ค่ะ
- มีกฎเกณฑ์ที่ไม่ยากนัก คือ กำหนดให้มีการกักตัวเอง 10 วัน
- ทั้งมีตั๋วไปกลับจากอเมริกาที่ถูกมากๆ
- ประกอบกับความคิดถึงเนปาลสุดฤทธิ์
- และนี่คงจะเป็นโอกาสที่หายากนักของการมาเทรคกิ้งในเนปาล ที่แทบจะไม่มีนักท่องเที่ยวเลย ตื่นเต้นนน
- แต่หลังจากซื้อตั๋วไป 1 สัปดาห์ ทางเนปาลก็ได้แจ้งข้อยกเว้นสำหรับคนที่ฉีดวัคซีนครบโดส เกิน 14 วันแล้ว ว่าไม่ต้องมีการกักตัวค่ะ ยิ้มแก้มปริเลยสิคะทีนี้


*วีซ่าท่องเที่ยวอเมริกา อยู่ได้ครั้งละ 6 เดือนค่ะ นี่เข้าเดือนที่ 4 แล้ว จึงกำลังวางแผนค่ะว่าไปไหนต่อดี หากถามว่าทำไมไม่กลับไทย กฎเกณฑ์การเข้าไทยในตอนนั้น ต้องกักตัวที่โรงแรม 14 วัน ซึ่งค่าใช้จ่ายไม่น้อยเลยค่ะ กับการที่ต้องอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมเฉยๆ ตลอดเวลา 14 วัน คนแอคทีฟและเลือกที่จะใช้เงิน(เอาไปเที่ยวดีกว่า)อย่างหยก ขอเลือกที่จะเอาเงินส่วนนั้นไปทำอะไรที่แอคทีฟ เอ้าท์ดอร์ดีกว่าค่ะ แล้วค่อยเลือกที่จะกลับไทยตอนที่ไม่มีการกักตัวแล้ว
แต่ถึงแม้ ที่เนปาลไม่มีการกักตัวแล้ว หยกก็ไม่นิ่งนอนใจค่ะ ไม่อยากสร้างปัญหาให้ชาวบ้านบนเขา หยกจึงอยู่แต่ในทาเมล 10 กว่าวันค่ะ ไม่ได้ไปเที่ยวที่ไหน ใส่หน้ากากตลอดเวลา แอลกอฮอล์มือบ่อยๆ และล้างมือเมื่อมีโอกาสอยู่เสมอนะคะ





แล้วการเทรคกิ้งที่นานที่สุดที่หยกเคยเทรคมา 37 วัน (เดิน 36 วัน) ก็จบลงได้ด้วยดี กับระยะทาง 413.9 km (ข้อมูลจาก Garmin ที่พกไปด้วยค่ะ ไปค่ะ หยกจะเล่าให้ฟังเองค่ะ ตามหัวข้อต่อไปนี้นะคะ
- การ เตรียมตัวไป Annapurna Circuit Trek ยังไง? เตรียมตัวทางร่างกาย เตรียมของ เตรียมใจ ก่อนเทรค
- เนปาล ในเมือง และ บนเขา ในวันที่เงียบเหงาเป็นอย่างไร? เทรคกิ้งช่วงโควิดเป็นยังไง?
- วางแผนเทรค Annapurna Circuit กี่วัน? เทรคเส้นไหน? ไปไหนบ้าง? เป็นไปตามแผนที่วางไว้ไหม?
- ระดับความยากง่าย, Apple Pie Trail คืออะไร,รายละเอียดหลักของเส้นทางนี้ และ มีน้ำอาบ, ไวไฟ, ที่ชาร์จไหม?
- สภาพอากาศ Annapurna Circuit เป็นอย่างไร? เทรคช่วงไหนดีที่สุด?
- Tilicho Lake อยู่ที่ไหน? สวยไหม? ไปยากเปล่า?
- Thorong La Pass ยากแค่ไหน ยากจริงไหม? และ วิธีการที่จะช่วยให้การข้าม Thorong La Pass 5416 m ไม่ยากอย่างที่ควรจะเป็น
- ต้องเจอเมนูอาหารเดิมๆ 37 วัน ทานอาหารเดิมๆ เบื่ออาหารไหม?
- มือใหม่สามารถเริ่มเทรคบนเส้นทางนี้ เลยได้ไหม?
- แนะนำที่พัก ใน ทาเมล กาฐมาณฑุ และ โพคารา
หยกจัดทริปพาเทรคบนเส้นทาง Annapurna Circuit + Tilicho Lake 17 วัน ด้วยนะคะ อ่านรายละเอียดทริปเพิ่มเติมที่ลิ้งค์ได้เลยค่ะ
พร้อมแล้ว ก็ไปเทรคด้วยกันเลยค่ะ





มองหาทริปลุยๆ มันส์ๆ + ไกด์หญิงคนไทย ? เนปาล? ทาจิกิสถาน? คีร์กีซสถาน? จอร์แดน? ศรีลังกา?
หยกจัดทริปแล้วค่ะ ปี 2565 สนใจทริปไหน คลิ๊กอ่านเพิ่มเติมที่ภาพได้เลยค่ะ ไปผจญภัยกัน!





1. การ เตรียมตัวไป Annapurna Circuit Trek ทั้งการเตรียมตัวทางร่างกาย เตรียมของ เตรียมใจ
เทรคกิ้ง ไม่ใช่รูปแบบการท่องเที่ยวที่สบายนะคะ แต่เป็นรูปแบบการท่องเที่ยวแบบลุยๆ ที่ผสมผสานการเดินทางท่องเที่ยวกับการออกกำลังกายเข้าด้วยกัน ดังนั้นแล้ว การออกกำลังกายเพื่อเตรียมตัวก่อนไปเทรค จะช่วยให้ทริปสนุกขึ้นได้เยอะเลยค่ะ ทั้งยังจะรู้สึกเหนื่อยและทรมานน้อยลงด้วยนะคะ
ถึงแม้ว่าหยกจะมีประสบการณ์เทรคกิ้งเยอะ และเทรคมาแล้วหลายเส้นทาง และ ในหลายประเทศ อย่างในเนปาล ก็มี Poon Hill, Mardi Himal, Mohare + Khopra, Manaslu Circuit + Tsum Valley, Langtang และ Gosaikunda ค่ะ (ซึ่งหลังจากหยกเทรค Annapurna Circuit + Tilocho Lake ) ส่วนในประเทศอื่นๆ เอาชื่อประเทศแล้วกันนะคะ เช่น คีร์กีซสถาน, ทาจิกิสถาน, อิตาลี, สโลวีเนีย, อเมริกา และ ศรีลังกา เป็นต้น
แต่… การมาเทรคกิ้งที่เนปาลครั้งนี้ จะมีการเริ่มต้นที่ไม่เหมือนครั้งอื่นๆ ค่ะ เพราะครั้งนี้จะเป็นการท่องเที่ยวแบบจริงๆ จังๆ ครั้งแรกหลังจากโควิดระบาด ซึ่งช่วงที่โควิดระบาดนั้น หยกแทบจะไม่ได้ออกกำลังกาย ไม่ได้ไปไหน นอกจากไปซื้อเสบียงมาทำอาหารทานเอง ชีวิตประจำวันหลักๆ คือ กิน กับ นอน ซึ่งแน่นอนว่าร่างกายหยกตอนนี้คือไม่มีความพร้อมใดๆ สำหรับการเทรคกิ้งเลยค่ะ (ไม่แนะนำนะคะ)





1.1. การเตรียมตัวทางร่างกาย
- หยกจึงจะไม่ได้เตรียมพร้อมด้วยการออกกำลังกายล่วงหน้า แต่อาศัยบุญเก่า ที่เป็นคนชอบเดินเยอะๆ อยู่แล้ว หยกอยู่อเมริกา ก่อนไปเนปาลค่ะ ซึ่งไม่มีรถค่ะ การเดินทางไปไหนมาไหน ซื้อของต่างๆ ที่อยู่ในรัศมี 5 กิโล หยกจะใช้การเดิน เดินไปซื้ออย่างเดียวค่ะ หรือหากต้องไปไกลกว่านั้น ขาไปจะเดินไปค่ะ ส่วนขากลับจะนั่งรถเมล์กลับค่ะ
- ให้ลูกหาบช่วยแบกสัมภาระค่ะ ปกติหากหยกไปเทรคเอง หยกจะแบกของเองค่ะ แต่รอบนี้ กล้ามเนื้อนุ่มนิ่มมาก 55+ จึงต้องหาตัวช่วย + หางานให้ลูกหาบทำด้วยค่ะ (ตอนเจอกัน เค้าดีใจมากๆ ที่ได้ทำงานลูกหาบอีกครั้ง หลังจากที่ไม่ได้ทำงานมาปีกว่าๆ แล้ว)
1.2. การเตรียมของ
- การเตรียมของนั้นสบายค่ะ หยกมีอุปกรณ์ครบอยู่แล้ว
- แต่ก็แอบหวั่นๆ เพราะไม่ได้เทรคนาน หวั่นว่าจะลืมอะไรไหม มองข้ามอะไรหรือเปล่า และที่สำคัญคือจะเอาของที่ไม่จำเป็นไปด้วยเยอะเกินไป เหมือนช่วงเริ่มเทรคแรกๆ ไหม 55+ เพราะหากเอาไปแล้วไม่ได้ใช้นี่ สงสารพี่ลูกหาบค่ะ แบกของหนักเปล่าๆ
- ซื้อประกันการเดินทางที่ครอบคลุมการเทรคกิ้งบนเขาสูง ที่เนปาล และ ยังครอบคลุมค่ารักษาพยาบาลกรณีติดโควิด





