
Everest Base Camp Trek หรือ EBC Trek ที่รวมและไม่รวม 3 Pass และ/หรือ Kalapatthar ที่ใครๆ ว่ายากและท้าทาย ที่ต้องมีการ เตรียมตัวไป เอเวอเรสต์ มากหน่อย ที่มี สภาพอากาศและความหนาว คาดการณ์ยาก แตกต่างจากการเทรคกิ้งในเขตอื่นๆ โดยหากมีการเตรียมตัวทั้งทางร่างกาย และ อุปกรณ์ ได้พร้อมที่สุด EBC Trek ก็จะง่ายได้ และ สนุกได้มากขึ้นนะคะ “แล้ว EBC ยากไหม? สภาพอากาศ Everest Base Camp Trek เป็นอย่างไร? ต้อง เตรียมตัวไป EBC มากน้อยขนาดไหน? ร่างกายต้องฟิตมากเลยหรือเปล่า? จะเทรคไหวน้า? มือใหม่ไปได้ไหม? แล้วไปช่วงไหนดี?” กับคำถามมากมาย ที่มีคำตอบอยู่ที่นี่ หยกมาช่วยไขข้อข้องใจและลดความกังวลต่างๆ แล้ว กับ ข้อมูลละเอียดยิบที่ด้านล่างนี้เลยค่ะ
เทรคกิ้งในเขต Everest หรือที่รู้จักกันว่า Everest Base Camp Trek หรือ EBC Trek นั้นคือความฝันของหยกมานานแล้วค่ะ เพื่อนๆ หลายท่านก็คงมีความฝันเดียวกัน แต่หยกก็ยังไม่เคยได้เข้าไปเทรคในเขต Everest หรืออีกชื่อหนึ่งคือ เขต Khumbu เลยค่ะ ถึงแม้หยกจะไปเนปาลบ่อยก็ตาม (รวมครั้งนี้ ก็เป็นครั้งที่ 6 แล้วค่ะ) เพราะความที่ EBC Trek นั้น ฮิตหนักมาก คนไปเทรคกันเยอะมากๆ หยกเลยเลือกที่จะมองหาเส้นทางใหม่ที่คนน้อยกว่า เพื่อที่จะมีความส่วนตัวมากหน่อย เพื่อที่ระหว่างเดินสามารถเก็บบรรยากาศเก็บวิวได้เต็มที่และชิวได้มากกว่า เลยไม่มีโอกาสได้ไปเทรคในเขต Everest สักที





รีวิว EBC Trek นี้ จะมีรายละเอียด ตามหัวข้อ (คลิกได้) ต่อไปนี้นะคะ
- 1. ทราบกันไหมคะว่า EBC Trek คืออะไร? อยู่ที่ไหน?
- 2. เตรียมตัวไป EBC Trek: การเตรียมตัวเตรียมร่างกาย, การออกกำลังกายของหยก และ การเตรียมอุปกรณ์กันหนาวให้พร้อม
- 3. วางแผนเทรค Everest Base Camp Trek กี่วัน? เป็นไปตามแผนที่วางไว้ไหม?
- 4. ระดับความยากง่าย EBC ยากไหม ? มือใหม่มาเทรคได้ปะ? เจอ AMS หรือเปล่า?
- 5. รายละเอียดของเส้นทางที่หยกเทรคในเขต Everest หรือ Khumbu
- 6. สภาพอากาศ Everest Base Camp Trek เป็นอย่างไร? เทรคช่วงไหนดีที่สุด?
- 7. Khumbu Cough คืออะไร? ทำไมมาเทรค EBC ต้องโดนเตือน? น่ากลัวตรงไหน? ป้องกันยังไง?
- 8. แนะนำที่พักใน ทาเมล กาฐมาณฑุ
แต่วันนี้… ความฝันของหยกเป็นจริงแล้วค่ะ แล้วเพื่อนๆ ล่ะคะ? รออะไร? หยกได้มีโอกาสมาเทรคกิ้งในเขต Everest นานถึง 20 วัน (ทั้งหมด 21 วัน หากรวมวันบินกลับจาก Lukla) และหลงรักเอามากๆ ซะด้วย จนต้องจัดทัวร์เทรคกิ้ง Everest Base Camp + 3 Pass + Kalapatthar Trek เลยค่ะ แต่หาก 3 Passes หนักไป หยกก็มีจัด EBC + 2 Passes Trek นะคะ ทั้งๆ ที่ก่อนไป หยกคิดไว้ว่าจะไปเทรคให้ได้รู้เฉยๆ ว่าทำไมเส้นนี้ถึงฮิตมากนัก แต่จะไม่จัดทัวร์ แต่แล้ว… ด้วยความมีเสน่ห์ของ Everest Trek ที่หยกหลงรักไปแล้ว หยกจึงอดใจไม่ไหวที่จะต้องจัดทัวร์ ต้องแบ่งปันประสบการณ์ที่ได้มา ความสวยงามและสนุกของเส้นทางนี้ให้เพื่อนๆ ได้รับทราบให้ได้ และเพื่อนๆ จะทราบได้เลยว่าทำไมหยกและคนอื่นๆ ที่เคยไปเทรคเส้นทางนี้มาแล้ว ตกหลุมรัก Everest อย่างมากมาย
มองหาทริปลุยๆ มันส์ๆ + ไกด์หญิงคนไทย ? เนปาล? ทาจิกิสถาน? คีร์กีซสถาน? จอร์แดน? ศรีลังกา?
หยกจัดทริปแล้วค่ะ ปี 2565 สนใจทริปไหน คลิ๊กอ่านเพิ่มเติมที่ภาพได้เลยค่ะ ไปผจญภัยกัน!
ข้อเท็จจริงที่ควรรู้ของ EBC Trek
- เราไม่สามารถมองเห็น “ยอดเขา Everest” ได้จาก Everest Base Camp นะคะ แต่สามารถเห็นได้ตรงทางเดินก่อนถึง EBC ค่ะ
- ที่ EBC ยังมีจิตรกรรมฝาผนังฝีมือมนุษย์ เจ้าสเปรย์สีแดงๆ บนก้อนหินที่เขียนว่า Everest Base Camp ที่เป็นการทำลายธรรมชาติ แย่มากๆ ค่ะ
- เราจะมองเห็น ยอดของ Everest จริงๆ คือ แค่ยอดๆ เท่านั้น ระหว่างทางเดิน แค่ไม่กี่วัน 1 – 3 วัน ขึ้นกับเส้นทางที่เลือกเดิน
- EBC ยากไหม? หากต้องการเดินแค่ EBC ไม่ข้ามพาสนั้น ไม่ได้ยากอย่างที่คิดนะคะ
- การไป Everest Base Camp ไม่ได้มีการปีนเขา แต่เป็นการเดิน หรือ ที่เรียกว่า เทรคกิ้ง ค่ะ
- สภาพอากาศ Everest Base Camp หนาวตลอดเวลา เพราะความสูงที่สูงกว่า 5364 m นั่นเอง





ความเดิมตอนที่แล้ว ไปไหนมาก่อนมา EBC Trek:
หยกเทรคบนเส้นทาง Annapurna Circuit + Tilicho Lake Trek ก่อนเทรคบนเส้นทางนี้ค่ะ หากเพื่อนๆ อยากทราบที่มาที่ไป ว่าทำไมหยกถึงได้มาเทรคที่เนปาลระหว่างช่วงโรคระบาดแบบนี้ สามารถคลิก(และเพื่ออ่านรีวิวด้วย)ที่ลิ้งค์ได้เลยค่ะ
ไปชมเรื่องราว ประสบการณ์ และข้อมูลต่างๆ ของการผจญภัยบนเส้นทางนี้กันค่ะ หยกขอเรียกเส้นทางนี้ ตามที่ฮิตๆ กัน ว่า Everest Base Camp Trek นะคะ ถึงแม้หยกเลือกที่จะไม่ได้ไป EBC ก็ตาม





