
นี่เป็นบทความตอนที่ 3 เข้าสู่ Manaslu Conservation Area ที่เริ่มจาก Jagat ของซีรีย์บทความเทรคกิ้งเนปาล 20 วัน กับ Manaslu Circuit และ Tsum Valley เรื่องเล่าและประสบการณ์มันส์ๆ ที่นอกจากจะสนุกแล้ว ยังให้บทเรียนต่างๆ ที่สอนอะไรใหม่ๆให้มากมาย รวมทั้งการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า หรือแม้กระทั่งความอดทน หรือ ความอึดที่ต้องมีอย่างมหาศาล ที่สำคัญก็คือความใจเย็น ทั้งยังสอดแทรก ทริคและเคล็ดลับ ข้อมูลการเดิน ระยะเวลา ระยะทาง รวมทั้งความสูงของแต่ละหมู่บ้าน ข้อควรระวัง และอื่นๆที่ควรรู้ ซึ่งหยกจะทำการแบ่งบทความออกเป็นรายวัน หรือ รายสองสามวันค่ะ โดยมีทั้งหมด 9 ตอน ทั้งนี้เพื่อนๆสามารถคลิ๊กตัวเลขที่กล่องสีเหลืองด้านบนเพื่อเลือกอ่านเป็นตอนๆได้เลยค่ะ ยังไงรอติดตามอ่านตอนต่อๆไปด้วยนะคะ
ทั้งนี้ หยกได้เขียนหนังสือ คู่มือเทรคกิ้งเนปาล Manaslu & Tsum ซึ่งสามารถถือได้ว่าเป็นคู่มือเทรคกิ้งเนปาลที่เป็นภาษาไทยเล่มแรกเลยก็ว่าได้นะคะ ซึ่งมีข้อมูลครบถ้วนตั้งแต่การเตรียมตัว เสื้อผ้า ของที่จำเป็น ข้อควรรู้ควรระวัง ทริคต่างๆ ประกัน การป้องกัน AMS ข้อมูลเส้นทางเดิน และรายละเอียดอื่นๆ อีกมากมายที่จะทำให้มีการเตรียมตัวที่พร้อมสุดๆ และสามารถเทรคได้อย่างสบายใจและได้ประสบการณ์ดีๆ ติดไม้ติดมือกลับมา หากเพื่อนๆ สนใจ สามารถคลิ๊กที่ลิ้งค์เพื่อสั่งซื้อหรืออีเมลมาหาหยกได้เลยค่ะ
ไม่เพียงเท่านั้น หยกยังได้เทรคบนเส้นทาง Poon Hill และ Mohare + Khopra และ Mardi Himal อีกด้วยนะคะ เพื่อนๆ สามารถอ่านเรื่องเล่าและประสบการณ์เทรคสนุกๆ ที่สอดแทรกข้อมูลต่างๆ ที่มีประโยชน์ได้ที่ลิ้งค์เหล่านี้เลยค่ะ
มองหาทริปลุยๆ มันส์ๆ + ไกด์หญิงคนไทย ? เนปาล? ทาจิกิสถาน? คีร์กีซสถาน? จอร์แดน? ศรีลังกา?
หยกจัดทริปแล้วค่ะ ปี 2565 สนใจทริปไหน คลิ๊กอ่านเพิ่มเติมที่ภาพได้เลยค่ะ ไปผจญภัยกัน!
Day 4 ไม่มีใบ Permits ที่ Manaslu Conservation Area: Jagat – Lokpa
เช้านี้ที่ Jagat ตื่นมาด้วยความสดชื่นค่ะ ได้ออกกำลังกาย ทั้งยังกินอิ่ม และนอนหลับ ที่สำคัญหลังไหล่ไม่ปวดแล้ว ยังแอบกังวลเบาๆ เรื่องใบ Permits แต่ทุกคนก็ทำตัวปกติค่ะ โดยได้นัดหมายกันแล้วว่า ยังไงแล้วก็จะเริ่มออกเดินไปก่อน โดยให้พี่ไกด์ลูกหาบจัดการเรื่องใบ Permits ไป (ถึงแม้จริงๆ แล้วตอนนี้ควรจะเรียกพี่แกว่า พี่ลูกหาบ ก็ตาม) ซึ่งตั้งแต่เช้า ช่วงที่ทุกคนกำลังทานอาหารเช้าอยู่ ก็เห็นพี่แกวุ่นๆ กับการคุยโทรศัพท์ จนในที่สุดแกก็เดินมาหาพร้อมกับรอยยิ้มอ่อนๆ แล้วบอกให้พวกเราเดินล่วงหน้ากันไปก่อน เดี๋ยวแกจะตามไปพร้อมใบ Permits อืม…ดูมีความหวัง