1.3. การเตรียมใจ
- อันนี้ยิ่งง่ายไปใหญ่ค่ะ ไม่ต้องเตรียมอะไรมากเลย เพราะใจนี่พร้อมมากกก คิดถึงเนปาลและอยากเทรคมากๆๆ ค่ะ ทั้งการเทรคครั้งนี้ จะเป็นโอกาสที่หายากๆ มากๆ เพราะคนจะน้อยสุดๆ บรรยากาศและประสบการณ์ที่ได้น่าจะแตกต่างไปจากการมาเทรคช่วงที่ไม่มีโรคระบาดแน่นอนค่ะ
- แต่ก็มีแอบเตรียมใจไว้ หากต้องหยุดเทรคกลางคัน เพราะร่างกายที่ไม่พร้อม (หยกจึงวางแผนเดินแบบชิวสุดๆ ค่ะ)
เนื่องจากหยกไม่ได้เตรียมตัวทางร่างกายมาดีนัก แต่มีการ เตรียมตัวไป Annapurna Circuit อย่างดี โดยปกติแล้วหยกจะออกแบบเส้นทางเดินเอง และ ไม่มีไกด์ ค่ะ ครั้งนี้หยกจึงเลือกที่จะเทรคแบบชิวมากหน่อย ทั้งหยกมีเวลา เลยไม่ต้องห่วงเรื่องเวลา แต่ก็มีปัจจัยที่ต้องระลึกไว้ตลอดเวลา คือ
- เลือกวางแผนการเทรคแบบยืดหยุ่นค่ะ เตรียมวันเดินให้เกินพอ (กะประมาณวันกับพี่ลูกหาบไว้) เผื่อเหนื่อย เผื่อเดินไม่ไหว 55+ ก็ไม่ได้เดินนานนี่เนอะ แถมไม่ได้ออกกำลังกายมาอีก (นี่เป็นตัวอย่างที่ไม่ดีมากๆ หยกไม่แนะนำสำหรับมือใหม่นะคะ ควรออกกำลังกายก่อนมาเทรคกิ้งค่ะ)
- มีใจที่พร้อมเสมอ หากต้องเดินนานกว่าแผนที่วางไว้ในวันนั้นๆ กรณีไม่มีที่พัก ไม่ใช่เพราะเต็มนะคะ แต่เพราะที่พักปิด เหตุจากโควิดที่ไม่มีนักท่องเที่ยวค่ะ ซึ่งถึงเวลาจริง ที่พักปิดไปเยอะเลยค่ะ (แบบ 30 – 80% เลยนะคะ)
- เตรียมพร้อมเสมอ หากต้องอดมื้อเที่ยง เพราะไม่ทราบเลยว่า หมู่บ้านต่างๆ ที่จะเดินผ่านไปนั้น จะมีที่พักเปิดไหม (ไม่มีที่พัก ก็ไม่มีร้านอาหารค่ะ)
- เตรียมขนมไปเยอะหน่อย เพราะไม่แน่ใจว่าบนเขาจะมีของขายไหม อีกทั้งหยกแพลนเทรคนานค่ะ 40 – 45 วัน ขนมจึงเป็นของสำคัญมากๆ ค่ะ
- ที่สำคัญ ไม่จดต่อกับ ความคิดที่ว่า Thorong La Pass ยากแค่ไหน ยากจริงไหม?





2. เนปาล ในเมือง และ บนเขา ในวันที่เงียบเหงาเป็นอย่างไร? เทรคกิ้งช่วงโควิดเป็นยังไง?
2.1. เนปาล ในเมือง ในวันที่เงียบเหงาเป็นอย่างไร?
ทาเมล เงียบมากๆ ค่ะ หยกเดินทางเข้าเนปาล ถึงช่วงกลางๆ ตุลาคม 2564 ซึ่งปกติช่วงนี้นักท่องเที่ยวจะแน่นมากๆ ร้านรวงเปิดแน่น ถนนเต็มไปด้วยผู้คน เสียงความสนุกสนานครึกครื้นไปหมด แต่เพราะโควิด ทาเมลในวันนี้ จึงไม่คุ้นหูคุ้นตาเลยค่ะ เงียบมากๆ ร้านรวงต่างๆ เปิดไม่ถึง 40% เลย ร้านค้าร้านอาหารที่เคยเห็นก็หายไปเยอะ จนรู้สึกใจหาย อย่างน้อยวันนี้หยกก็อยู่นี่แล้ว มาช่วยกระจายรายได้เท่าที่ช่วยได้นะคะ และคงไม่ต้องบอกเลยว่านักท่องเที่ยวจะน้อยแค่ไหน วันๆ นึง หยกเดินสวนนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่ถึง 10 คนเลยค่ะ





2.2. เนปาล บนเขา ในวันที่เงียบเหงาเป็นอย่างไร?
หยกยังไม่เคยเดินเส้นทางนี้ ก็คงไม่มีตัวเปรียบเทียบจากประสบการณ์ตรงนะคะ แต่จากข้อมูลเท่าที่ทราบมา ประกอบกับ สิ่งที่เห็นของที่พักและร้านค้าที่ปิดตัวลงไป และ จำนวนของนักท่องเที่ยวที่เจอระหว่างเทรค ในช่วง high season บนเส้นทางที่สุดจะฮิต ประกอบกับคำบอกเล่าของคนท้องถิ่นและเจ้าของที่พักบนเขา ว่า เงียบไปเยอะๆ มากๆๆๆๆ ค่ะ นานๆ จะมีนักท่องเที่ยวมาค้างที น้อยมากๆ แบบนับจำนวนได้เลยค่ะ ก็คงจะจริงอย่างที่เค้าว่านะคะ เพราะเกือบทุกๆ ที่พัก ที่หยกพักนั้นแทบจะไม่มีนักท่องเที่ยวคนอื่นๆ พักด้วยเลยค่ะ มีแต่กลุ่มหยกเท่านั้น
ทั้งๆ ที่บนเขาเค้าเตรียมพร้อมเปิดรับการท่องเที่ยวมากๆ ขนาดที่คนบนเขา(เค้าว่า)ฉีดวัคซีนกันครบโดส 100% แล้วค่ะ (ยกเว้นเด็กๆ)





2.3. เทรคกิ้งช่วงโควิดเป็นยังไง?
- ระหว่างที่อยู่บนเขานี่เหมือนโลกนี้ไม่มีโรคระบาดเกิดขึ้นเลยค่ะ ทุกอย่างดูปกติ ยกเว้นแค่คนน้อยมากๆๆๆ ร้านค้าและที่พักก็ปิดกันเยอะ คนบนเขาไม่ใส่หน้ากากกันค่ะ นอกเสียจากคนพื้นเมืองที่เดินทางมาจากเมืองที่มาเยี่ยมญาติบนเขา ถึงจะใส่หน้ากากค่ะ
- ที่พักบนเขา แต่ละหมู่บ้านนั้นมีเปิด 30 – 80%
- ร้านค้าก็เปิดประมาณ 20 – 50% ค่ะ หมู่บ้านเล็กๆ ของขายมีจำกัดและมีน้อยลง ขนมบางอย่างก็ยังขายทั้งๆ ที่หมดอายุไปตั้งแต่ปี 2019 – 2020 แล้ว ก็มีค่ะ ทำให้จะซื้อของกินแต่ละที ก็ต้องดูให้ดีเป็นพิเศษมากหน่อย
- วันๆ หยกเจอนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติน้อยมากๆ ค่ะ บางวันคือไม่เจอใครเลยนะคะ เทรคทั้งหมด 37 วัน หยกเจอนักท่องเที่ยว 180 คนถ้วนค่ะ