1. ทราบกันไหมคะว่า EBC Trek คืออะไร? อยู่ที่ไหน?
- EBC Trek หรือ Everest Base Camp Trek นั้น อยู่ในเขตของ Sagarmatha National Park หรือ เขต Everest (เอเวอเรสต์) หรือ เขต Khumbu (คุมบู) ซึ่งเป็นคนละเขตกับ Annapurna Base Camp (ABC), Annapurna Circuit, Poon Hill และ Langtang เป็นต้น
- คำว่า Base Camp หมายถึง จุดกางเต็นท์ค้างคืน ของนักปีนเขา (climber) ก่อนที่จะเริ่มปีนเขา ซึ่งกรณีของ Everest Base Camp นั่นคือ แค้มป์ของนักปีนเขาก่อนจะเริ่มปีนไปยัง ยอดเขาเอเวอเรสต์ (ซึ่งมีหลาย camp)
- EBC Trek จะเป็นการเดินไปยัง Everest Base Camp (EBC) 5364 m
- EBC 3 Passes Trek จะเป็นการเดินไปยัง EBC และ มีการเดินข้ามพาสทั้งสาม นั่นก็คือ Kongma La Pass 5535 m, Cho La Pass 5420 m และ Renjo La Pass 5345 m
- EBC 3 Passes Kalapatthar Trek จะเป็นการเดินไปยัง EBC, Kalapatthar 5648 m และ มีการเดินข้ามพาสทั้งสาม





2. เตรียมตัวไป EBC Trek: การเตรียมตัวเตรียมร่างกาย, การออกกำลังกายของหยก และ การเตรียมอุปกรณ์กันหนาวให้พร้อม
2.1. การเตรียมตัวเตรียมร่างกาย
การเตรียมตัวทางด้านร่างกายสำหรับ เตรียมตัวไป EBC นี้ไม่ได้แตกต่างมากนักจากเส้นทางอื่นๆ มากนักนะคะ คือ เน้นการออกกำลังกายให้กล้ามเนื้อแข็งแรง ทั้งแขน ขา หลัง น่อง ทั้งเน้นเรื่องการหายใจ (ปอด) และความยืดหยุ่น รวมทั้งกล้ามเนื้อหัวใจ ด้วยค่ะ โดยที่ไม่จำเป็นต้องถึงขั้น แข็งแรงมากมาย หรือ ฟิตสุดๆ นะคะ
หยกเคยหาข้อมูลในเน็ตค่ะ แล้วมีคนพูดว่า “ไม่จำเป็นต้องออกกำลังกายก่อนมาเทรคก็ได้ มาฟิตบนเทรลเอา พอเทรคไปสัก 2 – 3 วัน ทรมานแค่ช่วงแรกๆ หลังจากนั้น ร่างกายก็จะเริ่มแข็งแรงและฟิตเอง” หยกไม่แนะนำนะคะ ขอแค่มีการออกกำลังกายมาบ้าง ล่วงหน้า สม่ำเสมอหน่อย ก่อนเทรคสัก 1 – 2 เดือน ช่วยให้สนุกได้ตั้งแต่การเทรควันแรกค่ะ อุตส่าห์ได้มาเที่ยวมาเทรคบนเขาหิมาลัยทั้งที เราจะทรมาน 2 – 3 วันแรกไปทำไมคะ ทำไมไม่เลือกที่จะสนุกตั้งแต่การเทรคกิ้งวันแรก? จริงไหมคะ?





การเริ่มออกกำลังกาย นั้นยากจริงค่ะ แต่หากเพื่อนๆ สามารถบังคับตัวเองในช่วงแรกได้แล้ว อาทิตย์ที่สองของการออกกำลังกายจะง่ายขึ้นมากๆ เลยนะคะ ทั้งยังจะช่วยให้เพื่อนๆ มีทริปเทรคกิ้งที่สนุกมากๆ อีกด้วยนะคะ
2.2. ตารางการออกกำลังกายของหยก
ปกติ (คือตอนที่ไม่ได้เดินทางท่องเที่ยว) หยกจะออกกำลังกายแบบสลับกันทุกวันค่ะ หรือที่เค้าเรียกกันว่า cross-training เพื่อเน้นกล้ามเนื้อทุกส่วน ทั้งแขน, ขา, หลัง, น่อง, หัวใจ และ ปอด ซึ่งการออกกำลังกายที่หยกทำประจำ เริ่มจากวันจันทร์ (หยุดวันอาทิตย์ค่ะ) คือ วิดพื้น, คาร์ดิโอ, เวท, โยคะ, สควอทและลันจ์ และ คาร์ดิโอ หยุดออกกำลังกายวันอาทิตย์





โดยที่ทุกอย่างไม่ต้องดีเลิศเลอ ทำได้จำนวนครั้งเยอะๆ นะคะ เช่น วิดพื้น หยกไม่ได้เน้นทำทีเดียวได้ทีละ 30 หรือ 50 ครั้งนะคะ แต่หยกทำหลายๆ เว่อร์ชั่นของวิดพื้น 4 – 10 ครั้ง หากไม่ไหวก็ใช้เข่าช่วย แล้วพักแปปๆ แล้วทำท่าต่อไป เป็นต้น ช่วงแรกๆ หยกก็ทำได้แค่ครั้งสองครั้ง แต่พอทำเป็นประจำ กล้ามเนื้อก็แข็งแรง และ ก็ทำได้เองค่ะ
ส่วน คาร์ดิโอ ที่หยกทำ คือ T25 ค่ะ (โปรด warm up ดีๆ ก่อนเริ่มออกกำลังกายด้วย T25 นะคะ เพื่อให้ความอบอุ่นกับกล้ามเนื้อ และป้องกันการบาดเจ็บค่ะ และ เมื่อออกกำลังกายเสร็จ อย่าลืม cool down ก่อนพัก เพื่อป้องกันการบาดเจ็บนะคะ) ซึ่งนอกจากจะได้ กล้ามเนื้อหัวใจ ได้ปอด แล้ว ยังได้ กล้ามเนื้อน่องด้วยนะคะ



การออกกำลังกาย อย่าหักโหม ค่อยๆ ทำนะคะ ให้เน้นคุณภาพ ทำแต่ละท่าให้ถูก ไม่เน้นปริมาณ เพื่อป้องกันการบาดเจ็บนะคะ
แต่การเตรียมร่างกายก่อนมาเทรค EBC Trek ครั้งนี้ ง่ายกว่าทุกครั้งค่ะ เพราะหยกเทรค Annapurna Citcuit 36 วัน โดยที่ไม่ได้รับบาดเจ็บใดๆ ก่อนมาเทรคบนเส้นทางนี้ ร่างกายเลยค่อนข้างพร้อมอย่างมากมายเลยค่ะ
2.3. การเตรียมอุปกรณ์กันหนาว
เตรียมตัวไป ebc การเตรียมของมาเทรคบน EBC Trek ช่วงฤดูหนาวแบบนี้ นอกจากการตรวจสอบ สภาพอากาศ Everest Base Camp ช่วงที่จะไปเทรคให้ดีแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดที่ต้องเตรียมมาให้พร้อมและดีที่สุด คือ อุปกรณ์กันหนาวค่ะ ด้วยอากาศที่สามารถหนาวมากๆ แบบ -20 ถึง -30 องศาเซลเซียส ได้เลย นอกจากความหนาวเข้ากระดูกที่จะเป็นสิ่งที่ทรมานมากๆ ที่จะทำให้หมดสนุก และ ที่อาจทำให้ไม่สบายแล้ว ยังอาจจะเป็นจุดสิ้นสุด(เทรคไม่จบ ตัดสินใจเดินกลับ)ของการเทรคกิ้งเลยก็ได้นะคะ