โดยที่ Jagat เป็นหมู่บ้านแรกที่ในเขต Manaslu Conservation Area ค่ะ แพลนวันนี้คือจะเดินออกจาก Manaslu Conservation Area แล้วเข้า Tsum Valley ที่ Lokpa ค่ะ เช้านี้พวกหยกออกเดินก่อน Check Post ที่ Jagat เปิดค่ะ เลยไม่รู้ว่าพี่ลูกหาบเราจะทำยังไง แต่เดินๆไป ก็เห็นหิมาลัยโผล่มาทักทาย สวยจนลืมความกังวลไปเลย
-เส้นยาแดงผ่าแปด-
ขณะที่หยุดพักยืดเส้นยืดสายพร้อมกินขนมเติมพลังงานที่หมู่บ้านที่สองคือ Sirdibas พี่ลูกหาบก็เดินมาสมทบด้วยรอบยิ้มที่บานเต็มหน้าจนจะฉีกถึงรูหูอยู่แล้ว พร้อมๆ กับควักใบ Permits ของพวกเราขึ้นมา แล้วก็แอบเห็นใบอนุญาตไกด์ ตอนนี้คือมีคำถามอยู่ในใจเต็มไปหมด แต่กลับถามออกไปคำถามเดียว คือ จุดตรวจอื่นๆถัดๆไป เราจะไม่มีปัญหาใช่ไหม? พี่แกก็ยิ้มกว้างด้วยสายตาหนักแน่น จริงใจ ไม่ล่อกแล่ก พร้อมกับพยักหน้า เราก็ดีใจและโล่งใจไปมาก ไม่ว่าครั้งนี้พวกเราจะผ่านมาได้ด้วยวิธีไหนก็ตาม ไม่มีใครโทษหรือโกรธเคืองพี่ไกด์ลูกหาบเลย แต่ที่แน่ๆ กลับไปนี้ เอเจนซี่อ่วมแน่! ทำแบบนี้ได้ไงให้ไกด์ไม่มีใบอนุญาตมาเดินกับลูกค้าได้ไง!

-ความหอบ บันไดหินที่สวยงาม กับ Check Post ถัดไป-
การเห็นบันไดหินนี่เป็นอะไรที่ต้องทำใจก่อนเดินเลยค่ะ ยิ่งไอ้เจ้าบันไดหินที่เรียงตัวกันอย่างสวยงามด้วยแล้ว ยิ่งเดินยากเข้าไปใหญ่ ก็เล่นจัดซะสวย เรียงเป็นขั้นเล็กๆ ชันๆ ยังกะให้เด็กเดินเลยเนอะ หยกล่ะชอบบันไดหินแบบที่เป็นหินวางมั่วๆ สะเปะสะปะมากกว่า เดินสนุกเดินง่ายกว่าตั้งเยอะ แต่ก็เลือกไม่ได้ใช่ไหม ก็เส้นทางที่เห็นยาวๆข้างหน้านั้นเป็นบันไดชันๆ ยาวไปจนถึง Philim หมู่บ้านถัดไปเลยค่ะ ที่สำคัญที่ Philim ก็มี Check Post ด้วย เลยแอบเสียวเบาๆ รอลุ้นว่ากลุ่มเราจะผ่านมั๊ย
-น้ำหนักของที่หายไป-
บันไดที่เห็นยาวไกลเบื้องหน้าเป็นบันไดชันขั้นเล็กๆที่เรียงตัวสวยงาม แต่โหด และเหนื่อยหอบสุดๆ ยิ่งใช้พลังงานไปเยอะ ก็ยิ่งหิวมาก พอถึงที่ Philim เท่านั้นแหละ แทบจะวางกระเป๋าลงไม่ทันเลยค่ะ ต้องรีบยืดแข้งยืดขาก่อน ไม่งั้นพรุ่งนี้ตื่นมาคงจะทรมานปวดกล้ามเนื้อขาเป็นแน่ พอกล้ามเนื้อได้ผ่อนคลาย สบายแล้ว ก็ถึงเวลาเติมพลังงานค่ะ energy bar ที่ได้ทานไป ทั้งทำให้น้ำหนักเบาลงไปอีกนิด ทั้งอิ่มท้อง มันก็จะฟินหน่อยๆ