3. วางแผนเทรคครั้งนี้กี่วัน? เทรคเส้นไหน? ไปไหนบ้าง? เป็นไปตามแผนที่วางไว้ไหม?
3.1. วางแผนเทรคครั้งนี้กี่วัน? เทรคเส้นไหน? ไปไหนบ้าง?
โดยรวมๆ หยกวางแผนเทรคเอง ไม่มีไกด์เนปาลนะคะ โดยแพลนแบบยืดหยุ่นสุดๆ ชิวๆ เดินตามใจฉัน คร่าวๆ คือแพลนไว้ 40 – 45 วัน (แพลนเทรค 40 วัน อีก 5 วันคือเผื่อไว้ค่ะ) ค่ะ อีกอย่างคือยังไม่แน่ใจว่าช่วงแรกๆ จะเดินช้าแค่ไหน เพราะกล้ามเนื้อที่ยังไม่แข็งแรง และ พุงที่ล้นหลาม ฮ่าาา
หยกแพลน ที่จะเทรคหลายเส้นทางในเขต Annapurna โดยใช้เส้นทางหลักคือ Annapurna Circuit หยกเลือกที่จะเดินบนจุดเริ่มและจุดสิ้นสุดดั้งเดิมของ Annapurna Circuit (ก่อนที่ถนนจะเข้าถึง) โดยเริ่มเดินจาก Besisahar 760 m และสิ้นสุดที่ Phedi 1130 m กับระยะทาง 413.9 km (ข้อมูลจาก Garmin ที่พกไปด้วย) ที่พยายามเดินหลีกเลี่ยงถนนให้ได้มากที่สุด แล้วระหว่างทาง หยกก็เลือกเดิน side treks ไปยัง Tilicho Lake, Khopra, ABC และ Mardi Himal แล้ววกกลับเข้ามาจบที่ Annapurna Circuit ค่ะ
จุดไหนที่เคยไปแล้ว ก็กะจะไปอีกค่ะ อย่าง Khopra และ Mardi Himal แต่ที่ Mardi Himal ตอนที่หยกไปนั้น หิมะตกหนักค่ะ อากาศแย่มาก จึงไม่ได้ไป Mardi Himal Base Camp ครั้งนี้เลยกะว่าจะไปแก้ตัวสักหน่อย





3.2. เป็นไปตามแผนที่วางไว้ไหม?
มีทั้งตามแผนและไม่ตามแผนค่ะ ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องธรรมดาของการท่องเที่ยว และ ยิ่งถือเป็นเรื่องธรรมดาเข้าไปใหญ่สำหรับการเทรคกิ้งบนเขาสูง ที่มีปัจจัยของสภาพอากาศที่คาดการณ์ไม่ได้ เช่นครั้งนี้ 55+ ขอแค่ไม่มีใครเป็นอะไร ยังคงความคิดบวกไว้ ได้ประสบการณ์ดีๆ ความประทับใจ และ ความทรงจำดีๆ กลับมาก็คุ้มค่ามากๆ แล้วค่ะ
แหม.. พูดเหมือนผิดแผนไปเยอะ เปล่าเลยค่ะ หยกได้เทรค Annapurna Circuit, Tilicho Lake และ Khopra (Khopra ครั้งนี้เป็นรอบที่สามแล้วค่ะ) แต่ไม่ได้ไป ABC และ Mardi Himal เพราะสภาพอากาศไม่ดีค่ะ ฝนตกต่อเนื่องหลายวันเลย ถึงแม้จะรอให้อากาศกลับมาดี อยู่ 3 – 4 วันก็ตาม แต่ 3 – 4 วันที่อยู่ท่ามกลางอากาศที่หดหู่ ฝนที่ตกเกือบทั้งวัน ทั้งซักผ้าตาก 3 วันก็ยังไม่แห้ง ไหนจะอากาศที่หนาว หมอกลงจัด ทุกอย่างขาวไปหมด และก็ทำกิจกรรมอะไรไม่ได้เลย เดินเล่นรอบหมู่บ้านก็ยังไม่ได้ นอกจากกินๆ นอนๆ และก็กิน ไม่ได้ทำอะไรเลยจนเหนื่อยค่ะ ยิ่งหลังจากที่เดินมา 30 กว่าวัน ต้องมาหยุดเฉยๆ ไม่ได้ทำอะไร ทำให้กล้ามเนื้อมันเหนื่อยและล้าเหลือเกิน ก็เลยตัดสินใจ ไม่รอแล้วค่ะ เปลี่ยนแผน แล้วกลับเข้าเมืองดีกว่าค่ะ ค่อยหาโอกาสมาใหม่ก็ได้เนอะ
หยกจัดทริปพาเทรคบนเส้นทาง Annapurna Circuit + Tilicho Lake 17 วัน ด้วยนะคะ อ่านรายละเอียดทริปเพิ่มเติมที่ลิ้งค์ได้เลยค่ะ





4. ระดับความยากง่าย, Apple Pie Trail คืออะไร, รายละเอียดหลักของเส้นทางนี้ และ มีน้ำอาบ, ไวไฟ, ที่ชาร์จไหม?
4.1. ระดับความยากง่าย
ปกติเส้นทาง Annapurna Circuit นั้น มักจะเริ่มที่ Jagat, Dharapani หรือ Chame และ ลง Thorong La Pass แล้วจบเทรคที่ Muktinath, Jomsom หรือ Kalapani ค่ะ ที่มีทั้งแวะไปและไม่ไป Tilicho Lake โดยใช้เวลาเดินทั้งหมดประมาณ 14 – 17 วัน ค่ะ ไม่ได้เดินนานๆ 36 วันเหมือนที่หยกเดินนะคะ
ดังนั้น หยกขอจัดเส้นทาง Annapurna Circuit ในแบบปกติที่คนอื่นๆ เค้าเดินกัน ไว้ที่ ระดับกลางๆ ถึงท้าทายนิดๆ ด้วยเหตุผลหลายอย่างดังนี้
4.1.1. ที่หยกให้ว่า ระดับกลางๆ เพราะว่า
- มีวันที่เดินสั้นๆ แบบ 3 – 4 ชั่วโมงหลายวันเลยค่ะ และ มีวันที่เดินกลางๆ 4 – 6 ชั่วโมงแค่ไม่กี่วัน (โดยที่มีวันหนักๆ แค่วันเดียว คือวันข้ามพาสค่ะ หรือ 2 วัน หากไป Tilicho Lake)
- การ เตรียมตัวไป Annapurna Circuit นั้นไม่ยากค่ะ หากเราสามารถเตรียมตัว ทั้งทางร่างกายและอุปกรณ์ได้พร้อม ก็จะช่วยให้การเทรคกิ้งนั้นง่ายขึ้นนะคะ





4.1.2. ที่หยกให้ว่า ท้าทายนิดๆ เพราะว่า
- เส้นทางนี้เดินนาน 14 – 17 วันเลยค่ะ ถึงแม้จะมีหลายวันที่เดินสั้นๆ แต่ลองคิดดูนะคะว่า หากไม่ได้มีการเตรียมตัว เช่น ออกกำลังกายมาล่วงหน้า แล้วอยู่ๆ ต้องมาเดินบนเขาต่อเนื่องแบบ 14 – 17 วันรวดแบบนี้ เอาแค่วันแรกๆ ของการเดิน นึกภาพออกไหมคะ ว่ากล้ามเนื้อจะกรี๊ดร้องมากแค่ไหน
- Thorong La Pass นั้นสูงถึง 5416 m และวันที่เดินข้ามพาสก็สามารถใช้เวลานานมากๆ ตั้งแต่ 7 – 10 ชั่วโมง (ขึ้นกับร่างกายแต่ละคนค่ะ) โดยที่ขาขึ้น คือ ชันขึ้นอย่างเดียวจนถึงพาส ส่วนขาลงจากพาสก็ลาดลงอย่างเดียวจาก 5416 m ถึง 3678 m เลยค่ะ
ดังนั้นแล้ว เมื่อ กายพร้อม + ใจพร้อม + อุปกรณ์พร้อม ทั้งมือใหม่และมือเก่า ก็จะช่วยให้การเทรคนี้ง่ายกว่าที่คิดไว้ค่ะ





4.2. Apple Pie Trail ? และ รายละเอียดหลักของเส้นทางนี้
ทราบกันไหมคะว่า Annapurna Circuit Trek นั้น มีฉายาว่า “Apple Pie Trail” นะคะ เพราะว่าเกือบตลอดเส้นทาง เกือบทุกบ้าน เกือบทุกที่พัก จะมี homemade apple pie สุดอร่อย บนเขาสูงๆ ให้ได้ทานค่ะ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของเส้นทางนี้ ก็เขตนี้มีการปลูกแอปเปิ้ลบนเขามากมาย โดยเฉพาะที่หมู่บ้าน Kegbeni ไปถึง Marpha ที่ไม่เพียงแต่ apple pie เท่านั้น แต่ยังมี แอปเปิ้ลผลสดๆ ฉ่ำๆ กรอบๆ, แอปเปิ้ลตากแห้ง, น้ำแอปเปิ้ลคั้นสด, apple crumble และ แม้แต่ apple brandy ให้ได้ลิ้มลองด้วยนะคะ