การเตรียมอุปกรณ์กันหนาวครั้งนี้ หยกจึงมีโอกาสได้ช้อปอุปกรณ์น้องใหม่ (ไม่มีสปอนเซอร์นะคะ) ค่ะ ซึ่งเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องมากๆ และ ชอบมากๆ อากาศหนาวๆ แบบติดลบเยอะๆ หยกยังใส่เสื้อแค่ 2 ชั้น และ กางเกงแค่เพียง 2 ชั้นเช่นกันค่ะ (ส่วนตัวแล้วหยกไม่ชอบมากๆ กับการต้องใส่เสื้อผ้า 4 – 6 ชั้น มันอึดอัด และ ไม่สบายตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนเข้าห้องน้ำ ที่สำคัญ คือ ดูตัวพองๆ ผู้หญิงทั้งหลายคงเข้าใจนะคะ)
2.3.1. อุปกรณ์กันหนาวพิเศษสำหรับครั้งนี้ ที่ทำให้ชีวิตการเทรคครั้งนี้ง่ายและสบายขึ้นเยอะ:
- ถุงนอน -23.3 องศา Fill power 900+ Goose down เลยนะคะ ชอบมากก หนานุ่ม นอนสบาย และ อุ่นสุดๆ ทำให้ทริปนี้หลับสบายมากๆ ไม่หนาวทรมานเลยค่ะ ไม่ผิดหวังเลยที่ลงทุนซื้อมา ซื้อใหม่มาเพื่อทริปนี้โดยเฉพาะเลยค่ะ (ไม่มีสปอนเซอร์นะคะ)
- Down pants กางเกงขนห่านแท้ Fill power 900+ Goose down ใส่สบายมากๆ อุ่นมากๆ ใส่แล้วไม่เป็นมิชิลินด้วย ชอบมากๆ ค่ะ ยิ่งใส่ตอนอยู่ในที่พักในวันพักที่ไม่ได้ไปไหน ก็ยิ่งอุ่นสบายมากๆ ไม่ผิดหวังเลยที่ซื้อมา (ไม่มีสปอนเซอร์นะคะ)
- Down booties รองเท้าขนห่านแท้ อันนี้หยกซื้อที่เนปาลค่ะ เป็นแบรนด์ของเนปาล เค้าว่าทำจาก ขนห่านของแท้ ด้วย ตอนแรกก็ไม่แน่ใจว่าจะได้ใช่ไหม เลยไม่อยากซื้อของราคาแพงค่ะ ปรากฎว่าได้ใช้บ่อยมาก และดีใจมากๆ ที่พกมาด้วย





2.3.2. เวลาหนาวมากๆ ตอนที่เดิน หยกใส่:
- ช่วงบน เสื้อเดินป่าธรรมดา ใส่ปลอกแขนกันแดด แล้วตามด้วย down jacket ที่ทำจากขนห่านแท้ แค่นี้ค่ะ
- ช่วงล่าง กางเกงเดินป่าแบบหนากลาง ตัวเดียวเลยค่ะ
- เท้า ถุงเท้าเดินป่าแบบหนากลาง ที่ทำจากขนแกะ merino 80% แล้วก็รองเท้าเดินป่าค่ะ
- มือ ถุงมือแบบบาง เพราะจะได้จับไม้เท้าเดินป่าถนัดค่ะ
- หน้า ปิดด้วยผ้าบัฟ
2.3.3. เวลาหนาวมากๆ ตอนที่ไม่ได้เดิน (อยู่ในที่พัก) หยกใส่:
- ช่วงบน เสื้อ base layer ที่ทำจากขนแกะ merino 100% (อุ่นจริง อุ่นกว่าสิ่งที่เรียกว่า heat tech) ตามด้วย down jacket ที่ทำจากขนห่านแท้ แค่นี้ค่ะ
- ช่วงล่าง กางเกง base layer ที่ทำจากขนแกะ merino 100% ตามด้วย down pants ที่ทำจากขนห่านแท้ แค่นี้เหมือนกันค่ะ
- เท้า ถุงเท้า expedition (คือถุงเท้าอย่างหนา สำหรับนักปีนเขา) ที่ทำจากขนแกะ merino 72% ตามด้วย down booties ที่ทำจากขนห่านแท้ ค่ะ





2.4. ประกันการเดินทางที่ครอบคลุมเทรคกิ้งเนปาลในที่สูงบนเขา
ประกันนี่สำคัญมากๆ ค่ะ หยกซื้อประกันการเดินทางเป็นประจำ ไม่ว่าจะเดินทางไปที่ไหน เพราะสำคัญกับทุกการเดินทางท่องเที่ยวเลย ไปเที่ยวที่ไหน คือ จำเป็นต้องซื้อ แต่แนะนำว่าอย่าใช้ และยิ่งสำคัญที่สุดเมื่อกิจกรรมที่เราทำกันคือ การเทรคกิ้ง ในที่กันดารบนเขาสูงเป็นเวลาหลายวันแบบนี้ค่ะ ตอนนี้ประกันที่ครอบคลุมการเทรคกิ้งที่เนปาล ก็หายากมากๆ เลยด้วย
ประกันการเดินทาง มาเทรคกิ้งเนปาลนั้น ต้องเลือกให้ดีๆ นะคะให้แน่ใจว่า หลักๆ ครอบคลุมสิ่งต่อไปนี้
- การท่องเที่ยวในประเทศเนปาล
- กิจกรรมการเทรคกิ้ง บนเขาสูง โดยเลือกประเภทหรือบริษัทที่ครอบคลุมที่ความสูง ที่สูงมากที่สุดเท่าที่จะหาได้ (บริษัทที่หยกใช้อยู่ เป็นเครือเดียวกับ Tokyo Marine ค่ะ โดยใช้ชื่อว่า World Trips ซึ่งครอบคลุมที่ความสูงไม่เกิน 4500 m ค่ะ)





3. วางแผนเทรค Everest Base Camp Trek กี่วัน? เป็นไปตามแผนที่วางไว้ไหม?
เส้นทางที่วางแผนไว้:
แพลนที่วางไว้คือ Everest 3 Passes + Kalapatthar ในช่วงกลางเดือนธันวาคม 2564 – เกือบๆ กลางเดือนมกราคม 2565 ค่ะ หยกไม่ได้กำหนดจำนวนวันทึ่แน่นอนค่ะ กะๆ ไว้ ประมาณ 20 – 25 วัน เพราะหยกจัดแผนการเดินเอง และเดินตามใจฉัน อยากชิว หรือ อยากหยุดพักตามสะดวกเลยค่ะ และใช่ค่ะ เป็นการเทรคกิ้งในเขต Khumbu ในฤดูหนาว ทึ่อุณหภูมิสามารถหนาวถึง -20 ถึง -25 องศาเซลเซียสได้ หยกจึงยิ่งไม่อยากที่จะกำหนดจำนวนวันเดิน เผื่อเจอสภาพอากาศไม่ดีค่ะ (ตารางเดินหยกจึงยืดหยุ่นมาก เดินตามใจฉันเลยจ้า)
เส้นทางที่ได้เดินจริง:
สถานการณ์จริง คือ หยกไม่ได้ข้ามพาสทั้ง 3 ค่ะ เนื่องด้วยหิมะตก ถึงแม้จะรออยู่ที่ Chukkhung อีก 3 วันเต็มๆ ก็ตาม เพื่อหวังว่าจะข้าม Kong Ma La Pass แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ค่ะ ต้องเปลี่ยนแผนการเดินใหม่ค่ะ ซึ่งเรื่องของสภาพอากาศนี้อยู่นอกเหนือการควบคุมของคนเรานะคะ ก็ไม่เป็นไรค่ะ ได้ข้ออ้าง หาโอกาสกลับมาซ้ำเส้นทางนี้แน่นอนค่ะ 😆
ความเป็นจริง มักไม่ตรงกับสิ่งที่คิดหรือที่วางแผนไว้เสมอไปนะคะ ใช้ได้กับทุกสถานการณ์ การท่องเที่ยวก็เช่นกันค่ะ การมีแผนสำรอง พร้อมกับการเปิดใจให้ยอมรับ ให้เข้ากับการปรับเปลี่ยนแผนการเที่ยวใหม่จึงสำคัญมากๆ นะคะ เพื่อที่จะได้ไม่มีความรู้สึกว่า ผิดหวัง