หยกพก energy bar มาทั้งหมด 16 แท่งค่ะ น้ำหนักรวมก็เกือบ 700 กรัมเลยเชียว กินไปเกือบทุกวันๆ น้ำหนักของก็หายไปทีละนิดๆ กระเป๋ามันก็จะเบาลงๆค่ะ
-หนอง กับ ตุ่มน้ำใสที่เท้า-
แล้วความสบายตัวก็อยู่ด้วยไม่นาน รองเท้าคู่ใจที่ไม่เคยก่อปัญหาก็ทำพิษซะแล้วค่ะ ที่ปลายนิ้วเท้าเริ่มมีตุ้มน้ำใสใหญ่มาก จริงๆมันมีตั้งแต่เมื่อวานแล้ว แต่หยกไม่ได้สนใจ เพราะมันแตกไปเอง ตอนเดินก็เจ็บๆ แต่ก็ทนเอาค่ะ แต่วันนี้มันหนักขึ้น เพราะตุ่มน้ำใสมันเกิดซ้ำรอยเดิมที่แตกไปเมื่อวาน บวมใหญ่ขึ้น อักเสบอย่างรวดเร็วกลายเป็นสีเหลืองมีหนองข้างในเลยค่ะ สงสัยจะเป็นเพราะการใส่ถุงเท้าซ้ำ มันคงจะเน่าสินะ แฮ่ๆๆ แล้วก็ได้ไปต่อค่ะ ผ่านด่านตรวจที่ Philim ไปได้อย่างไม่มีปัญหาใดๆ หยกเริ่มเดินช้าลง โชคดีที่ทางเดินจากนี้ไปเป็นทางราบ มีขึ้นเนินนิดๆ แต่ไม่ชันมาก ทั้งยังมีวิวน้ำตกสวยๆ ขนาดใหญ่ มีลมพัดเย็นตลอดทาง เลยสดชื่น และเดินได้เรื่อยๆ ถึงแม้ที่เท้าจะเจ็บมากและหิวมากด้วยก็ตาม

-เพื่อนใหม่ กับ หลอดเจลป้องกันตุ่มน้ำใส-
แล้วก็ถึงจุดพักทานอาหารเที่ยงที่ Gum Pul ค่ะ ดีใจสุดๆ รีบถอดรองเท้าพักเท้าเลยค่ะ เดินกะเพลกๆ เอารองเท้า และถุงเท้าไปตากแดดดับกลิ่นกับความชื้นสักหน่อย แล้วก็พบว่าได้ตุ่มน้ำใสมาเพิ่มอีกแล้ว 🙁
-ผ่าตัดเล็ก-
จากนั้นก็รีบล้างหน้า เอาน้ำเย็นๆ ราดหัวจนเปียกโชก ลูบแข้งลูบขา แล้วก็มานั่งเตรียมเอาเข็มเช็ดแอลกอฮอล์ แล้วก็จิ้มตุ่มน้ำใส ทำความสะอาดตุ่มเก่า เพื่อเอาหนองออก แต่ปรากฎว่ามันเกิดซ้ำที่เดิมหนังบริเวณนี้เลยหนามาก จิ้มยังไงก็ไม่ทะลุ เจ็บเปล่าๆ เลยต้องปล่อยหนองลอยนวลไป ส่วนตุ่มใหม่ก็เจาะเพื่อเอาน้ำออกค่ะ แล้วก็มีชายชาวนิวซีแลนด์ร่างใหญ่ นายมาร์ค เดินเข้ามาดู ในร้านอาหารที่ Gum Pul แล้วทักว่า ทำไมมันเยอะและใหญ่ขนาดนี้ เดินมาถึงนี้ได้ยังไง ไม่เจ็บและทรมานหรือไงเนี่ย ไอ้เราก็ยิ้มแห้งๆ ไม่รู้จะตอบไงดี แล้วเค้าก็เดินกลับไปที่โต๊ะตัวเองแล้วกลับมาพร้อมกับยื่นของบางอย่างให้ เสนอว่าให้ลองใช้ตัวนี้ดู มันช่วยได้ ด้วยความเกรงใจ แต่คิดถึงความทรมานของการเดินบ่ายนี้และวันถัดๆ ไป จึงยื่นมือไปรับแต่โดยดี พร้อมกล่าวคำขอบคุณแบบสุดซึ้ง