เส้นทาง Annapurna Circuit นั้นเดินเป็นลูปค่ะ คือ เดินไปกลับคนละทาง หรือ ตลอดเส้นทางเราจะเดินไม่ซ้ำทางเดิม โดยมี Tilicho Lake 4949 m และ Khopra Danda 3660 m เป็น side trek คือ เดินออกจากลูปของ Annapurna Circuit ไปตามเส้นทางที่จะไป Tilicho Lake แล้วเดินกลับทางเดิม แล้วออกไป Khopra Danda แล้วเดินกลับทางเดิม เพื่อมาเดินต่อบนลูปบนเส้นทาง Annapurna Circuit ให้สมบูรณ์
หยกเลือกที่จะเดินตามเส้นทาง Annapurna Circuit แบบดั้งเดิมค่ะ คือ เริ่มที่ Besisahar 760 m และ สิ้นสุดที่ Phedi 1130 m ที่มีแวะเทรคออกไปยัง Tilicho Lake 4949 m และ Khopra Danda 3660 m กับระยะเวลาทั้งหมด 36 วัน โดยพยายามหลีกเลี่ยงการเดินบนถนนค่ะ ด้วยความเจริญทำให้เส้นทางนี้มีการก่อสร้างถนนมากมายนัก ซึ่งหากหยกสามารถหลีกเลี่ยงการเดินบนถนนได้ หยกก็ทำค่ะ เพราะหลายเส้นทางมีการสร้างทางเดินเทรลเพื่อหลีกเลี่ยงการเดินบนถนน แต่บางเส้นทางก็ไม่มีทางเดินเทรล





สรุปรายละเอียดหลักๆ ดังนี้
- จำนวนวันที่เทรค: ทริป 37 วัน เดิน 36 วัน (วันแรกคือ 24 ตุลาคม 2564)
- จุดเริ่มต้น: Besisahar 760 m
- จุดสิ้นสุด: Phedi 1130 m
- จุดสูงสุด: Thorong La Pass 5416 m
- หมู่บ้านที่นอนค้างที่มีความสูงสูงสุด: Thorong Phedi 4529 m หรือ Thorong High Camp 4925 m ขึ้นกับแผนการเดินทางวางไว้ค่ะ
- อุณหภูมิตำ่สุด ที่หยกเจอและได้วัดอุณหภูมิ: -5 องศาเซลเซียสที่ Ngawal 3660 m เวลา 06.35 น. | -13 องศาเซลเซียส ที่ Thorong Phedi 4529 m ตอนค่ำ
- หมู่บ้านที่ตั้งอยู่บนถนนดิน และ มีรถผ่าน: เริ่มตั้งแต่ Besisahar 760 m ยาวไปจนถึง Manang 3500 m เลยค่ะ และก็จาก Muktinath 3678 m, Jomsom 2743 m, Kalapani 2530 m ยาวไปจนถึง Tatopani 1100 m และยาวไปอีก จึงยากมากที่จะเดินหลีกเลี่ยงถนน ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว คนเนปาล เช่น ลูกหาบ หรือ ไกด์เนปาล จะชอบเดินบนถนนมากกว่าเทรลนะคะ ดังนั้น หากสามารถวางแผนการเดินที่หลีกเลี่ยงถนนได้ นอกจากจะไม่ต้องเดินตากฝุ่นแล้ว ยังจะทำให้การเทรคบนเส้นทาง Annapurna Circuit นี้สนุกและน่าจดจำมากยิ่งขึ้นค่ะ





4.3. มีน้ำอาบ, ไวไฟ, ที่ชาร์จไหม?
จะบอกว่าเส้นทาง Annapurna Circuit Trek นี้เป็นเทรคไฮโซค่ะ ห้องน้ำดี มีน้ำร้อนอาบเกือบทุกที่เลยค่ะ (มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม) โดยที่เป็นฝักบัวทั้งหมด ไม่ใช่แบบตักนะคะ และส่วนใหญ่เป็นแบบใช้แก๊สค่ะ ไม่ใช่โซล่าร์ เลยมีค่าใช้จ่ายในการอาบน้ำร้อน เพราะต้องมีการขนถังแก๊สขึ้นมา ซึ่งคุ้มค่าและสบายตัวมากๆๆ เพราะน้ำร้อนได้ใจสุดๆ
มารยาทการอาบน้ำร้อนบนเขา รีบอาบนะคะ อย่าใช้เวลานาน เพราะเป็นการสิ้นเปลืองแก๊สค่ะ ทั้งจำนวนห้องน้ำส่วนใหญ่ตามที่พัก จะมีแค่ 1 ห้องเท่านั้นสำหรับนักท่องเที่ยวทุกคนที่พักตามที่พักนั้นๆ ทั้งการอาบน้ำบนเขาสูงควรทำการอาบก่อนพระอาทิตย์ตกดินนะคะ เพื่อที่อุณหภูมิร่างกาย อุณหภูมิน้ำร้อน และ อุณหภูมิภายนอกจะได้ไม่ต่างกันมากเกินไป ที่อาจส่งผลให้เกิดภาวะช็อคได้ค่ะ
ส่วนเรื่องไวไฟนี่จะต้องแปลกใจสุดๆ เพราะสัญญาณไวไฟนี่เร็วและแรงกว่าที่พักในเมืองเลยนะคะ ส่วนปลั๊กไฟ ที่ชาร์จแบต นี่ก็เต็มที่ หลายที่พักมีปลั๊กไฟให้ชาร์จในห้องนอนเลยด้วยค่ะ ส่วนใหญ่ไวไฟและการชาร์จไฟ ไม่เสียค่าใช้จ่ายด้วยนะคะ





5. สภาพอากาศ Annapurna Circuit เป็นอย่างไร? เทรคช่วงไหนดีที่สุด?
สภาพอากาศ Annapurna Circuit มี 2 ฤดูเทรคกิ้งหลักๆ คือ
5.1. ตุลาคม-พฤศจิกายน เป็น ฤดูใบไม้ร่วง (Fall)
ฤดูมรสุมพึ่งหมดไปค่ะ ช่วงนี้ฟ้าจึงใส อากาศดีมากๆ มลพิษถูกคุณฝนชะล้างหายไปหมด ป่าไม้ก็เขียวขจี ช่วงนี้จึงเป็นฤดูเทรคกิ้งที่ดีที่สุด
อุณหภูมิเฉลี่ยกลางวัน ในเขตที่ต่ำกว่า 3500 m ประมาณ 15 องศาเซลเซียสค่ะ กำลังสบาย ส่วนกลางคืน ก็ประมาณ 7 – 8 องศาเซลเซียสค่ะ
ส่วนที่สูงกว่า 3500 m อุณหภูมิติดลบค่ะ โดยที่ยิ่งสูงก็จะยิ่งติดลบเยอะ โดยคืนที่หนาวที่สุด จะอยู่ที่ Throrong Phedi 4529 m หรือ Thorong High Camp 4925 m แล้วแต่ว่าวางแผนค้างกันก่อนข้ามพาสที่ไหน ที่สามารถติดลบเลขสองตัวสิบต้นๆ ได้ค่ะ (หยกค้างที่ Thorong Phedi อุณหภูมิ -13 องศาเซลเซียส ค่ะ)





5.2. มีนาคม-พฤษภาคม เป็น ฤดูใบไม้ผลิ (Spring)
สภาพอากาศ Annapurna Circuit ในช่วงนี้เป็นฤดูแห่งสีสันค่ะ ฤดูหนาวหมดไป หิมะเริ่มละลาย ดอกไม้ป่าเริ่มบานสะพรั่งหลากสี โดยเฉพาะ ดอกกุหลาบพันปี ดูเทรคกิ้งที่สองค่ะ โดยที่เดือนพฤษภาคมอากาศจะแย่ที่สุด (และร้อนที่สุด) นะคะ เพราะมลพิษเริ่มเข้ามาแล้ว
อากาศของเดือนมีนาคมจะเย็นกว่า และ ในเดือนพฤษภาคมอากาศจะร้อนที่สุดในฤดูนี้นะคะ อุณหภูมิเฉลี่ยกลางวัน ในเขตที่ต่ำกว่า 3500 m ประมาณ 10 องศาเซลเซียสค่ะ พอเข้าพฤษภาคมจะประมาณ 18 – 20 องศาเซลเซียส ส่วนกลางคืนก็จะหนาวกว่ากลางวัน โดยในเดือนมีนาคมจะหนาวกว่าเดือนอื่นๆ
ส่วนที่สูงกว่า 3500 m ในเดือนมีนาคม ก็สามารถหนาวถึง -4 องศาเซลเซียสได้ค่ะ พอเข้าพฤษภาคมจะหนาวน้อยลง คือประมาณ 0 องศาเซลเซียส