4. ระดับความยากง่าย EBC ยากไหม ? มือใหม่มาเทรคได้ปะ? เจอ AMS หรือเปล่า?
4.1. ระดับความยากง่าย EBC ยากไหม ?
ไม่รับรวม 3 พาส หยกขอจัดระดับเส้นทางที่หยกเทรคตลอด 20 วัน ไว้ในระดับที่ผสมกันไป คือ “กลางๆ แอบยาก ปนท้าทายมากๆ หน่อย” ค่ะ ด้วยเหตุผลต่อไปนี้
ที่ให้กลางๆ ด้วยเหตุผลต่อไปนี้
- ระยะเวลาของการเดินเฉลี่ยบนเส้นทางนี้ ถือเป็นการเดินเทรคปกติบนเขาเนปาลค่ะ คือ มีวันที่เป็นวันพัก ที่ไม่ต้องย้ายที่นอน ไม่ต้องแพ็คของ แต่ก็ยังมีการเดินสั้นๆ และ วันเดินสั้นๆ 2 – 2.5 ชั่วโมง | โดยส่วนใหญ่เป็นวันที่เดินกลางๆ คือ 4 – 5.5 ชั่วโมง | และมีวันที่เดินนานๆ 6 – 8 ชั่วโมง อยู่แค่ 1 – 2 วันค่ะ
- ประกอบกับความสูงที่สูงมากๆ บนเส้นทางนี้ จึงทำให้ต้องมีวันที่ให้ร่างกายปรับตัวกับสภาพอากาศบนที่สูง หรือ ที่เรียกว่า acclimatization day อยู่หลายวัน คือวันที่นอนค้างที่เดิม ไม่ต้องแพ็คของแบกของไปไหน มีทั้งวันที่อยู่เฉยๆ ชิวๆ พักจริงๆ ไม่ต้องเดินไปไหน และ วันที่เดินเล่นชมวิว day hike เบาๆ เดินสั้นๆ





ที่ให้แอบยาก ปนท้าทายมากๆ หน่อย ด้วยเหตุผลต่อไปนี้
- ต้องเดินทุกวัน แม้จะเหนื่อยแค่ไหนก็ตาม ก็ต้องตื่นแต่เช้า แพ็คของ แล้วออกเริ่มเดินค่ะ
- หยกต้องอยู่บนความสูงเกิน 4400 เมตร มากถึง 10 คืน ที่หากเตรียมตัวมาไม่ดี วางแผนการเดินไม่ดี ร่างกายไม่พร้อม ก็สามารถเกิด AMS ได้
- ประกอบกับอากาศที่หนาวมากๆๆๆ ที่หากเตรียมอุปกรณ์มาไม่พร้อม (เช่น หากถุงนอนที่เตรียมมา ให้ความอบอุ่นไม่พอ เมื่อต้องนอนในห้องนอนที่อุณหภูมิ -15 องศา เป็นต้น)
- หากที่พักที่เลือกพัก ไม่ทำความอุ่นในห้องทานอาหารอย่างต่อเนื่อง (ใช้เชื้อเพลิงแบบประหยัดสุดๆ) ก็จะหนาวทรมานมากๆ ค่ะ การเตรียมเสื้อผ้าที่ให้ความอบอุ่นมาให้ถูกการใช้งานจึงสำคัญมากๆ
- บางวันต้องออกเดินแต่เช้า ก่อนแสงอาทิตย์จะสาดส่อง จึงต้องเดินท่ามกลางลมที่แรงและสู้กับอากาศที่หนาว อยู่ประมาณ 10-15 นาที โดยที่เราจะไม่แต่งตัวกันเต็มยศ เพราะอีกสักพักก็จะร้อนมากๆ
- ต้องใช้วันพักในการให้ร่างกายปรับตัวกับสภาพอากาศบนที่สูง
- ต้องเดินไต่ความสูงไปยังจุดสูงสุด คือ Kalapatthar 5648 เมตร ที่ชันขึ้นอย่างเดียว และขากลับก็ลาดลงอย่างเดียว (acclimatization จึงสำคัญมากๆ)



4.2. เจอ AMS หรือเปล่า?
- จากประสบการณ์ หยกยังไม่เคยประสบปัญหา AMS นะคะ
- ไม่ว่าจะเดินไปสูงแค่ไหน ยังคงหายใจคล่อง อาจมีหอบเป็นธรรมดา (ไม่ได้หอบแบบที่หายใจไม่ทันจนน่าตกใจ)
- ยังคงมีความหิว ทานอาหารได้และเยอะด้วย
- ส่วนเรื่องปวดหัว ก็มีบ้างค่ะ แต่จะมีแบบที่แค่ปวดหัวเบาๆ
- เรื่องการนอนหลับ เมื่ออยู่ที่สูงเกิน 4,7xx m ในคืนแรกนอนหลับได้ไม่ค่อยดีค่ะ แต่พอเข้าคืนที่สองและคืนต่อๆ ไปก็สามารถนอนหลับได้ดีขึ้นเรื่อยๆ ค่ะ (acclimatization จึงสำคัญมากๆ นะคะ)
ทั้งนี้ เราสามารถ AMS หลีกเลี่ยงได้ง่ายมากๆ ด้วยตัวของเราเอง โดยไม่จำเป็นต้องทานยาเพื่อป้องกันเลยนะคะ มาคุยกับหยกได้ค่ะ





4.3. EBC ยากไหม มือใหม่มาเทรคได้หรือเปล่า?
มีทั้ง ได้ และ ไม่ได้ ค่ะ สำหรับมือใหม่ที่สามารถเทรคได้นั้น และ ทำให้คำถามที่ว่า EBC ยากไหม ให้ง่ายขึ้น มีเงื่อนไขที่แนะนำ ดังนี้
- ไม่จำเป็นที่ต้องมีประสบการณ์เทรคกิ้งแบบหลายๆ วันมาก่อน
- เป็นมือใหม่ที่ชอบออกกำลังกาย หรือ ออกกำลังกายเป็นประจำ
- หากเป็นมือใหม่ที่เคยเดินป่ารายวันที่เรียกว่า ไฮกิ้ง มาก่อน จะได้เปรียบค่ะ จะป่าไทยหรือที่ไหนก็ได้
- แต่หากไม่เคยไฮกิ้งมาก่อน แต่เป็นคนที่ออกกำลังกายเป็นประจำ และสามารถเตรียมร่างกายให้ดีให้พร้อมสำหรับการเทรคกิ้งได้ ก็สามารถเทรคได้เช่นกันค่ะ
- การเตรียมร่างกายสำหรับการเทรคกิ้งนั้น เป็นสิ่งสำคัญค่ะ และเป็นสิ่งที่เพื่อนๆ สามารถเตรียมตัวเองได้นะคะ โดยหยกสามารถช่วยในเรื่องการให้คำแนะนำต่างๆ เรื่องการออกกำลังกาย และ การเตรียมอุปกรณ์ต่างๆ ค่ะ เพราะแน่นอนว่า เพื่อนๆ คงอยากที่จะสนุกกับการเทรคกิ้ง และ เพลิดเพลินกับบรรยากาศตลอดการเทรค มากกว่าการต้องบ่นว่าเจ็บปวดกล้ามเนื้อมากแค่ไหน จริงไหมคะ?





โดยที่มือใหม่ที่อยากลองเทรคบนเส้นทาง EBC 3 Pass Trek สามารถไปเทรคกับเส้นทางที่หยกออกแบบได้นะคะ หยกออกแบบเส้นทางมาอย่างดี ให้เหมาะและไม่หนักหนาเกินไปสำหรับทั้งมือใหม่และมือเก่า เดินไม่หนักไม่รีบมาก, หลีกเลี่ยง AMS และ เลือกหมู่บ้านที่พักเองที่น่าพัก บรรยากาศดี และ อาหารอร่อย (อย่างน้อยก็อร่อยตอนที่หยกไปสำรวจเส้นทางมา เลือกแล้วว่าดีที่สุดค่ะ) หากไม่มั่นใจว่าจะเทรคได้ไหม ลองมาพูดคุยกับหยก เรื่องการเตรียมตัว และ เตรียมอุปกรณ์ ได้นะคะ หยกยินดีให้คำแนะนำค่ะ
มองหาทริปลุยๆ มันส์ๆ + ไกด์หญิงคนไทย ? เนปาล? ทาจิกิสถาน? คีร์กีซสถาน? จอร์แดน? ศรีลังกา?
หยกจัดทริปแล้วค่ะ ปี 2565 สนใจทริปไหน คลิ๊กอ่านเพิ่มเติมที่ภาพได้เลยค่ะ ไปผจญภัยกัน!
5. รายละเอียดของเส้นทางที่หยกเทรคในเขต Everest หรือ Khumbu
5.1. แนะนำหมู่บ้านหลักๆ เป็นยังไง? มีอะไรบ้าง?
a. Lukla 2850 m
Lukla หรือ ลุกลา เป็นหนึ่งในหมู่บ้านที่เป็น “จุดเริ่มเดิน” ไป EBC ค่ะ การเดินทางมานั้นสะดวก ง่าย และใช้เวลาสั้นๆ 30 – 40 นาทีเท่านั้นเองค่ะ เพราะมีสนามบิน ชื่อ “Tenzing-Hillary Airport” หรือมักเรียกกันว่า “Lukla Airport” หาก… “ไม่ติดว่า สภาพอากาศไม่ดี” เพราะที่ สนามบินลุกลา นั้นขึ้นชื่อเรื่อง เครื่องบินดีเลย์เพราะสภาพอากาศที่แย่ ทำให้บินไม่ได้ ซึ่งทำให้บางครั้ง การเดินทางที่ควรจะใช้เวลาไม่ถึงชั่วโมง อาจเปลี่ยนเป็น หลายๆ ชั่วโมง หรือ วันถัดไป ก็ได้นะคะ





