
นี่เป็นบทความตอนที่ 4 ของซีรีย์บทความเทรคกิ้งเนปาล 20 วัน กับ Manaslu Circuit และ Tsum Valley เรื่องเล่าและประสบการณ์มันส์ๆ ที่นอกจากจะสนุกแล้ว ยังให้บทเรียนต่างๆ ที่สอนอะไรใหม่ๆให้มากมาย รวมทั้งการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า หรือแม้กระทั่งความอดทน หรือ ความอึดที่ต้องมีอย่างมหาศาล ที่สำคัญก็คือความใจเย็น ทั้งยังสอดแทรก ทริคและเคล็ดลับ ข้อมูลการเดิน ระยะเวลา ระยะทาง รวมทั้งความสูงของแต่ละหมู่บ้าน ข้อควรระวัง และอื่นๆที่ควรรู้ ซึ่งหยกจะทำการแบ่งบทความออกเป็นรายวัน หรือ รายสองสามวันค่ะ โดยมีทั้งหมด 9 ตอน ทั้งนี้เพื่อนๆสามารถคลิ๊กตัวเลขที่กล่องสีเหลืองด้านบนเพื่อเลือกอ่านเป็นตอนๆได้เลยค่ะ ยังไงรอติดตามอ่านตอนต่อๆไปด้วยนะคะ
ทั้งนี้ หยกได้เขียนหนังสือ คู่มือเทรคกิ้งเนปาล Manaslu & Tsum ซึ่งสามารถถือได้ว่าเป็นคู่มือเทรคกิ้งเนปาลที่เป็นภาษาไทยเล่มแรกเลยก็ว่าได้นะคะ ซึ่งมีข้อมูลครบถ้วนตั้งแต่การเตรียมตัว เสื้อผ้า ของที่จำเป็น ข้อควรรู้ควรระวัง ทริคต่างๆ ประกัน การป้องกัน AMS ข้อมูลเส้นทางเดิน และรายละเอียดอื่นๆ อีกมากมายที่จะทำให้มีการเตรียมตัวที่พร้อมสุดๆ และสามารถเทรคได้อย่างสบายใจและได้ประสบการณ์ดีๆ ติดไม้ติดมือกลับมา หากเพื่อนๆ สนใจ สามารถคลิ๊กที่ลิ้งค์เพื่อสั่งซื้อหรืออีเมลมาหาหยกได้เลยค่ะ
ไม่เพียงเท่านั้น หยกยังได้เทรคบนเส้นทาง Poon Hill และ Mohare + Khopra และ Mardi Himal อีกด้วยนะคะ เพื่อนๆ สามารถอ่านเรื่องเล่าและประสบการณ์เทรคสนุกๆ ที่สอดแทรกข้อมูลต่างๆ ที่มีประโยชน์ได้ที่ลิ้งค์เหล่านี้เลยค่ะ
มองหาทริปลุยๆ มันส์ๆ + ไกด์หญิงคนไทย ? เนปาล? ทาจิกิสถาน? คีร์กีซสถาน? จอร์แดน? ศรีลังกา?
หยกจัดทริปแล้วค่ะ ปี 2565 สนใจทริปไหน คลิ๊กอ่านเพิ่มเติมที่ภาพได้เลยค่ะ ไปผจญภัยกัน!
Day 6 ระวัง AMS: Chumling – Chhokang Paro

-การเตรียมตัวที่ดี-
วันนี้จะต้องไต่ความสูงจาก 2,400 เมตร ไปที่ 3,050 เมตรค่ะ จึงต้องเตรียมตัวดีๆ และระมัดระวังเรื่อง AMS เป็นพิเศษ เมื่อวานหยกเลยดื่มน้ำเยอะหน่อย เพื่อไม่ให้วันนี้ขาดน้ำ ทั้งกินอิ่ม พักผ่อนนอนหลับเต็มที่ เลยเริ่มสังเกตอาการตัวเองตั้งแต่ตื่นเลยค่ะ “ปัสสาวะสีใส = ไม่ขาดน้ำ, ทั้งไม่ปวดหัว และได้นอนหลับเต็มที่” ก็คือพร้อมเดินค่ะ เว้นซะแต่ ต้องจัดการเรื่องตุ่มน้ำใสซะก่อน