6. Tilicho Lake อยู่ที่ไหน? สวยไหม? ไปยากเปล่า?
Tilicho Lake อยู่ที่ไหน? สวยไหม?
เราจะมุ่งหน้าไปยัง Tilicho Lake ผ่าน Manang ค่ะ โดยจะใช้เวลา 2 – 3 วัน ในการไป Tilicho Lake แล้ววกกลับเข้ามาที่ Yak Kharka บนเส้นทาง Annapurna Circuit เหมือนเดิมค่ะ จะบอกว่า Tilicho Lake นี่เป็นหนึ่งในไฮไลท์ของการเทรคครั้งนี้เลยค่ะ สวยมากๆๆ ทะเลสาบขนาดใหญ่สีน้ำเงินเข้มๆ ตัดกับความขาวของหิมะ โดยที่ Tilicho Lake นั้นอยู่บนความสูงถึง 4949 m เลยนะคะ
Tilicho Lake ไปยากเปล่า?
หยกว่าเส้นทางนี้ ค่อนข้างท้าทาย-ยากนิดๆ นะคะ ด้วยเหตุผลต่อไปนี้
- เส้นทางระหว่างการเดินจาก Shreekharka ไป Tilicho Base Camp นั้น มีบริเวณของ landslides* และ rockfalls** อยู่หลายจุด การออกเดินในเขตนี้จึงแนะนำให้ออกเดินแต่เช้าๆ ช่วงที่น้ำแข็งที่เกาะบนก้อนหินต่างๆ ยังไม่ละลายจากแสงแดด เพื่อลดการเดินเจอ rockfalls ค่ะ แต่อย่ากังวลเพราะทางเดินนั้นไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด ทางเดินกว้าง หลายๆ บริเวณ (เกือบทั้งหมด) ก็มีการสร้างกำแพงหินกั้น landslides และ rockfalls ไว้ให้ค่ะ
*landslides แปลว่า ดินสไลด์ หรือ ดินถล่ม หมายถึง ทางเดินหรือบริเวณ ที่มักจะเป็นดินทรายหรือหินกรวดก้อนเล็กๆ ที่ร่วงหล่นอยู่ตลอดเวลา ทำให้เรามองให้ทางเดินลาดลงไปตามแนวหน้าผา และเวลาเราก้าวเหยียบโดนทางเดินเหล่านั้น จะทำให้ดินหรือหินไถลลงไปข้างล่าง หรือ บริเวณหน้าผา (บนหัวเรา หรือ ข้างล่าง) ที่มองดูแล้ว มีแนวโน้มที่จะร่วงไถลหรือถล่มลงมาได้ตลอดเวลา
**rockfalls แปลว่า หินถล่ม หรือ ก้อนหินที่ร่วงลงมา อันนี้ก็แปลตรงตัวเลยค่ะ ก้อนหินที่ร่วงลงมา ซึ่งด้วยความสูงและการที่ตกลงมาตามแรงโน้มถ่วง จึงมีความแรงมาก แม้จะเป็นหินก้อนเล็กๆ





- ส่วนทางเดินจาก Tilicho Base Camp 4139 m ไป Tilicho Lake 4949 m นั้นชันขึ้นอย่างเดียวค่ะ หากร่างกายที่ยังปรับตัวไม่พร้อมกับสภาพอากาศบนที่สูง ก็สามารถมีปัญหาในเรื่อง AMS ได้ค่ะ แนะนำได้ 2 อย่างค่ะ คือ
- วางแผนทริปให้ดี อย่าเร่งรีบ ให้มั่นใจว่าร่างกายปรับตัวได้พร้อมกับสภาพอากาศบนที่สูง
- ระหว่างเดินในวันนี้ ให้ทานอาหารเช้าก่อนมา, ค่อยๆ เดิน, พกน้ำดื่มไปให้เพียงพอ แนะนำไม่ต่ำกว่า 2 – 3 ลิตร/ท่าน (ไม่มีน้ำดิ่มระหว่างทางนะคะ), จิบน้ำตลอดการเดินทั้งขาไปและกลับ, พกขนมไปเติมพลัง, เตรียมเสื้อกันหนาวและอุปกรณ์กันแดดไปให้พร้อมค่ะ
- ด้วยความสูงของ Tilicho Lake ที่อยู่สูงถึง 4949 m จึงเสี่ยงต่อการเกิดอาการ AMS
- ระหว่างทางขึ้น Tilicho Lake มีบริการขี่ม้าขึ้นไปด้วยค่ะ แต่ไม่ส่งถึงทะเลสาบนะคะ จะส่งก่อนถึงด้านบน ที่จะเป็นทางเดินราบ ไม่ชันแล้ว แต่มีหิมะปกคลุมค่ะ คุณม้าไปต่อไม่ได้ หลายคนต้องรีบทำเวลาเพราะต้องเดินกลับวันนี้ โดยไม่ค้างคืนที่ Tilicho Base Camp จึงเลือกที่จะขี่ม้าขึ้นไป แล้วเดินกลับค่ะ
- ลมด้านบนที่แรงมากๆ แรงแบบเจ็บเพราะพัดเอาหิมะมากระทบผิวเราค่ะ แรงแบบที่คนตัวเล็กๆ นี่ปลิวได้เลยนะคะ จึงมีการแนะนำว่า ควรเดินมาถึงที่นี่ก่อน 11 โมงเช้าค่ะ ไม่งั้นลมแรงมากๆ แบบที่อยู่ชิวๆ นานๆ ยากเลยค่ะ





บทความข้อมูลเทรคกิ้งเนปาล
สำหรับเพื่อนๆ ที่อยากลองเทรค อยากเที่ยวแนวนี้ แต่เริ่มไม่ถูก ไม่รู้จะหาข้อมูลเกี่ยวกับการเทรคกิ้งทั้งหมดได้ที่ไหน หรือแม้แต่เพื่อนๆ ที่หลงใหลการเทรคกิ้งเนปาล ที่อยากได้ข้อมูลเทรคกิ้งเพิ่ม นี่เลยค่ะ ที่เดียวกับข้อมูลเต็มๆ
- ไฮกิ้ง เทรคกิ้ง คืออะไร? ต่างกันยังไง? พร้อมคำอธิบายที่แจ่มชัด และตัวอย่าง
- ข้อมูลเทรคกิ้งบนเส้นทาง Poon Hill
- ข้อมูลเทรคกิ้งบนเส้นทาง Langtang
- ข้อมูลเทรคกิ้งบนเส้นทาง Annapurna Circuit ที่รวม Tilicho Lake ทะเลสาบสีฟ้าสุดเข้ม และ สวยงามสุดๆ เข้าไว้ด้วย
- ข้อมูลเทรคกิ้งบนเส้นทาง Mohare + Khopra
- ข้อมูลเทรคกิ้งบนเส้นทาง Everest Base Camp (EBC) + Kalapatthar
- ไป Pokhara พักที่ไหนดี มีอะไรเที่ยว
- Checklist เตรียมอะไรไปเทรคกิ้ง ที่สามารถเตรียมเองได้ ไม่มีสิ่งนี้ ทำยังไง หาอะไรทดแทน หาซื้อที่ไหน เตรียมสิ่งนี้ไปทำไม ใช้ประโยชน์อะไร
- How to ขอวีซ่าเนปาล ตั้งแต่การเตรียมการณ์มาจากบ้าน เพื่อยื่นขอ Visa On Arrival ที่สนามบินตรีภูวัน
- ข้อมูลการเตรียมตัว ก่อนไปเทรคกิ้งเนปาล ให้พร้อมที่สุด ต้องเตรียมอะไร, เทรคเส้นไหน, ประกันบริษัทอะไรดี, ฉีดวัคซีนไหม, Permits อะไรบ้าง, น้ำดื่มล่ะ, ซิมการ์ดแพงไหม และ แลกเงินที่ไหน ฯลฯ
- AMS – อาการทั่วไป? อาการรุนแรง? เกิดกับใคร? ที่ไหน? ป้องกัน+หลีกเลี่ยงยังไง? ข้อควรปฏิบัติ? ถ้ามีอาการต้องทำยังไง? รักษาได้ไหม?
- ประกันเดินทางต่างประเทศ และ ประกันเดินทางที่ครอบคลุมเทรคกิ้งเนปาล บนเขาสูงไม่เกิน 4,500 m + ครอบคลุมทั่วโลก เช่น เนปาล, ยุโรป, อเมริกา & ประเทศอื่นๆ + ครอบคลุมค่ารักษาโควิด
- DOs & DON’Ts ระหว่างเทรคกิ้ง เนปาล ข้อควรรู้ อะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ – ใส่หูฟังฟังเพลง? ให้ขนมเด็กบนเขา? เดินลุยข้ามแม่น้ำ ต้องถอดรองเท้าเดินป่า? ต้องทำยังไงเพื่อไม่ให้เมื่อยกล้ามเนื้อ? ฯลฯ
เป็นยังไงละคะ เพื่อนๆ ได้ข้อมูลเกี่ยวกับการเทรคกิ้งที่ครบถ้วน ที่ละเอียด อ่านง่าย เข้าใจเองได้ และยังทำตามได้เองสบายๆ เลยใช่ไหมล่ะ หากมีข้อสงสัยใดๆ คอมเม้นต์ที่ช่องคอมเม้นต์ด้านล่าง เข้ามาได้เลยนะคะ หยกรอตอบแล้วค่ะ