เรื่องสภาพอากาศนั้นอยู่เหนือการควบคุมของเรา ดังนั้นแล้ว โปรดยอมรับในความเสี่ยงนี้ และมีแผนสำรองไว้นะคะ ทั้งนี้ Tenzing-Hillary Airport ยังถือว่าเป็นสนามบินที่อันตรายที่สุดในโลกอีกด้วย
การเดินทางไปยังจุดเริ่มเดินด้วยเครื่องบินเพื่อไปเทรคกิ้งในเนปาลในเขตนี้ ที่คิดว่าง่ายและสะดวกนั้น ก็ยังคงไม่ทิ้งคอนเซปต์ที่ว่า “การเดินทางไปยังจุดเริ่มเดิน เป็นหนึ่งในสิ่งที่ยากที่สุดสำหรับการเทรคกิ้งเนปาล” เพราะเครื่องบิน จาก Kathmandu ไปกลับ Lukla นั้นเป็นเครื่องบินขนาดเล็กมากๆ ค่ะ รองรับผู้โดยสารได้ประมาณแค่ 15 – 20 คน เครื่องเล็กแบบไม่มีพื้นที่ใดๆ ยืนได้ไม่เต็มที่ ต้องโค้งๆ ก้มๆ หัวนี้ชนเพดานเลยค่ะ ส่วนเรื่องความดังนี้อย่าให้เล่า เครื่องเสียงดังมาก สั่นแรง ยิ่งตอนเครื่องกำลังลงที่ลุกลา (landing) นี่เสียวสุดๆ เลยค่ะ เพราะรันเวย์สั้นมาก ซึ่งก็ถือเป็นการเริ่มต้นการผจญภัยที่จดจำได้ไม่ลืมเลยค่ะ





b. Namche Bazaar 3440 m
Namche Bazaar เป็นหมู่บ้านสำหรับ acclimatization หรือ ให้ร่างกายปรับตัวให้ได้กับสภาพอากาศบนเขาสูง เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิด AMS เหล่าเทรคเกอร์ทั้งหลายจึงนิยมค้างคืนกันที่นี่อย่างน้อย 2 คืนค่ะ ทั้งยังเป็นหมู่บ้านที่ใหญ่ที่สุดในเขต Khumbu ที่นี่มีทุกอย่าง อยู่ได้ไม่เบื่อ บางทีหยกก็คิดนะว่า “ที่นี่ มีเยอะเกินไป ดีกว่า Thamel ซะอีก 555+” ก็ที่นี่ มี ไปรษณีย์, ร้านตัดผม ที่มีหลายร้านจนนับไม่ถ้วน, ธนาคาร, ATM, ร้านแลกเงิน ที่แน่นอนว่าเรทไม่ดีมาก, ร้านขายยาเป็นสิบ, ร้านเบเกอรี่ขนาดใหญ่หลายร้าน ที่มีทั้งคุกกี้ เค้ก พาย และขนมปังประเภทต่างๆ, คาเฟ่ ที่มีเครื่องทำกาแฟสดขนาดใหญ่ อีกหลายร้าน, ร้านขายอุปกรณ์เทรคกิ้งของจริงอีกหลายร้าน ที่มีของเยอะมากๆ และ ยังมี Irish Pub ที่ให้ได้ฉลองในขากลับ (ไม่แนะนำให้ดริ๊งค์ตอนขาไปนะคะ เสี่ยงต่อการเกิด AMS มากค่ะ)
ใช่ค่ะ ทั้งหมดนี้ ซึ่งเป็นแค่บางส่วนที่นำมาเล่าให้ฟังเท่านั้นนะคะ เพราะยังมีมากกว่านี้ และ มีอยู่จริงที่ Namche Bazaar หมู่บ้านที่อยู่สูงถึง 3440 m ใครลืมอะไร หาได้หมดจากที่นี่เลยค่ะ แต่ไม่แนะนำให้ตั้งใจมาหาของที่นี่เพื่อเทรคนะคะ เพราะหากไม่มี นี่คือจบเลยค่ะ





c. Dingboche 4410 m
Dingboche เป็นอีกหมู่บ้านสำหรับ acclimatization ค่ะ ที่นี่มีร้านเบเกอรี่ ที่มีกาแฟสดอยู่ 3 – 4 ร้านค่ะ ทั้งยังมี day hike ไปยังจุดชมวิวสูงๆ หลายแห่ง ที่นอกจากจะได้วิวสวยๆ แล้ว ยังช่วยในเรื่องการให้ร่างกายปรับตัวกับสภาพอากาศได้ดีขึ้นอีกด้วยค่ะ
d. Chhukhung 4730 m
Chhkhung เป็นหมู่บ้านสำหรับเทรคเกอร์ที่ต้องการจะข้าม Kong Ma La Pass (และปีน Island Peak) ดังนั้นแล้ว เทรคเกอร์ที่จะไปแค่ EBC ที่จะไม่ข้าม Kong Ma La Pass จะไม่แวะมาที่นี่ค่ะ ที่นี่เป็นหมู่บ้านเล็กๆ ที่มีที่พักแค่ไม่กี่แห่ง ไม่มีร้านค้าหรือร้านเบเกอรี่ใดๆ (แต่ในที่พักมีของที่จำเป็นขายค่ะ)
ที่นี่ยังมี day hike สำหรับ acclimatization อยู่หลายเส้นทาง เช่น Island Peak Base Camp 5100 m, Imja Lake 5000 m และ Chhukhung Ri 5546 m เป็นต้น
e. Gorak Shep 5140 m
Gorak Shep เป็นจุดเริ่มเดินไปทั้ง EBC 5364 m และ Kalapatthar 5648 m ค่ะ ทั้งยังเป็นจุดสูงสุดที่ต้องค้างคืนสำหรับเส้นทาง EBC Trek ด้วยค่ะ





5.2. สรุปรายละเอียดหลักของเส้นทาง Everest Base Camp Trek
- จำนวนวันที่เทรค: 20 วัน (18 ธันวาคม 2564 – 6 มกราคม 2565)
- จุดเริ่มเดิน: Lukla 2850 m
- จุดสิ้นสุด: Lukla 2850 m
- จุดสูงสุด: Kalapatthar 5648 m
- หมู่บ้านที่นอนค้างที่มีความสูงสูงสุด: Gorak Shep 5140 m
- จำนวนคืนที่นอนค้างที่สูงเกิน 3800 m: มากถึง 13 คืน (จากทั้งหมด 20 คืน)
- จำนวนคืนที่นอนค้างที่สูงเกิน 4400 m: มากถึง 10 คืน (จากทั้งหมด 20 คืน)
- อุณหภูมิต่ำสุดที่หยกวัดเองที่หน้าที่พัก ที่ Chhukhung 4730 m: เวลา 07.39 น. วัดได้ -18.2 องศาเซลเซียส
- อุณหภูมิต่ำสุดที่หยกวัดเองในห้องนอน ที่ Lobuche 4910 m: เวลา 21.00 น. วัดได้ -12.2 องศาเซลเซียส | 06.45 น. วัดได้ -15.5 องศาเซลเซียส
- จำนวนวันที่ไม่ได้อาบน้ำ: 17 วันถ้วน (นานสุดเท่าที่เคยเลยค่ะ เป็นเพราะหยกมาเทรคนอกฤดูเทรคกิ้งค่ะ ซึ่งปกติเส้นทางนี้ มีน้ำร้อนให้อาบนะคะ)