ทางเดินวันนี้เป็นทางเดินราบค่ะ แต่ชันโดยชันขึ้นนิดๆ ลาดลงหน่อยๆ แล้วก็ชันขึ้นยาวๆไป สลับไปเรื่อยๆ ดีที่ทางเดินไม่ใช่บันได วันนี้เดินโดนแดดเกือบจะตลอดเวลาค่ะ หยกต้องคอยเตือนตัวเองให้หยุดดื่มน้ำบ่อยๆ ด้วยแดดที่ร้อนและแรงมากๆ แต่พอเดินผ่านร่มไม้ก็หนาวเย็นขึ้นมาทันทีเลยแหละค่ะ


-ชัอปปิ้งบนเขา-
ทางเดินราบสูงชันมากๆ เดินไป หยุดไป หอบไป หมดพลังงาน หิวอย่างรวดเร็วเลยค่ะ โดยมีทางเดินอยู่ 2 – 3 ช่วงสั้นๆ ริมผา ที่แคบๆและชัน หวาดเสียวนิดๆ ให้อะดรีนาลินได้ทำงานเบาๆ เดินได้สัก 2 ชั่วโมงกว่า ก็ถึง Chauri Kharka ค่ะ สูงประมาณ 2,950 เมตรค่ะ ที่นี่ไม่มีที่พัก มีแค่เต็นท์ขายของขนาดใหญ่ ใหญ่แบบที่ยืนช้างในเต็นท์ได้ โดยภายในมีที่นั่งเบาะนุ่มๆและมีอาหารไว้บริการด้วยค่ะ โดยมีของขายตั้งแต่สากกระเบือยันเรือรบเลย ขายทุกอย่างที่เกี่ยวกับเทรคกิ้งบนเขา ทั้งอุปกรณ์กันหนาว ไม่ว่าจะเป็นถุงเท้า รองเท้าผ้าใบ เสื้อกันหนาว ผ้าพันคอ ผงซักฟอก เบียร์ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ลูกอม ช็อคโกแลต มีแม้กระทั่งพุดดิ้งค่ะ

แล้วก็ถึง Chhokang Paro อย่างรวดเร็วค่ะ แค่ 11 โมงเอง วันนี้เดินประมาณ 16 กิโลเมตรเห็นจะได้ ถึงเร็วแบบนี้ ก็ได้อาบน้ำอีกแล้วน่ะสิคะ ขนาดอาบก่อนเที่ยง น้ำยังเย็นเจี๊ยบขนาดนี้ เย็นขนาดที่ว่าตอนเอาน้ำราดตัวนั้นเย็นมาก แต่พอราดเสร็จก็อุ่นแบบทันที เพราะอากาศข้างนอกอุ่นกว่าน้ำค่ะ พออาบเสร็จเลยอุ่นสบายค่ะ ถ้ามาถึงตอนเย็น คงได้ซักแห้งแน่นอน


-Chhokang Paro 3,050 เมตร-

ที่นี่มีที่พักให้เลือกเยอะค่ะ แนะนำว่าอย่าพักที่พักแรกๆที่ถึงนะคะ เพราะไม่มีวิว ไม่น่าอยู่และไม่ค่อยสะอาดอีกด้วยค่ะ ให้เดินเข้าไปลึกอีกสักหน่อย จะมีที่พักที่ใหม่กว่า วิวสวยกว่าค่ะ ได้เห็นหิมาลัยด้วย แถมราคาก็ถูกกว่าด้วย
-acclimatized อีกสักนิด-