7. Thorong La Pass ยากแค่ไหน ยากจริงไหม? และ วิธีการที่จะช่วยให้การข้าม Thorong La Pass ไม่ยากอย่างที่ควรจะเป็น
Thorong La Pass ยากแค่ไหน ยากจริงไหม?
ยากจริงค่ะ 555+ (แต่เราสามารถทำให้ความยากไม่ยากมากอย่างที่ควรจะเป็นได้นะคะ เดี๋ยวบอกวิธีในหัวข้อย่อยถัดไปค่ะ) ด้วยเหตุผลต่อไปนี้
- ความสูงของ Thorong La Pass ที่สูงมากถึง 5416 m
- ระยะเวลาของการเดินที่สามารถยาวนานได้ตั้งแต่ 7-10 ชั่วโมง ทำให้ต้องออกเดินกันตั้งแต่ยังไม่สว่าง
- การที่ต้องออกเริ่มเดินตั้งแต่ตอนเช้ามืด นอกจากจะเดินยากเพราะมองไม่เห็นแล้ว อากาศที่หนาวเย็น และอาจมีลมพัดแรงที่ทำให้ความหนาวนั้นหนาวมากขึ้น จนทรมาน น้ำมูกที่ไหลเพราะอากาศหนาวยิ่งสร้างความรำคาญในการเดินมากยิ่งขึ้น วินาทีนี้จะทำให้เราคิดถึงแสงแดดอย่างที่ไม่เคยคิดถึงมาก่อน อดทนรอสักพักนะคะ พอพระอาทิตย์ขึ้นเท่านั้นแหละ จะถอดเสื้อหนาวออกแทบไม่ทันเลยค่ะ
- ทางเดินขาขึ้นที่ชันขึ้นอย่างเดียว ไปจนถึง 5416 m
- ทางเดินขาลงที่ลาดลงอย่างเดียว จาก 5416 m ลงไปยัง Muktinath 3678 m





วิธีการที่จะช่วยให้การข้าม Thorong La Pass ไม่ยากอย่างที่ควรจะเป็น
- ให้มั่นใจว่าก่อนออกเดินร่างกายพร้อม ไม่มีอาการของ AMS (หากมีแบบอ่อนๆ แต่คิดว่าน่าจะเดินไหว หยกแนะนำให้ลองเดินค่ะ หากไม่ไหว ค่อยเดินกลับ | แต่หากไม่มั่นใจว่าจะเดินไหวไหม หยกแนะนำให้ค้างอีก 1 คืนแล้วค่อยข้ามพาสค่ะ | แต่หากอาการเป็นในแบบที่น่ากังวล แนะนำให้เดินลงไปยังที่ต่ำกว่าทันทีนะคะ)
- นอนให้หลับ ทานอาหารให้ครบทุกมื้อและทานให้อิ่ม
- เตรียมน้ำดื่มไปให้เพียงพอและดื่มน้ำบ่อยๆ
- เตรียมขนมเติมพลังไปทานระหว่างเดิน
- ไม่ต้องเร่งรีบในการเดิน ให้ค่อยๆ เดินด้วย pace สม่ำเสมอ
- ตรวจสอบ สภาพอากาศ Annapurna Circuit ช่วงที่จะไป
- มีบริการขี่ม้าไปถึง Thorong La Pass ด้วยนะคะ ราคาก็ไม่เบาเลย ประมาณ $200 – 350 แล้วแต่จุดที่เริ่มใช้บริการค่ะ ซึ่งนี้เป็นทางเลือกที่มีราคาแพง สำหรับคนที่ไม่ไหว หรือ มีอาการ AMS ที่ต้องรีบไปให้ถึงพาส แล้วรีบเดินลงไปยังที่ต่ำให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้
ไปทำความรู้จักกับ Thorong La Pass กันค่ะ หยกจัดทริปพาเทรคบนเส้นทาง Annapurna Circuit + Tilicho Lake 17 วัน ด้วยนะคะ อ่านรายละเอียดทริปเพิ่มเติมที่ลิ้งค์ได้เลยค่ะ





8. ต้องเจอเมนูอาหารเดิมๆ 37 วัน ทานอาหารเดิมๆ เบื่ออาหารไหม?
เพื่อนๆ จะแปลกใจไหมคะ ที่หยกจะตอบว่า “ไม่ค่ะ” 555 คงเป็นเพราะหยกทานง่าย ทานเยอะด้วย หากชอบอะไรแล้วก็ไม่เบื่อง่ายๆ ค่ะ จะบอกว่าหยกทาน dal bhat ทุกวันเลยด้วยนะคะ อย่างน้อยวันละ 1 มื้อค่ะ และไม่ได้พกอะไรจากอเมริกาหรือไทยมาทานด้วยเลยค่ะ แถมยังไม่คิดถึงอาหารไทยและอาหารนานาชาติอื่นๆ ด้วยนะคะ จะคิดถึงก็แค่ “เนื้อสัตว์” ค่ะ ก็ตลอด 37 วันบนเขานี่หยกทานแต่มังสวิรัติ ไม่กล้าสั่งเนื้อสัตว์ ยกเว้นทูน่ากระป๋องค่ะ เพราะไม่อยากเสี่ยงอาหารเป็นพิษค่ะ ด้วยไม่แน่ใจว่าบนเขา ที่ไม่มีตู้เย็นแบบนี้ เค้าจะเก็บเนื้อสัตว์กันยังไง
แต่ค่ะแต่… อย่างที่เค้าว่ากันว่าเส้นทาง Annapurna Circuit นั้นเป็นเส้นทางเทรคที่ไฮโซ มาเทรคเส้นนี้ไม่ลำบากค่ะ มีน้ำร้อนให้อาบ มีไวไฟให้เล่น มีปลั๊กให้ชาร์จ มีเค้กมีแอปเปิ้ลพายให้ทาน และถึงแม้ว่าอาหารบนเมนูจะหลากหลายมากๆ ดังเช่นเส้นทางเทรคเส้นอื่นๆ ในเนปาลก็ตาม แต่ที่พักส่วนใหญ่ที่นี่จะจ้างเชฟมาทำอาหารให้เราทานค่ะ เพราะความที่มีนักท่องเที่ยวที่เยอะมากอยู่ตลอดเวลา ที่พักที่มีเชฟทำอาหาร จึงดึงดูดนักท่องเที่ยวมากกว่าที่พักที่มีเจ้าของหรือชาวบ้านเป็นคนทำอาหาร เพราะเชฟมักจะทำอาหารได้ดีดว่าและหลากหลายกว่า โดยเฉพาะอาหารนานาชาติ เช่น พิซซ่า, เบอร์เกอร์, สปาเกตตี้, ซุปต่างๆ หรือ แพนเค้ก เป็นต้น
ทำให้ นอกจาก dal bhat ที่หยกสั่งเป็นประจำทุกวันแล้ว มีรสชาติที่แตกต่างออกไป อร่อยไม่เหมือนกัน จึงทำให้ไม่เบื่อ ทั้งหยกยังได้ลองสั่งอาหารเมนูอื่นๆ มาลิ้มลองได้อย่างไม่เบื่อเลยค่ะ เพราะเชฟแต่ละคน ก็มีเอกลักษณ์ในการทำอาหารเมนูเดียวกันได้อร่อยต่างรสกันไป สนุกทานเลยค่ะ