6. สภาพอากาศ Everest Base Camp Trek เป็นอย่างไร? เทรคช่วงไหนดีที่สุด?
ปกติแล้ว สภาพอากาศ Everest Base Camp นั้นหนาวอยู่ตลอดเวลา เพราะความที่อยู่สูงถึง 5364 m และ คาดการณ์ยากค่ะ อีกทั้งโดยทั่วไปแล้ว สภาพอากาศบนเขาสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาในทุกวินาที และ สามารถมีอุณหภูมิที่แตกต่างกันระหว่างกลางวันกับกลางคืนอย่างมากเลยค่ะ แต่ช่วงที่สภาพอากาศจะคงที่ที่สุด (มีอุณหภูมิที่แตกต่างกันน้อยที่สุด) คือ ฤดูใบไม้ผลิ (Spring) และ ฤดูใบไม้ร่วง (Fall) ดังนั้น หนึ่งในการ เตรียมตัวไป ebc คือ การวางแผนว่าจะมาเทรค EBC ช่วงเดือนไหนนั้น จึงสำคัญมากๆ (ต้องเลือกช่วงที่สภาพอากาศคงที่และดีที่สุด ซึ่งก็คือ ช่วงฤดูเทรคกิ้ง หรือ high season ค่ะ)





หมายเหตุ
อุณหภูมิต่ำสุด สูงสุด ที่เพื่อนๆ จะได้เห็นข้างล่างนี้ ไม่ได้หมายว่าจะหนาวแบบนั้นตลอดเวลานะคะ โดยให้คำนึงว่า อุณหภูมิสูงสุด มักจะหมายถึง อุณหภูมิที่เค้าวัดในช่วงกลางวัน ในหมู่บ้านที่ต่ำๆ เช่น Lukla 2850 m ส่วนอุณหภูมิต่ำสุด มักจะหมายถึง อุณหภูมิที่เค้าวัดในช่วงกลางคืน ในหมู่บ้านที่สูงสุด เช่น Gorak Shep 5140 m แล้วให้ไล่เฉลี่ยความหนาวเย็นไปตามความสูงต่ำ และ ตามช่วงเวลาที่มีแสงอาทิตย์นะคะ ทั้งนี้ ที่ Base Camp 5364 m และ Kalapatthar 5648 m ในตอนกลางวัน ที่ฟ้าเปิดจะอบอุ่นกว่า ช่วงที่ฟ้าปิดนะคะ
6.1 ฤดูเทรคกิ้งของ Everest Base Camp Trek
ทั้งนี้ สภาพอากาศ Everest Base Camp Trek หรือในเขต Khumbu นั้นจะหนาวอยู่ตลอดเวลา และ แตกต่างจากเขตอื่นๆ ในเนปาล เช่น Annapurna หรือ Langtang นะคะ ดังนั้น ฤดูเทรคกิ้งของ EBC Trek จะมี 2 ช่วงฮิตๆ ที่อากาศคงที่ที่สุด และ อากาศดีมากๆ ที่ไม่ได้หนาวแบบทรมาน คือ





6.1.1. ตุลาคม – พฤศจิกายน เป็น ฤดูใบไม้ร่วง (Fall)
อากาศดีที่สุด คงที่มากที่สุด ท้องฟ้าแจ่ม สีเข้ม และ ใสได้มากๆ ด้วยเหตุผลที่ว่าฤดูมรสุมได้พึ่งผ่านพ้นไป อุณหภูมิกลางวันสบาย ส่วนกลางคืนก็หนาวค่ะ แต่หนาวแบบทนได้ ช่วงนี้ที่ EBC เพื่อนๆ จะไม่ได้เห็นเต็นท์ของนักปีนเขานะคะ เพราะช่วงเวลาที่นักปีนเขานิยมไป summit ยอดเขาเอเวอเรสต์ คือ เดือนพฤษภาคม ค่ะ
ตุลาคม
เป็นเดือนที่ฮิตที่สุดในการมาเทรคบนเส้นทางนี้
อุณหภูมิสูงสุด 13 องศา แต่หากอยู่กลางแดด ก็สามารถร้อนกว่านี้ได้มากค่ะ
อุณหภูมิต่ำสุด -6 องศา
พฤศจิกายน
เป็นปลายฤดูใบไม้ร่วง และจะเข้าฤดูหนาวค่ะ อากาศจะเย็นกว่าช่วงเดือนตุลาคม กลางคืนอุณหภูมิติดลบได้ โดยที่ช่วงปลายพฤศจิกายนที่ Base Camp (ไม่ใช่ตลอดเส้นทางเดินนะคะ) สามารถเจอหิมะตกเบาๆ ได้ค่ะ
อุณหภูมิสูงสุด 7 องศา แต่หากอยู่กลางแดด ก็สามารถร้อนกว่านี้ได้มากค่ะ
อุณหภูมิต่ำสุด -10 องศา





6.1.2. มีนาคม – เมษายน เป็น ฤดูใบไม้ผลิ (Spring)
สภาพอากาศ Everest Base Camp ในช่วงนี้เป็นช่วงฮิตรองจากฤดูใบไม้ร่วงค่ะ เพื่อนๆ จะเห็นท้องฟ้าเป็นสีฟ้าแจ่มและใส เห็นสีสันของป่าเขา ความเขียว และ ดอกไม้สีสันสวยๆ ระหว่างเส้นทาง และยังเห็นเต็นท์ของรักปีนเขามากมายที่ EBC ทั้งยังเห็นฝูงจามรี (Yak) แบกสัมภาระมากมายไปที่ base camp ให้นักปีนเขาด้วยค่ะ
มีนาคม
ปลายเดือนมีนาคม ดอกกุหลาบพันปี หรือ Rhododendron กำลังเริ่มออกดอกด้วยค่ะ
อุณหภูมิสูงสุด 7 องศา แต่หากอยู่กลางแดด ก็สามารถร้อนกว่านี้ได้มากค่ะ
อุณหภูมิต่ำสุด -12 องศา





เมษายน
ดอกกุหลาบพันปีสีสวยสดบานสะพรั่ง เดือนนี้จะอุ่นขึ้นมาจากเดือนมีนาคมค่ะ
อุณหภูมิสูงสุด 12 องศา แต่หากอยู่กลางแดด ก็สามารถร้อนกว่านี้ได้มากค่ะ
อุณหภูมิต่ำสุด -5 องศา
พฤษภาคม
เป็นปลายฤดูใบไม้ผลิ ไม่ใช่ฤดูเทรคกิ้งฮิตๆ ของ EBC Trek แต่มาได้ค่ะ สภาพอากาศโดยรวมยังดีค่ะ ช่วงนี้ดอกกุหลาบพันปีเริ่มร่วงหล่น อากาศอุ่นขึ้นๆ อาจมีลมได้บ้าง แต่กลางคืนก็ยังหนาวอยู่ดี โดยที่ช่วงปลายเดือนจะเริ่มมีฝนนะคะ
อุณหภูมิสูงสุด 18 องศา แต่หากอยู่กลางแดด ก็สามารถร้อนกว่านี้ได้มากค่ะ
อุณหภูมิต่ำสุด -3 องศา