หลังทานอาหารเที่ยงเสร็จ พักสักนิด ช่วงบ่ายแก่ๆก็ออกไปเดินเล่นชมหมู่บ้านกันค่ะ ฝั่งนึงเป็นหิมาลัยขาวๆ อีกฝั่งเป็นเขาเขียวๆสูงๆ เลยเลือกปีนเขาเพื่อ acclimatized อีกสักนิด โดยการเดินขึ้นไปในเขตพื้นที่ๆสูงกว่าที่ๆเราจะนอนค้างในวันนี้ ทั้งยังได้ชมวิวหมู่บ้านเบื้องล่างแบบเต็มๆ อยู่ด้านบนนั้นนานสักหน่อย แล้วก็ค่อยเดินกลับลงมาค่ะ โดยเดินขึ้นไปสูงเท่าไหร่ไม่รู้ รู้แต่ว่าก็คงจะสูงอยู่แหละ เพราะเห็นหมู่บ้านเบื้องล่างเล็กนิดเดียวเอง อย่างน้อยก็เอื้อประโยชน์ ในการช่วยลดความเสี่ยง AMS ไปได้สักนิดค่ะ
Acclimatization หมายถึง การค่อยๆทำการปรับตัวของร่างกาย เพื่อให้คุ้นชินกับสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปในเขตพื้นที่สูง ที่มีความกดดันต่ำ และมีปริมาณก๊าซออกซิเจนน้อย
สักพักหมอกขาวเริ่มมา หมอกแน่นมาก ปกคลุมด้านล่างจนมองไม่เห็น เลยต้องรีบลงค่ะ ทั้งอากาศก็หนาวขึ้น เลยรีบกลับที่พัก ไปนั่งจิบชานมร้อนๆ ในห้องอุ่นๆดีกว่า

-อาหารพื้นเมืองทิเบต-
อาหารเย็นมื้อนี้ หยกเลือกสั่ง อาหารพื้นเมืองทิเบตค่ะ “Thentuk” เป็นซุปก๋วยเตี๋ยวเส้นใหญ่ ที่ทำเส้นสดๆเอง อร่อยดีค่ะ เส้นเหนียวนุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้ซดน้ำซุปร้อนๆ ช่วยให้ร่างกายอุ่นขึ้นเยอะเลยค่ะ
-ไม่นะ! ปวดหัวแล้ว-
หยกเริ่มมีอาการปวดหัวอ่อนๆ ตั้งแต่ช่วงบ่ายๆค่ะ แต่ยังไม่มีอาการอื่นๆร่วมด้วย จึงพยายามดื่มน้ำเยอะๆ และสังเกตอาการมาเรื่อยๆ พอตกเย็นอาการปวดหัวก็ยังคงอยู่ และดูเหมือนจะมากขึ้นมานิดนึง คืนนี้เลยทานไอบูโฟนเฟนไป 1 เม็ดค่ะ

-ข้อควรระวังของการทานยาบรรเทาปวด-
แต่พอทานยาลดปวดแล้ว ยิ่งต้องสังเกตอาการตัวเองให้มากขึ้น เพราะเป็นยาช่วยลดปวด แต่ไม่ได้รักษาอาการ AMS นะคะ โดยที่อาการ AMS นั้นยังมีอยู่ แต่ถูกบดบังด้วยยาบรรเทาปวดไว้นั่นเองค่ะ พอยาหมดฤทธิ์ อาการปวดก็จะกลับมา ถ้าเราไม่รีบป้องกันและหลีกเลี่ยงปัจจัยต่างๆที่เกี่ยวข้อง
Day 7 ยังกับหลงอยู่ในนิยาย: Chhokang Paro – Mu Gompa

-แผนสำรอง-
วันนี้เป็นอีกวันที่ต้องระมัดระวงเรื่อง AMS ให้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อวานหยกมีอาการปวดหัว โดยแผนการเดินวันนี้คือ ไต่ระดับจาก 3,050 เมตรไปที่ 3,650 เมตรค่ะ ซึ่งจะไต่ไปยังที่ๆต่างกันมากถึง 600 เมตร คือมากกว่ากฎที่ว่าไว้ว่าไม่ควรเดินไปยังที่ๆสูงต่างกันมากกว่า 500 เมตร จึงได้มีแผนสำรองไว้คือ ถ้าใครในกลุ่มมีอาการ AMS อ่อนๆ แล้วคิดว่าไปต่อไม่ไหว เราจะค้างคืนกันที่ Nile ที่อยู่สูง 3361 เมตรค่ะ ทางเดินวันนี้ เดินสบายสุดๆเลยค่ะ เดินผ่านพื้นราบ ชันน้อยๆ ผ่าน Tsum Valley ตลอดจนถึง Nile เลยค่ะ อากาศดี ลมพัดเย็นสบาย จากที่เดินแรกๆนั้นอากาศร้อน แต่พอเดินไปสักพักก็ต้องเอาถุงมือขึ้นมาใส่เลยค่ะ