-หลอดเจลช่วยชีวิต-
โดยของสิ่งนั้น มีลักษณะเป็นหลอดผ้าเล็กๆ ที่ด้านในมีเจลใสๆหนาๆ การใช้งานก็ง่าย คือสวมลงไปบริเวณนิ้วเจ้าปัญหา แล้วปิดด้วยเทปผ้าเพื่อกันการเลื่อนหลุด แค่นั้นเองค่ะ ทั้งยังสามารถล้างแล้วเก็บไว้ใช้ครั้งต่อๆไปได้อีกหลายครั้งเลยด้วย พอใส่ลงไปปุ๊บก็รู้สึกสบายเลยค่ะ นิ้วเท้าไม่เสียดสีกัน ไม่ชนกับรองเท้า รู้สึกสบายเหมือนไม่ได้ใส่อะไรเลย แต่จะรู้ได้ว่าสามารถช่วยได้จริงไหมก็คงจะต้องเป็นตอนที่เดินจริงๆ นายมาร์คกับภรรยา “แซร่าห์” เลยกลายเป็นเพื่อนใหม่ไปโดยปริยาย ทั้งยังเดินไปที่จุดหมายเดียวกันอีกด้วย

-Gum Pul-
Gum Pul มีร้านอาหารอยู่แค่ร้านเดียวนะคะ โดยที่ไม่มีที่พักค่ะ Dal Bhat ที่นี่อร่อยอีกแล้ว เติมไปสองรอบ เมื่อพลังงานมา บวกกับความอยากรู้ว่าไอ้เจ้าหลอดเจลจะเป็นยังไง จึงรีบออกเดิน คือมันเลิศมากค่ะ หยกเดินได้เร็วขึ้น สบายขึ้น ขนาดที่เดินเพลินจนเดินเลย Lokpa หมู่บ้านปลายทางของวันนี้ไปเลย ดีที่แซร่าห์เรียกไว้ 55+
-Lokpa 1,900 เมตร-
ออกจาก Manaslu Cinservation Area แลเวก็เข้าสู่ Lokpa ซึ่งเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ที่เป็นจุดเริ่มต้นของการเข้าเขต Tsum Valley โดยมีที่พักอยู่แค่ที่เดียวค่ะ จึงไม่แปลกใจที่หยกจะเดินเลย โดยที่พักที่นี่ถือว่าค่อนข้างฮ่วย แต่ก็ไม่มีตัวเลือกอื่น นอกจากยอมรับซะ ห้องพักราคา 500 rs ค่ะ ไม่มีที่ชาร์จแบต ไม่มีผ้าห่ม

-แรงบันดาลใจ เมื่ออายุ 70-
ในเมื่อ Lokpa มีที่พักที่เดียว เลยมีนักท่องเที่ยวเยอะมากที่โผล่มาจากไหนก็ไม่รู้ เพราะระหว่างทางก็ไม่ได้เจอใครเลยค่ะ ที่ร้านอาหารเที่ยงก็เจอแค่ 2 คนเอง แต่ไหงนี่มีกันเป็นสิบ แล้วแต่ละคนก็อายุกันเยอะๆทั้งนั้น ตั้งแต่ 50 – 72 ปี กันเลยทีเดียว แต่ที่สำคัญคือทุกคนดูแข็งแรงมาก เดินกันคล่อง เดินกันไวเชียว ดูแข็งแรงกว่าหยกอีก ทั้งยังดูเหมือนอายุแค่ 40 – 50 ปีเองค่ะ ทุกคนอารมณ์ดี ดูไม่เหนื่อย พูดคุยแชร์ประสบการณ์กันอย่างสนุกสนาน โดยมีตายายคู่นึงที่อายุมากที่สุด คือ 72 ปี พึ่งเทรคที่อื่นมา แล้วมาต่อที่นี่ โดยวันนี้เป็นวันที่ 35 ของการเทรคกิ้งแล้ว ช่างเป็นแรงบันดาลใจ เป็นไอดอลยิ่งนัก ถ้าหยกอายุ 70 จะต้องแข็งแรง หน้าอ่อน และแข็งแรงแบบนี้ให้ได้เลยคอยดู
Day 5 เสียวสุดในชีวิต: Lokpa – Chumling