6.2 นอกฤดูเทรคกิ้งของ Everest Base Camp Trek
ช่วงที่หยกมาเทรคคือ ต้นฤดูหนาว ค่ะ การ เตรียมตัวไป EBC ช่วงนี้ จึงต้องเตรียมตัวเตรียมอุปกรณ์มาให้ดีมากๆ หน่อย
6.2.1. ธันวาคม – กุมภาพันธ์ เป็น ฤดูหนาว (Winter)
กลางวันสั้น กลางคืนยาวและหนาวมาก มกราคมเป็นเดือนที่มีอากาศหนาวที่สุด โดยอุณหภูมิสามารถต่ำสุดได้ถึง -25 องศาเลยค่ะ สภาพอากาศโดยรวมในฤดูนี้ค่อนข้างคงที่ และ แห้ง (ไม่มีฝน) กลางคืนก็จะหนาวมากๆ และ ในเขตสูงๆ จะมีหิมะตกค่ะ ซึ่งจะทำให้ท้องฟ้ามีเมฆหนาและมองไม่เห็นวิว มีหมอกปกคลุมป่า เขา และ ทางเดิน ที่ให้บรรยากาศสวยงามไปอีกแบบ แต่ในวันที่ไม่มีหิมะ เค้าว่ากันว่า ฤดูหนาวนี้จะมีท้องฟ้าที่แจ่มใสสวยมากๆ เลยนะคะ
การมาเทรคกิ้งในฤดูหนาวนั้นเป็นไปได้ และ สามารถมาเทรคได้นะคะ แต่ต้องมีการเตรียมตัว เตรียมใจ เตรียมของ โดยเฉพาะอุปกรณ์กันหนาว และ ระมัดระวังให้ดีมากๆ หน่อย
6.2.2. ปลายพฤษภาคม – กันยายน เป็น ฤดูมรสุม (Monsoon)
ช่วงนี้ไม่แนะนำให้มาเทรคเลยค่ะ อันตราย ทั้งอากาศที่ไม่สบายตัว ร้อนและชื้น ทั้งยังมีฝน ก่อเกิดทางเดินที่อันตราย เช่น ดินถล่ม





7. Khumbu Cough คืออะไร? ทำไมมาเทรค EBC ต้องโดนเตือน? น่ากลัวตรงไหน? ป้องกันยังไง?
7.1. Khumbu Cough คืออะไร? มาเทรคเส้นนี้ต้องเจอเหรอ?
ใครที่มองหาข้อมูลเทรคกิ้งในเขต Everest หรือ Khumbu อาจจะเคยเห็นข้อมูลคำเตือนผ่านหูผ่านตาของ Khumbu Cough หรืออีกชื่อคือ High Altitude Hack หากไม่อยากไอจนเหนื่อย ไอจนนอนไม่หลับ จนเพลีย เหนื่อย หมดสนุก รู้สึกเหมือนจะไม่สบาย ซึ่งนี่ก็เป็นอีก หนึ่ง ใน การ เตรียมตัวไป EBC ที่สำคัญนะคะ
7.2. ไปทำความรู้จักกับ Khumbu cough ด้วยกันเลยค่ะ
- ตั้งชื่อของการไอตามเขต Khumbu หรือ เขต Everest ในเนปาลค่ะ แต่สามารถเกิดอาการไอลักษณะนี้ได้ทุกที่บนเขาสูง
- ไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของ Khumbu Cough คาดว่าสัมพันธ์กับ สภาพอากาศบนที่สูง อากาศที่แห้ง และ ความชื้นที่ต่ำ ทำให้เกิดการไอแบบแห้งๆ คันๆ คอ อย่างต่อเนื่อง มักไปมากขึ้นในตอนกลางคืน
7.3. Khumbu Cough น่ากลัวตรงไหน?
- ในคนปกติ การไอนี้ ไม่น่ากลัวค่ะ แต่จะก่อให้เกิดความรำคาญต่อตัวเราเอง และ คนรอบข้าง บางทีรำคาญมากๆ จนไม่อยากเทรคต่อ ทั้งยังก่อให้เกิดความเหนื่อยเพลีย หากไอเรื้อรังเยอะๆ นานๆ เป็นเวลาหลายๆ วัน และนอนไม่หลับหากไอตอนกลางคืน อาจถึงขั้นที่หายใจไม่ออกตอนนอนก็ได้ด้วยค่ะ
- สำหรับท่านที่เป็น โรคหอบหืด, หลอดลมอักเสบ หรือ มีปัญหาเกี่ยวกับไซนัส แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ก่อนมาเทรคในเขตที่สูงๆ อย่าง Everest นะคะ เพราะนอกจากอากาศที่แห้งมากๆ แล้ว อากาศที่หนาวทำให้ในที่พักต้องมีการก่อไฟ เผาฟืนให้ความอบอุ่น ซึ่งพวกควันเหล่านี้ อาจมีผลกระทบกับอาการของเพื่อนๆ ค่ะ





7.4. การป้องกัน Khumbu Cough
- ระหว่างเทรคกิ้งที่มีลมแรงหรืออากาศหนาว ในเขตที่สูงๆ ให้หาผ้ามาปกคลุมจมูก, ปาก และ คอ
- ระหว่างนอนในเขตที่สูงๆ ที่อากาศหนาวๆ ให้พาผ้ามาปกคลุมจมูก, ปาก และ คอ ด้วยเช่นกัน อาจฟังดูอึดอัด แต่สิ่งเหล่านี้จะทำให้เพื่อนๆ นอนหลับสบายอย่างน่าประหลาดใจเลยค่ะ
- ดื่มน้ำให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ หากเป็นไปได้ให้ดื่มน้ำอุ่น
- หลีกเลี่ยงการออกแรงมากเกินไป หรือ กิจกรรมที่ทำให้เกิดการหายใจหอบ (ซึ่งปกติก็ไม่แนะนำให้ทำอยู่แล้ว เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิด AMS) ที่จะทำให้เพิ่มอัตราของการหายใจในอากาศที่แห้งๆ มากขึ้น จึงจะไอได้ง่ายขึ้น
- อมยาอมแก้เจ็บคอ
8. แนะนำที่พักใน ทาเมล กาฐมาณฑุ
ที่พักที่หยกจะแนะนำต่อไปนี้ เป็นที่พักที่หยกเลือกและสรรหามาเอง ไม่ได้มีสปอนเซอร์จากโรงแรมหรือที่ไหนมาบอกให้เอาลงนะคะ โดยหยกเลือกอิงจากตัวเองค่ะ ว่าอยากพักที่ไหนในงบที่ต่างกันออกไป โดยที่หยกหลีกเลี่ยงการเลือกที่พักที่อยู่ใจกลางทาเมลจ๋าๆ นะคะ เพื่อหลีกเลี่ยงความวุ่นวาย และเสียงที่ดังมากๆ ในยามค่ำคืนค่ะ
A). Hostel Funky Monkey Thamel Kathmandu (ถูก)
ที่พักราคาถูก ที่มีห้องห้องแบบดอร์ม และห้องส่วนตัวให้ได้เลือก ทำเลดี อยู่ริมๆ ทาเมลค่ะ จึงไม่วุ่นวายมากนัก โดยเดินแค่ไม่กี่ร้อยเมตรก็เข้าเขตเข้าทาเมลแล้วค่ะ
B). Kathmandu Peace Guesthouse (ถูก)
ที่พักแบบห้องส่วนตัวที่ราคาถูก ดีงาม น่าอยู่ ทั้งทำเลดีก็ดี เงียบสงบ ไม่วุ่นวาย เพราะอยู่ริมทาเมล เดินนิดเดียวเพียง 2 – 3 นาทีก็เข้าทาเมลแล้วค่ะ
C). Gurung’s Home (ถูก-กลางๆ)
ที่พักหลากหลายราคา น่าอยู่มากๆ มีตั้งแต่ดอร์มราคาถูกๆ ห้องพักส่วนตัวราคาถูก ไปจนถึงห้องพักส่วนตัวราคากลางๆ ที่ทำเลก็ดีค่ะ เงียบสงบ ไกลจากความวุ่นวายของทาเมล แต่ก็ไม่ได้ไกลจากทาเมลมากนัก เดินเบาๆ ชมเมืองไปเรื่อยๆ ไม่ถึง 10 นาทีก็ถึงแล้วค่ะ
D). Flying Yak Kathmandu (ถูก-กลางๆ)
แนะนำมากๆ ค่ะ ที่นี่ กับที่พักในทาเมล ที่ไม่ได้อยู่ใจกลางมากให้วุ่นวายเสียงดัง คือทำเลดีสุดๆ ห้องพักก็ดูดี สะอาด น่าเข้าพัก มีตั้งแต่ดอร์ม ไปจนถึง ห้องพักส่วนตัว ให้ได้เลือกตามงบเลยค่ะ ทั้งห้องพักส่วนตัวราคาก็ดี แถมยังมีพ่วงบริการรับที่สนามบินเมื่อจองที่พักออนไลน์อีกด้วยนะคะ
E). Bodhi Boutique Hotel (กลางๆ-หรูหรา)
แนะนำอีกแล้วค่ะ ที่พักทำเลเหมาะ อยู่ในทาเมล แต่ไม่อยู่ในใจกลางจ๋าๆ เลยไม่วุ่นวายมาก ทั้ฃการตกแต่งก็มีเอกลักษณ์ สไตล์บูติกตามชื่อ แม้กระทั่งการตกแต่งในห้องน้ำก็ยังเข้าคอนเซปต์สวยงามเลยค่ะ หากมากัน 3 คนที่นี่ก็เหมาะสุดๆ เพราะมีห้องสำหรับ 3 คนในราคาที่ถูกสุดๆ เลยค่ะ
F). Kumari Boutique Hotel (กลางๆ-หรูหรา)
อีกที่พักที่แนะนำมากๆ ก็น่าอยู่สุดๆ ทั้งยังทำเลดีอีกแล้วค่ะ อยู่ในทาเมล แต่ไม่ได้อยู่ใจกลางทาเมล จึงค่อนข้างเงียบ และไม่วุ่นวายมากนัก หรูหราตั้งแต่การตกแต่งหน้าโรงแรม ห้องนอน ห้องน้ำสะอาด ใหม่ เป็นสัดส่วน ทุกห้องมาพร้อมอาหารเช้าอย่างดี ให้ได้เลือกทานมากมาย