-ยังกับหลงอยู่ในนิยาย-
เดินไปได้สัก 2 ชั่วโมง ก็เปลี่ยนมาเดินริมผาค่ะ โดยมีวิวด้านล่างเป็นแม่น้ำที่สวยงาม แรกเห็นนี่นึกว่าตัวเองอยู่ในนิยายเลยค่ะ ก็น้ำในแม่น้ำนั้นเป็นสีฟ้าสดใส น้ำจากหิมะที่ละลาย หรือที่รู้จักกันว่า “Glacier River” นอกจากเสียงลม เสียงธรรมชาติคุยกันแล้ว ก็มีเสียงน้ำไหลนี่แหละค่ะ ที่ทั้งไพเราะ ทั้งกระตุ้นการเดินได้ดีสุดๆ เลย


ยิ่งช่วงที่เข้าโค้งเพื่อเข้าสู่ Nile นี่ทำให้หยกน้ำตาคลอกับความงามเลยแหละค่ะ แม่น้ำสีฟ้าสดขนาดใหญ่นี่อยู่ระดับเดียวกับทางเดิน อยู่ติดเทรลเลยค่ะ ฟินมากๆ ยืนชม กินบรรยากาศอยู่นาน จนท้องร้องเตือนว่าถึงเวลาอาหารเที่ยงแล้วเลยค่ะ
-อาการปวดหัวกับแผนสำรอง-

แล้วก็ถึง Nile ค่ะ จุดพักทานอาหารเที่ยงของเรา วันนี้หยกมีอาการปวดหัวมากกว่าเมื่อวานค่ะ ทั้งยังมีอาการคลื่นไส้นิดๆอีกด้วย ส่วนเพื่อนอีกคนก็เช่นกัน จึงทานไอบูโฟรเฟนไปคนละเม็ด แล้วรอสังเกตอาการไป ระหว่างรอ Dal Bhat ที่ใช้เวลาทำเกือบชั่วโมงนี้ ก็พยายามดื่มน้ำไปให้ได้มากที่สุดค่ะ

-Nile 3,361 เมตร-
Nile มีที่พักเล็กๆอยู่แค่ 2 ที่นะคะ การตกแต่งยังคงเป็นสไตล์ทิเบตที่สดใสสวยงามมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายในบ้าน ในห้องครัว ที่มีข้าวของเครื่องใช้ที่สวย ดูเก่า ดูขลัง ดูมีค่า แต่ยังใช้การได้ ทั้งยังมีการจัดอย่างเป็นระเบียบ จนนึกว่ากำลังอยู่ในพิพิธภัณฑ์เลยค่ะ

ผู้หญิงทิเบตนี่สวยมีเสน่ห์มากๆ ผิวพรรณก็ดี บุคลิกภาพก็งาม แถมทำกับข้าวอร่อยอีกต่างหาก หลังทานอาหารเสร็จ อาการปวดหัวทุเลาลง น่าจะเป็นเพราะยาที่ทานไป ส่วนอาการคลื่นไส้นั้นหายไป ส่วนเพื่อนก็มีอาการดีขึ้น เราจึงตัดสินใจเดินต่อค่ะ โดยคุยกันไว้ว่า ค่อยๆเดิน ไม่ต้องรีบ แล้วจิบน้ำบ่อยๆ หากมีใครมีอาการมากขึ้นหรือไม่ไหว ก็ให้รีบบอกกันทันที เราจะต้องไม่ฝืนเดินต่อ หากเป็นเช่นนั้นจะได้รีบเดินลงกลับไปที่ Nile ค่ะ