9. มือใหม่สามารถเริ่มเทรคบนเส้นทางนี้ เลยได้ไหม? เตรียมตัวไป Annapurna Circuit Trek ยังไง?
เคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า “ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว” ไหมคะ? หากใจพร้อม การเตรียมตัวต่างๆ ก็จะมาด้วยความอยากของเราเองค่ะ ถึงแม้จะไม่เคยมีประสบการณ์เทรคมาก่อนก็ไม่เป็นไรค่ะ “ต้องมีครั้งแรกสำหรับทุกคน” จริงไหมคะ
ได้ค่ะ แต่ไม่ใช่มือใหม่ทุกท่านนะคะที่จะสามารถทำได้ ต้องเป็นมือใหม่ที่
- เตรียมตัวด้วยการออกกำลังกายมาบ้าง นิดๆ หน่อยๆ (ให้กล้ามเนื้อได้พอมีแรงบ้าง) ก็ยังดีกว่าไม่ออกเลยค่ะ แต่หากสามารถฟิตได้มากที่สุด (ให้กล้ามเนื้อแข็งแรงมากที่สุด) ก็จะเป็นประโยชน์ต่อตัวเพื่อนๆ เอง เพราะจะช่วยให้ได้เอ็นจอยกับบรรยากาศ (มากกว่าที่จะโฟกัสที่ความเหนื่อยล้าของกล้ามเนื้อที่อ่อนแอ) และ เทรคได้สนุกมากขึ้นนะคะ
- ทำการบ้านหาข้อมูลเส้นทางและการเตรียมตัวมาบ้าง จะได้พอมีไอเดียว่าสิ่งที่จะเจอมีอะไร และ น่าจะประมาณไหน เช่น อากาศหนาวแค่ไหน, เจอหิมะไหม, มีฝนหรือเปล่า, เตรียมอุปกรณ์อะไรเป็นพิเศษ, วันไหนเดินหนักสุด, ความสูงสูงสุดที่จะเดินไป เป็นต้น
- สามารถเตรียม และ ใช้อุปกรณ์เทรคกิ้งที่จำเป็นได้ถูกต้อง (หยกแนะนำได้ค่ะ) เช่น กระเป๋าแบ็คแพ็คที่สะพายแล้วจะไม่เจ็บหลังเจ็บไหล่, รองเท้าแบบไหนที่เหมาะกับเส้นทางนั้นๆ, การใช้ไม้เท้าเดินป่าที่จะช่วยลดแรงกระแทก ช่วยให้เดินง่ายและเร็วขึ้น, เสื้อผ้ากันหนาวที่ให้ความอบอุ่นดีมาก แบบที่ไม่ต้องใส่ทับถึง 4 ชั้น 5 ชั้น, ถุงเท้าที่จะเหม็นและอับน้อยที่สุด หรือแม้กระทั่งเสื้อผ้าเดินป่า แบบไหนที่จะใส่เดินได้อย่างสบายตัว เป็นต้น
- เปิดตาเปิดใจ พร้อมรับประสบการณ์การผจญภัย และ รูปแบบการท่องเที่ยวที่แปลกใหม่ เพราะการเทรคกิ้งไม่ใช่การท่องเที่ยวแบบปกติทั่วไปนะคะ
- มาเทรคด้วยใจและความอยากมาของตัวเอง ไม่ได้มาเทรคเพราะเห็นรีวิวว่าสวย หรือ มาเป็นเพื่อนเพื่อน หรือ โดนเพื่อนหลอกให้มา (โปรดอย่าหลอกใครมาเทรคนะคะ เพราะหากเพื่อนท่านนั้นไม่พร้อม จะกลายเป็นการพาเพื่อนมาทรมานแทนค่ะ)
- ที่สำคัญ คือ จะต้องมีจัดแผนการเดินเทรคที่ไม่โหด ที่เป็นมิตรกับมือใหม่ และ หลีกเลี่ยงการเกิด AMS ด้วยนะคะ (ทุกเส้นทางเทรคกิ้งของหยก หยกรับมือใหม่ค่ะ และมือใหม่สามารถไปได้ทุกเส้นทางค่ะ)
- และที่สำคัญที่สุด คือ ตัวเพื่อนๆ เองค่ะ ถ้าเพื่อนๆ คิดว่าทำได้ และ สามารถที่จะเตรียมตัวเตรียมใจก่อนมาได้บ้าง ก็ไปเริ่มเทรคบนเส้นทางเหล่านี้กันเลยค่ะ “ต้องมีครั้งแรกสำหรับทุกคน” นะคะ