-ย้ายบ้านทุกวัน เลยเก็บบ้านได้คล่องขึ้น-
วันนี้เป็นวันที่ 5 แล้ว กิจวัตรประจำวันตอนเช้าทั้งการตื่น ทานอาหารเช้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแพ็คกระเป๋า เก็บถุงนอนนั้นคล่องและรวดเร็วขึ้นมากค่ะ แต่ก็มีกิจวัตรเพิ่มมาอีกอย่าง นั่นก็คือ การเจาะตุ่มน้ำใส และใส่หลอดเจล บริเวณที่อักเสบบวมแดงและมีหนองนั้น หายบวมแดงแล้ว แต่ยังมีหนองอยู่นิดๆ ส่วนความเจ็บก็น้อยลงไปด้วยค่ะ
-ทิเบต-
วันนี้จะเริ่มเข้าเขต Tsum Valley แบบจริงๆแล้วค่ะ บรรยากาศและวิวรอบๆข้างก็เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด เริ่มเห็นความเป็นทิเบตมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Chorten ที่มีลักษณะคล้ายๆเจดีย์, Prayer Wall กำแพงสไตล์ทิเบต หรือ Prayer Wheel กงล้ออธิษฐาน ทั้งการแต่งกายของชาวท้องถิ่น โดยเฉพาะผู้หญิงที่สวยงามแปลกตามาก

-landslides กับทางเดินที่หายไป-
ช่วงแรกทางเดินราบ เดินสบายค่ะ แถมยังเดินในร่มเกือบจะตลอดทาง เดินเพลินๆ ไปได้สักพัก trail ก็เริ่มแคบและเล็กมาก ทีนี้ทางเดินเริ่มหายค่ะ ซึ่งบริเวณนี้เค้าเรียกว่า “landslides” คือบริเวณที่ดินร่วน ดินหลวม ดินสไลด์ไหลตกลงไปในเหวเบื้องล่าง ทางเดินจึงหายไป แถมหายไปยาวซะด้วยสิ เลยยากที่จะเดินผ่าน คิดไม่ออกเลยว่าจะก้าวเท้าไปเหยียบตรงไหน หรือ จะเดินยังไง เพราะแค่วางเท้าเหยียบลงไป ทั้งดินและหินบริเวณนั้นก็ไหลลงไปตามหน้าผา จนต้องรีบชักเท้ากลับเลยค่ะ หยกนี่ทั้งกลัว ทั้งเกร็ง ขาก็สั่นมากๆ ขณะนี้เพื่อนร่วมทางที่อยู่ข้างหน้าก็กำลังพยายามไต่ๆ เกาะๆ เดินหน้าถอยทีถอยหลังสองที โดยมีพี่ไกด์ลูกหาบคอยช่วยแบกกระเป๋าให้และคอยแนะทางให้เหยียบ หยกเลยพยายามตั้งสติ ใช้เวลานานมากกว่าจะเดินไปได้ ซึ่งก็แค่ครึ่งทางเองค่ะ จากนั้นก็จนปัญญาสุดๆ ไม่รู้จะเหยียบ จะเกาะอะไรตรงไหนแล้ว ซึ่งตอนนี้เพื่อนๆก็เดินสุดเขต landlsides ถึงจุดที่มีทางเดินกันแล้วค่ะ พี่ไกด์ลูกหาบก็ปีนกลับมาช่วยชีวิต โดยมารับกระเป๋าจากหยกไป แล้วเดินไปอย่างเร็ว เพื่อเอากระเป๋าไปวางกับเพื่อนๆ หยกนี่งงมาก แกเดินได้ยังไง