-ตุ่มน้ำใสอีกแล้ว-
ทางเดินจาก Nile ไป Mu Gompa นั้นเป็นทางเดินกว้าง ราบ ริมหน้าผา ชันๆนิดๆ ไม่มีร่มเงาใดๆ ดีที่ตอนเดินนั้นแดดอยู่ด้านหลัง เดินประมาณ 2 ชั่วโมงก็ถึง Mu Gompa ค่ะ โดยที่หยกได้ตุ่มน้ำใสที่ส้นเท้าเป็นของที่ระลึกอีกแล้ว ซึ่งตอนนี้อาการปวดหัวยังไม่หายสนิท แต่ไม่ได้แย่ลง น่าจะเป็นเพราะฤทธิ์ยาค่ะ แต่โดยรวมโอเค กินได้ นอนหลับ ปัสสาวะใส จึงคอยสังเกตอาการต่อไป

-Mu Gompa 3,650 เมตร-
Mu Gompa มีที่พักที่เดียวค่ะ อยู่ใน Monastery หรือ วัดวาอารามของชาวพุทธทิเบตค่ะ อย่าคาดหวังอะไรมากกับห้องพักและห้องน้ำที่นี่นะคะ แค่พอมีที่ซุกหัวนอน ไม่หนาวตายก็เพียงพอแล้ว โดยที่ความสูงขนาดนี้ ซึ่งสูงสุดในเส้นทาง Tsum Valley ที่หยกได้เดินผ่านแล้ว อากาศมันก็จะหนาวมากกว่าที่อื่นๆหน่อย การซักแห้งจึงเริ่มขึ้น


Day 8 AMS กับอาการบวม: Mu Gompa – Lamagaon

-สุดท้ายใน Tsum Valley-
Mu Gompa คือที่สุดท้ายที่หยกจะเดินผ่านใน Tsum Valley ค่ะ โดยไม่ได้ไปต่อในเส้นทางอื่นในเขต Tsum Valley เพราะเป็นเส้นทางที่ไม่มีที่พัก ร้านค้า และร้านอาหาร คนที่จะไปต้องเตรียมเต็นท์ไปกางนอนเอง และต้องเตรียมอาหารไปทำทานเองอีกด้วย โดยที่วันนี้จะต้องเดินย้อนกลับไปทางเมื่อวานค่ะ เพื่อเตรียมตัวเดินกลับเข้าสู่ Manaslu Circuit ในอีก 2 วันข้างหน้า

-edema อาการบวม บวมจนน่ากลัว-
เช้านี้หยกตื่นมาด้วยอาการ edema ค่ะ หน้าบวม ตาบวม เท้าบวม บวมมากๆ บวมจนเพื่อนร่วมทริปตกใจ ปนกังวลเลยค่ะ ก็เล่นบวมทั้งแก้ม ทั้งเปลือกตาบน จนตานี้เล็กจนแทบจะปิด ทัศนียภาพการมองเห็นก็เลยน้อยลง แต่อาการปวดหัวหายไปค่ะ และไม่มีอาการอื่นๆร่วมด้วย ทุกคนจึงแนะนำให้หยกทานไอบูโฟรเฟนไปอีกเม็ด แล้วสังเกตอาการต่อไป

ช่วงเช้าวันนี้เราจะไปเดินเล่นเยี่ยมชม Gompa ที่อยู่สูงประมาณ 3,990 เมตรก่อนเดินกลับไปยัง Nile ค่ะ โดยยังหวังให้ช่วยเรื่อง acclimatization ด้วย ทางเดินเป็นทางเดินแคบๆ เล็กๆ เดินวนรอบๆเขา สูงขึ้นไปเรื่อยๆ เดินยากมากค่ะ เพราะวิสัยทัศน์การมองเห็นนั้นแคบมากๆ กว่าจะถึงด้านบนก็เสียวพอตัว วันนี้ฟ้าไม่ใสค่ะ เมฆเยอะมาก คล้ายๆว่าฝนจะตก แต่วิวที่เห็นยังสวยขนาดนี้ ถ้าฟ้าแจ่มนี้วิวคงจะเลิศมากๆ