10. แนะนำที่พัก ใน ทาเมล กาฐมาณฑุ และ โพคารา
10.1 แนะนำที่พักใน ทาเมล กาฐมาณฑุ
ที่พักที่หยกจะแนะนำต่อไปนี้ เป็นที่พักที่หยกเลือกและสรรหามาเอง ไม่ได้มีสปอนเซอร์จากโรงแรมหรือที่ไหนมาบอกให้เอาลงนะคะ โดยหยกเลือกอิงจากตัวเองค่ะ ว่าอยากพักที่ไหนในงบที่ต่างกันออกไป โดยที่หยกหลีกเลี่ยงการเลือกที่พักที่อยู่ใจกลางทาเมลจ๋าๆ นะคะ เพื่อหลีกเลี่ยงความวุ่นวาย และเสียงที่ดังมากๆ ในยามค่ำคืนค่ะ
A). Hostel Funky Monkey Thamel Kathmandu (ถูก)
ที่พักราคาถูก ที่มีห้องห้องแบบดอร์ม และห้องส่วนตัวให้ได้เลือก ทำเลดี อยู่ริมๆ ทาเมลค่ะ จึงไม่วุ่นวายมากนัก โดยเดินแค่ไม่กี่ร้อยเมตรก็เข้าเขตเข้าทาเมลแล้วค่ะ
B). Kathmandu Peace Guesthouse (ถูก)
ที่พักแบบห้องส่วนตัวที่ราคาถูก ดีงาม น่าอยู่ ทั้งทำเลดีก็ดี เงียบสงบ ไม่วุ่นวาย เพราะอยู่ริมทาเมล เดินนิดเดียวเพียง 2 – 3 นาทีก็เข้าทาเมลแล้วค่ะ
C). Gurung’s Home (ถูก-กลางๆ)
ที่พักหลากหลายราคา น่าอยู่มากๆ มีตั้งแต่ดอร์มราคาถูกๆ ห้องพักส่วนตัวราคาถูก ไปจนถึงห้องพักส่วนตัวราคากลางๆ ที่ทำเลก็ดีค่ะ เงียบสงบ ไกลจากความวุ่นวายของทาเมล แต่ก็ไม่ได้ไกลจากทาเมลมากนัก เดินเบาๆ ชมเมืองไปเรื่อยๆ ไม่ถึง 10 นาทีก็ถึงแล้วค่ะ
D). Flying Yak Kathmandu (ถูก-กลางๆ)
แนะนำมากๆ ค่ะ ที่นี่ กับที่พักในทาเมล ที่ไม่ได้อยู่ใจกลางมากให้วุ่นวายเสียงดัง คือทำเลดีสุดๆ ห้องพักก็ดูดี สะอาด น่าเข้าพัก มีตั้งแต่ดอร์ม ไปจนถึง ห้องพักส่วนตัว ให้ได้เลือกตามงบเลยค่ะ ทั้งห้องพักส่วนตัวราคาก็ดี แถมยังมีพ่วงบริการรับที่สนามบินเมื่อจองที่พักออนไลน์อีกด้วยนะคะ
E). Bodhi Boutique Hotel (กลางๆ-หรูหรา)
แนะนำอีกแล้วค่ะ ที่พักทำเลเหมาะ อยู่ในทาเมล แต่ไม่อยู่ในใจกลางจ๋าๆ เลยไม่วุ่นวายมาก ทั้ฃการตกแต่งก็มีเอกลักษณ์ สไตล์บูติกตามชื่อ แม้กระทั่งการตกแต่งในห้องน้ำก็ยังเข้าคอนเซปต์สวยงามเลยค่ะ หากมากัน 3 คนที่นี่ก็เหมาะสุดๆ เพราะมีห้องสำหรับ 3 คนในราคาที่ถูกสุดๆ เลยค่ะ
F). Kumari Boutique Hotel (กลางๆ-หรูหรา)
อีกที่พักที่แนะนำมากๆ ก็น่าอยู่สุดๆ ทั้งยังทำเลดีอีกแล้วค่ะ อยู่ในทาเมล แต่ไม่ได้อยู่ใจกลางทาเมล จึงค่อนข้างเงียบ และไม่วุ่นวายมากนัก หรูหราตั้งแต่การตกแต่งหน้าโรงแรม ห้องนอน ห้องน้ำสะอาด ใหม่ เป็นสัดส่วน ทุกห้องมาพร้อมอาหารเช้าอย่างดี ให้ได้เลือกทานมากมาย
10.2 แนะนำที่พักใน โพคารา
ที่พักเหล่านี้ หยกเลือกเองจากความเห็นส่วนตัวว่าน่าพัก ถ้าหยกต้องเลือกที่พักในโพคารา ที่พักแบบไหนที่หยกจะเลือก จึงมั่นใจได้ค่ะ ว่าที่พักเหล่านี้หยกไม่ได้รับการสนับสนุนใดๆ จากสปอนเซอร์ไหนๆ ไม่ได้มีการถูกบอกให้เอามาลง เพราะเป็นที่พักที่หยกเลือกมาแนะนำเพื่อนๆ เองค่ะ
A). Gurkha Lodge (ถูก)
คนรักธรรมชาติ ความเงียบสงบ และความเป็นกันเอง ต้องรักที่นี่ค่ะ ที่พักกึ่งๆ บังกะโล แบบธรรมดาๆ แต่มีเสน่ห์และอบอวลไปด้วยความสุขความสบายใจ มีเสียงนกร้องเพลงคลอเบาๆ ในยามเช้า ทั้งยังใกล้ศูนย์กลางแหล่งท่องเที่ยว และไม่ไกลจากทะเลสาบเฟวาอีกด้วยค่ะ กับราคานี้คือคุ้มค่าเกินราคา แบบไม่ต้องเสียเวลาตัดสินใจ ทั้งยังจะกลับมาค้างที่นี่อีกแน่นอน
B). Hotel Blue Magnet (ถูก)
โรงแรมใหม่กิ๊ก ที่ทุกอย่างใหม่ ตั้งแต่หมอน ผ้าห่ม ไปจนถึงอุปกรณ์ต่างๆ จึงมีความสะอาด และสะดวกสบาย ตัวตึกมีการตกแต่งสวยงาม มีระเบียง ที่ด้านล่างยังมีสวนหย่อมให้ได้นั่งทานอาหารเช้าเพลินๆ เคล้าบรรยากาศชิวๆ กับแสงแดดอ่อนๆ อีกด้วยค่ะ ทั้งยังใกล้ศูนย์กลางแหล่งท่องเที่ยว และไม่ไกลจากทะเลสาบเฟวาอีกด้วยค่ะ
C). Hotel Blossom (ถูก)
อีกตัวเลือกที่ดีกับที่พักกึ่งร้านกาแฟ ตกแต่งเก๋ไก๋ บรรยากาศดี น่านั่งชิวสุดๆ กับชุดอาหารเช้าสุดเริศ เป็นการเริ่มต้นวันใหม่ที่ดีเยี่ยมมากๆ ห้องพักสะดวกสบาย มีหน้าต่างให้แสงสว่างเข้า บางห้องยังมีระเบียงให้ออกไปนั่งจิบชาชิวๆ อีกด้วยค่ะ และแน่นอนว่า อยู่ใกล้ศูนย์กลางแหล่งท่องเที่ยว และไม่ไกลจากทะเลสาบเฟวาอีกด้วยนะคะ
D). Hotel Ezen (ถูก-กลางๆ)
ที่พักทำเลดี อยู่ใกล้ถนนใหญ่ ศูนย์กลางแหล่งท่องเที่ยว ที่มีวิวดี สามารถมองเห็นทะเลสาบเฟวาได้จากห้องนอน และที่ชั้นบนสุดยังเป็นจุดชมวิวหิมาลัยที่สวยงามมากๆ อีกด้วยค่ะ ต้องรีบจองเลยนะคะ ราคาดี ทำเลดี ที่พกดีแบบนี้ เต็มไวมากๆ ค่ะ
E). Hotel Rosemary Homes (ถูก-กลางๆ)
ที่พักทำเลดี อยู่ใกล้ถนนใหญ่ ศูนย์กลางแหล่งท่องเที่ยว ห้องพักใหม่ ตกแต่งเรียบง่าย ด้วยสีสันที่แตกต่างในแตะละห้อง ทั้งยังอยู่ติดกับร้านอาหารเจ้าของเดียวกัน ร้านอาหารดังที่มีชื่อเสียง มีรสชาติและคุณภาพดี ไหนจะยังมีพื้นที่สวนหย่อมให้ได้นั่งทานอาหารและผ่อนคลายเพลินๆ อีกด้วยค่ะ
F). Three Jewels Boutique Hotel (กลางๆ)
ที่พักทำเลดีอีกแล้ว เดินไม่กี่นาทีก็ถึงถนนใหญ่กลางเมืองท่องเที่ยวแล้วค่ะ เป็นอีกตัวเลือกที่น่าสนใจ กับที่พักที่ตกแต่งเรียบง่าย ด้วยเฟอร์นิเจอร์ไม้สวยงาม ห้องสะอาด และน่านอนสุดๆ ทั้งยังมีห้องนอนที่สามารถมองเห็นวิวหิมาลัยให้ได้เลือกพักด้วยนะคะ
G). Hotel The Coast (กลางๆ)
แนะนำที่นี่สุดๆ เลยค่ะ กับห้องพักที่มีระเบียงพร้อมที่นั่งเล่นในห้องนอน กับวิวทะเลสาบเฟวาแบบส่วนตั๊วส่วนตัว ที่จะทำให้ฟินจนไม่อยากออกจากห้องเลยค่ะ ซึ่งแน่นอนเลยว่าทำเลของที่พักนั้นดีสุดๆ ห้องพักก็กว้าง สะอาด ตกแต่งแบบคลาสสิก และอีกอย่างที่น่าดึงดูดใจให้เข้าพักคือ บริเวณทานอาหารเช้านั้นให้วิวทะเลสาบเฟวาเต็มๆ แบบใกล้ชิดสุดๆ เลยค่ะ
H). Tourist Residency (กลางๆ)
แนะนำๆๆ อีกแล้ว ถ้าใครมีงบสักหน่อย และกำลังมองหาที่พักแบบมีเอกลักษณ์ แบบที่ตกแต่งกึ่งๆ สไตล์ยุโรป แบบที่ไม่คิดว่าจะมีในเนปาล อยู่หรือเปล่าคะ นี่เลยค่ะ ที่พักสไตล์บ้านพักตากอากาศ กับห้องพักที่สวยมากๆ น่าอยู่เป็นที่สุด กับเฟอร์นิเจอร์ไม้ ที่ตกแต่งได้อย่างลงตัว บางห้องยังมีอ่างจากุชชี่อีกด้วยนะคะ
I). Pokhara Choice Inn (หรูหรา)
ที่พักทำเลดีๆ บนถนนใหญ่เลยค่ะ ทั้งห้องยังใหญ่ กว้าง ตกแต่งหรูหรา ดูดีสุดๆ มีระเบียงด้วยค่ะ ที่เลือกได้ว่าต้องการวิวเมือง หรือ วิวหิมาลัย หรือ วิวทะเลสาบเฟวา อาหารเช้าก็เป็นแบบบุฟเฟ่ต์ มีให้เลือกทานมากมาย ที่นี่ดีไปทุกอย่าง ทั้งทำเล ห้องพัก และบริการ ตัวเลือกดีๆ หลังเทรคเสร็จ นี่เหมาะเลยค่ะ
J). Mingtang Garden Cottage (หรูหรา)
โอ้ยย หลงรักที่นี่มากๆ เลยค่ะ ทำเลก็เริ่ด การตกแต่งก็สวย มีเอกลักษณ์ แบบที่น่าจะมีแค่ที่นี่ที่เดียวในเนปาล เน้นการตกแต่งแบบจีน สุดโบราณ ด้วยเฟอร์นิเจอร์ไม้แกะสลักอย่างปราณีตงดงาม ประกอบกับการตกแต่งที่เก๋ไก๋ ของที่พักขนาดใหญ่ที่มีพื้นที่ของสวนหย่อม ที่จัดและตกแต่งร่มรื่น ที่เหมาะสุดๆ กับการมาพักผ่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการให้รางวัลตัวเองหลังเทรคเสร็จ ซึ่งถือว่าราคาไม่แพงเลยถ้าเทียบกับที่ไทย





Annapurna Circuit + Tilicho Lake Trek น่าไปสัมผัส และ น่าเทรคมากๆ เลยใช่ไหมล่ะคะ
หยกหวังว่าเพื่อนๆ จะได้ข้อมูลที่มองหา และ ได้ประโยชน์จากบทความนี้นะคะ หากเพื่อนๆ มีคำถามเพิ่มเติม มีข้อสงสัยอะไร หรือ ตรงไหนไม่ชัดเจน หรือ แค่อยากจะพูดคุยทักทาย สามารถคอมเม้นต์ที่ด้านล่างนี้ได้เลยค่ะ แล้วหยกจะเข้ามาตอบให้นะคะ
วางแผนเทรคtilicho lake แล้วกลับ 12วัน รวมไปกลับ ตค. 66 กำลังคุยกับเอเจนซี่เสนอราคา ได้มาแล้วบางบริษัท
12วัน พอใช่ไหมครับ
สวัสดีค่ะ คุณเอก
ขอบคุณสำหรับคอมเม้นต์นะคะ 🙂
Tilicho Lake Trek 12 วัน รวมไปกลับ คร่าวๆ น่าจะเหลือวันสำหรับเทรคประมาณ 8-9 วัน ซึ่งเพียงพอค่ะ วางแผนทริปดีๆ นะคะ ค่อยๆ ไต่ระดับความสูง ขึ้นถึง Tilicho Lake ช้าๆ ค่ะ หลีกเลี่ยง AMS ให้ดี จะได้เทรคได้อย่างปลอดภัย และ สนุกๆ ค่ะ