หากมีใครถามว่า EBC ยากไหม? เพื่อนๆ คงตอบว่า “คิดว่า Everest Base Camp Trek นั้น ไม่ได้ยากอย่างที่คิด” แล้วใช่ไหมล่ะคะ เพราะใครๆ ก็สามารถมาได้ “หากมีการ เตรียมตัวไป EBC ที่ดี พร้อม ถูกต้อง ทั้งยังมีการเตรียมอุปกรณ์เทรคกิ้งที่เหมาะสมกับ สภาพอากาศ Everest Base Camp ในช่วงที่ไป” ซึ่งหยกสามารถให้คำแนะนำได้ค่ะ และ “ต้องมีการจัดโปรแกรมการเดินที่ดี เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิด AMS” ซึ่งแผนการที่หยกจัดสำหรับเส้นทาง EBC 3 Pass + Kalapatthar Trek นั้น มีการวางแผนเส้นทางแต่ละวันแต่ละหมู่บ้านอย่างดีค่ะ หยกออกแบบเอง อิงจากประสบการณ์และเวลาที่ได้เดินจริงค่ะ
หวังว่า รีวิวนี้จะเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆ นะคะ หากมีคำถามหรือข้อสงสัยใดๆ คอมเม้นต์ที่ด้านล่างได้เลยค่ะ หยกจะรีบมาตอบทันที
สวัสดีครับ คุณหยก รบกวนสอบถาม ครับ ถ้าผมจะไป EBC เดือน มิย 1-14 มิย 2566 ในช่วงวันดังกล่าว สามารถไป treking ebc ได้มั๊ยครับ แบบว่า เป็นช่วงที่ไปได้หรือเปล่า ประมาณว่า เห็นยอดเอวเอเรตให้สามารถถ่ายรูปได้ด้วย น่ะครับ ถ้าจ้างลูกหาบ แบบที่คุณหยกเคยไป ค่าใช้จ่ายประมาณเท่าไหร่ ได้ ครับ ….ขอบคุณครับ
สวัสดีค่ะ คุณ GRIT
ขอบคุณสำหรับคอมเม้นต์นะคะ 🙂
เดือนมิถุนายน อยู่ในฤดูมรสุมของทางเนปาลค่ะ ช่วงนี้จึงไม่เหมาะต่อการเทรคกิ้ง แต่หากมีการเตรียมการ วางแผน และ เตรียมตัวที่ดี พร้อมทั้งมีแผนการเดินที่ยืดหยุ่น เผื่อวันที่อากาศไม่ดี หรือ วันที่เดินไม่ได้แล้ว ก็สามารถเทรคได้นะคะ ข้อควรระวังในช่วงนี้ เช่น ทาก, พายุและฝนที่ตกหนัก, พื้นที่ดินถล่ม และ ที่พักหลายแห่งที่ปิดตัวลงในช่วงนี้ ค่ะ
ตอนหยกไปเทรคเส้นทางนี้ครั้งแรก (เพื่อสำรวจเส้นทางก่อนจัดทัวร์) หยกแบกกระเป๋าเองค่ะ ไม่ได้จ้างลูกหาบ
ทั้งนี้ หยกมีจัดทัวร์เทรคกิ้งเส้นทาง EBC + 2 Passes Trek ซึ่งหยกดูแลเอง จัดแผนการเดินเอง และ นำทริปเองค่ะ ทริปวันที่ 13 – 31 ตุลาคม 2566 ค่ะ คลิกลิ้งค์นี้เพื่ออ่านรายละเอียด หรือ คลิกที่นี่เพื่อแอดไลน์หยก มาพูดคุยสอบถามเพิ่มเติมได้นะคะ
เดือนตุลาคมเป็น high season ของเทรคกิ้งเนปาลค่ะ ช่วงนี้ ปกติแล้ว ฟ้าแจ่มสวยสีนำ้เงินเข้ม อากาศดี เห็นวิวภูเขาชัดเจน ไร้มลพิษด้วยค่ะ เพราะมรสุมพึ่งผ่านไป ไม่มีฝน ไม่มีหิมะตกใหม่ จึงเหมาะกับการเทรคกิ้งเป็นที่สุด
คุณหยก
สอบถามข้อมูลเรื่องการไป EBC หน่อยครับ
เรื่องน้ำหนักกระเป๋าจาก KATH ไป LUKLA
สามารถนำขึ้นได้กี่กิโลกรัม และโหลดไปได้กี่กิโลกรัมต่อคนครับ
และการประกันเดินทาง ถ้าเครื่องบินไม่สามารถขึ้นได้ที่เนปาล เราหาซื้อได้ที่ไหนครับ
สวัสดีค่ะ คุณธาวิน
ขอบคุณสำหรับคอมเม้นต์นะคะ 🙂
แพลนไป EBC เมื่อไหร่คะเนี่ย เผื่อเจอกันค่ะ หยกจัดทริป EBC 3 Passes Trek วันที่ 13 ตุลาคมนี้ค่ะ
โดยทั่วไป น้ำหนักกระเป๋าของเที่ยวบิน Kathmandu – Lukla ที่สามารถนำขึ้นเครื่องได้ คือไม่เกิน 5 kg และ โหลดได้ไม่เกิน 10 kg ได้ 1 หรือ 2 ใบ ขึ้นกับเงื่อนไขของแต่ละสายการบินค่ะ หากน้ำหนักเกิน จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม kg ละเท่าไหร่นั้นก็ขึ้นกับเงื่อนไขของสายการบินนั้นๆ ค่ะ
กรณีประกันสำหรับเที่ยวบินล่าช้า หรือ ไม่สามารถให้บริการได้ ลองดูประกันของ World Trips นะคะ (เครือเดียวกันกับ Tokio Marine ค่ะ) เค้ามีครอบคลุมกรณี เครื่องบินดีเลย์เกิน 12 ชั่วโมง ให้ค่าชดเชย $100 หรือ $200 ต่อวัน (ขึ้นกับแพลนประกันที่เลือก) พร้อมค่าที่พัก ค่าอาหาร กรณีต้องมีการค้างคืนค่ะ ทั้งนี้ ลองศึกษากรมธรรม์เพิ่มเติมดูนะคะ มีให้อ่านในลิงค์ค่ะ
ขอบคุมากครับคุณหยก สำหรับข้อมูลครับ