เที่ยงนี้เราจะกลับไปทานข้าวที่เดิมค่ะ คือที่ Nile ด้วยที่ติดใจความอร่อยและบรรยากาศในห้องครัว จึงได้ส่งพี่ไกด์ลูกหาบให้ล่วงหน้าเพื่อไปสั่งอาหารรอ จะได้ไม่ต้องรอกันนาน กะว่าไปถึงจะได้ทานพอดี


มองหาทริปลุยๆ มันส์ๆ + ไกด์หญิงคนไทย ? เนปาล? ทาจิกิสถาน? คีร์กีซสถาน? จอร์แดน? ศรีลังกา?
หยกจัดทริปแล้วค่ะ ปี 2565 สนใจทริปไหน คลิ๊กอ่านเพิ่มเติมที่ภาพได้เลยค่ะ ไปผจญภัยกัน!
-เดินลง เห็นแก้ม ไม่เห็นทาง-
การเดินไป Nile นั้นเดินลงอย่างเดียวเลยค่ะ เหมือนจะเดินง่าย แต่มันไม่ง่ายเลยสำหรับคนที่มีตุ่มน้ำใสที่ปลายนิ้วเท้ามากมายอย่างหยก ทั้งเปลือกตาที่บวม และแก้มที่บวมที่ปิดตาที่เล็กอยู่แล้ว ให้เล็กลงไปอีก มันก็เลยจะเดินแบบทรมานหน่อยๆ มองทางลำบากนิดๆ ยิ่งเดินลง สิ่งที่เห็นก่อนทางเดินก็คือแก้มทั้งสองข้างของตัวเองไง!

พอถึง Nile อาการบวมน้อยลงมานิดๆค่ะ ส่วน Dal Bhat นั้นยังไม่เสร็จ ก็ดีค่ะ ได้ถือโอกาสพักเท้า ถอดรองเท้า ยืดเส้นยืดสาย และดื่มน้ำเยอะๆ
-AMS ไม่ได้เกิดเฉพาะการเดินจากที่ต่ำขึ้นที่สูงนะ กับ บ๊วยเค็มช่วยชีวิต-

ทีนี้ก็เดินกลับทางเดิมที่เดินมาค่ะ ได้ชมความงามของ Tsum Valley อีกครั้ง เนื่องจากแดดไม่มี ลมที่พัดมา ก็เย็นจนหนาว มือแข็ง หน้าชา จนต้องหยิบเสื้อกันหนาวและถุงมือมาใส่เลยค่ะ เพื่อนร่วมทริปมีอาการคลื่นไส้ อยากจะอ้วก และปวดหัวมากๆ แต่ดีที่เรากำลังเดินลงกันค่ะ จึงให้ทานไอบูโฟรเฟนไป ส่วนอาการคลื่นไส้ก็จัดการด้วยการให้ทานบ๊วยเค็ม ซึ่งก็ช่วยได้เยอะเลย

-ที่พักสร้างเสร็จใหม่ๆ จับจ้องไว้ตั้งแต่ขามา-
คืนนี้เราแพลนกันว่าจะไปนอนค้างที่ Lamagaon ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่เราเห็นว่ามีที่พักใหม่เอี่ยม ดูดีน่าอยู่ ซึ่งเห็นตั้งแต่ตอนที่เดินผ่าน Chhokang Paro ไป Nile แล้ว ซึ่งเมฆที่เห็นครึ้มๆเมื่อเช้า ก็ออกฤทธิ์แล้วค่ะ ฝนเริ่มตก ทุกคนจึงเร่งฝีเท้า แล้วฝนก็ตกแรงขึ้นตอนที่ถึงที่พักพอดี ซึ่งแน่นอนค่ะ ที่พักราคาก็จะแพงขึ้นด้วย เราเลยขอลดราคา พี่แกก็ไม่ลดให้ คงเห็นว่าฝนตก เราคงไม่มีทางเลือก เราก็ไม่ยอมค่ะ จะมาฉวยโอกาสแบบนี้ได้ไง พี่ไกด์ลูกหาบเห็นเราเดินจากไป แต่พี่แกคงเหนื่อยและไม่อยากจะเดินตากฝนท่ามกลางอากาศหนาวๆ แบบนี้แล้ว จึงไปต่อรองราคาให้ คุย(ทะเลาะ)กันเสียงดังเชียวค่ะ ผลสุดท้ายเราก็เลยได้ที่พักที่ราคาถูกลงมากหน่อย แต่ก็ยังแพงกว่าที่อื่นอยู่ดี ถ้าฝนไม่ตก เราคงจะได้ราคาที่ถูกกว่านี้ คงจะคาดการณ์กันได้ใช่ไหมคะ ว่าพอวางของ ถอดรองเท้า เช็ดหน้าเช็ดตาเสร็จ ฝนก็หยุดตกพอดี!

-ของใหม่ ไม่ได้หมายความว่าจะต้องดีเสมอไป-
ปรากฎว่าที่พักใหม่ที่เหมือนจะเสร็จนี้ ยังไม่เสร็จดี ห้องพักเล็กเท่าที่อื่นๆ พื้นมีพรม แต่ห้ามใส่รองเท้าเข้า คืออะไร ให้ถอดไว้หน้าห้องได้ไง กลางคืนนี่อากาศหนาวชื้น ตื่นมารองเท้าก็เปียกแฉะพอดี ส่วนประตูเป็นไม้ปิดก็ยาก เปิดก็ฝืด แถมปิดได้ไม่สนิทอีกด้วย ส่วนห้องครัวกับห้องทานข้าวนั้นทะลุกัน ห้องทานข้าวพื้นยังไม่ได้ปูพรม จึงเย็นมากๆ ส่วนห้องครัวยังทำไม่เสร็จ คือไม่มีประตู ลมจึงพัดเข้ามาสู่ห้องทานข้าว ทำให้อากาศหนาวมากๆค่ะ จนต้องไปหยิบเสื้อหนาวและถุงมือมาใส่ อีกทั้งในห้องทานอาหารก็มืดมากๆ มีไฟแค่ดวงเดียวเองค่ะ จนนักท่องเที่ยวทุกคนที่อยู่ในนี้ต้องอาศัยแสงสว่างจากไฟฉายคาดศีรษะ ขณะทานอาหาร ที่สำคัญคืออาหารแพงมาก ทั้งยังให้น้อยสุดๆ และไม่อร่อยมากๆ โดยที่ไม่มีรสชาติใดๆเลย ยกเว้นความมัน เฟลสุดๆ!
-ไม่อิ่ม-
คือไม่อิ่มค่ะ ยังคงหิวมากๆ จนต้องไปเอามูสลี่มาทานกับชานมที่ไม่อร่อย เพื่อนคนอื่นๆก็ต้องเอา energy bar มาทาน คือมันไม่ควรที่จะต้องเอาเสบียงระหว่างเดินมาทานเป็นมื้อเย็นไหม! เลยเป็นที่รู้กันว่าพรุ่งนี้จะออกตั้งแต่ 6 โมงเช้า จะไม่ทานอาหารเช้าที่นี่ โดยจะไปทานแพนเค้กอร่อยๆ ที่ Chhokang Paro ค่ะ ที่อยู่ห่างจากที่นี่ไม่ไกลนัก

ติดตามบทความเทรคกิ้งเนปาลซีรีย์ 20 วัน กับ Manaslu Circuit และ Tsum Valley เรื่องเล่าและประสบการณ์มันส์ๆ ที่สอดแทรก ทริคและเคล็ดลับ ข้อมูลการเดิน ระยะเวลา ระยะทาง รวมทั้งความสูงของแต่ละหมู่บ้าน ข้อควรระวัง และอื่นๆที่ควรรู้ ตอนต่อไป ตอนที่ 5 Day 9 – Day 11 ได้ที่นี่ค่ะ
มีข้อสงสัย คำถาม หรือ อยากแชร์เรื่องเที่ยว คอมเม้นต์ที่ช่องนี้ได้เลยค่ะ