-เกาะตรงไหน ตรงนั้นก็ร่วง-

แต่ใครว่าพอไม่มีกระเป๋าแล้วจะง่าย คือตอนนี้หลังมันเบาโหว่งๆ งงๆอยู่สักพัก การทรงตัวมันแปลกๆ ก็แบกกระเป๋าหนักๆมาตั้งหลายชั่วโมงนี่นา ประกอบกับความกลัว ไม่อยากจะคิดว่าถ้าไหลร่วงลงไปข้างล่างจะเป็นอย่างไร หลังจากตั้งสติอีกสักพัก เพื่อนร่วมทริปก็ตะโกนมาบอกว่า “ห้ามหยุดนาน ให้รีบเดิน ไม่เช่นนั้น ขาจะยิ่งเกร็งและแข็งจนก้าวไม่ออก และอย่ามองลงข้างล่าง” หยกจึงรวบรวมความกล้า กัดฟันแล้วเดินต่อ แต่มันไม่ง่ายเลยค่ะ พยายามจะหาจุดเกาะ ซึ่งหายากเหลือเกิน แต่พอสักพัก ก็ไม่มีที่ไหนที่เกาะได้แล้วค่ะ คือเกาะตรงไหน ตรงนั้นก็ร่วงลงไปข้างล่างหมด เกาะหิน หินก็หลวม แม้กระทั่งเกาะรากไม้ รากไม้ยังหลุดเลยค่ะ แล้วพี่ไกด์ลูกหาบก็เดินมา เอาไม้เท้าเดินป่าไปจากหยก เพื่อให้เดินง่ายขึ้น แล้วแกยังช่วยทำทางราบๆโดยใช้เท้าเกลี่ยๆดินให้ราบ ให้พอเอาเท้าเหยียบได้ ทำยาวๆไปจนสุดทางเดินเลยค่ะ มันก็เหมือนจะเดินง่ายขึ้น แต่พื้นที่ๆให้เหยียบมันเล็กมากๆ ทั้งลาดเอียง และไม่มีอะไรให้เกาะ โดยขณะที่ก้าวไปเหยียบแต่ละก้าว ดินก็ยังคงไหลร่วงลงไปด้านล่างอยู่ดี ณ จุดๆนี้ แขนขานี่เกร็งไปหมด มือก็ถลอก ไหล่ขวา แขนขวาก็ครูดไปกับหินด้านข้าง
-จะรอดหรือจะร่วง-
แต่ยังไม่พอค่ะ ยังมีจุดที่ต้องปีนขึ้น ทางก็ชัน สูงก็สูง เหยียบได้ แต่เอื้อมมือเพื่อจับจุดที่จะเตรียมก้าวต่อไปไม่ถึง พอถึงจุดที่จับถึงก็ดันไม่มีที่ให้เหยียบ แถมดินก็ยังร่วงอยู่ตลอดเวลาที่ขยับ กว่าจะผ่านไปได้ นี่เล่นเอาเกือบหัวใจวายเลยค่ะ คือกลัวมากๆ แต่มันก็มีแค่ทางเลือกเดียว คือต้องไปต่อ ต้องทำให้ได้ และต้องทำได้ พอถึงปุ๊ป หยกนี่ร่วงลงไปกองกับพื้นเลยค่ะ แขนขาอ่อนแรงไปหมด เจ็บกล้ามเนื้อที่ไหล่ขวาเลย
-ระเบิดลูกใหญ่ๆ-
แต่แล้วยังไม่ทันจะเริ่มเดินต่อ เพื่อนร่วมทริปก็ทิ้งระเบิดก้อนใหญ่ว่า “อีก 4 – 5 วันข้างหน้า เราก็ต้องเดินกลับทางเดิมนี่แหละ เพื่อออกจาก Tsum Valley เข้าสู่ Manaslu Circuit ไง” อืม… ค่อยว่ากันอีกทีแล้วกัน มาได้ มันก็ต้องกลับได้สิน่า! จึงออกเดินต่อด้วยขาที่ยังสั่นอยู่ แล้วก็เจอบันไดปูน บันไดที่ทำจากปูนซีเมนต์ จึงคิดในใจว่า ทำไม๊ทำไม ทางตรงเมื่อกี้ไม่ทำแบบนี้นะ! มาทราบทีหลังค่ะว่า จุดนี้เกิดดินถล่มไปเมื่อ 2 – 3 วันก่อนนี้เอง ซึ่งก่อนหน้านั้น ก็เป็นเทรลทางเดินปกติๆนี่แหละค่ะ

ช่วงใกล้ๆจะถึง Chumling นี้เป็นทางราบ แต่ชัน วนขึ้นเขาไปเรื่อยๆ เดินหอบเชียวค่ะ ตอนนี้ตุ่มน้ำใสที่นิ้วเท้าไม่เจ็บแล้ว แต่กลับเกิดเพื่อนใหม่ ตุ่มน้ำใสที่ส้นเท้าจากการเดินทางชันแทน! คืออะไรเนี่ย จะต้องเป็นรอบเท้าเลยหรือไงนะ
-ออกเช้า ถึงเร็ว ก็มีเวลาพักเยอะ-
พอสูงขึ้นๆ อากาศก็เริ่มเย็น เริ่มหนาวค่ะ ดีที่แดดดี แล้วก็ถึง Chumling ก่อนเที่ยงค่ะ ใช้เวลาเดินไป 4.5 ชั่วโมง ข้อดีของการออกเดินแต่เช้า คือ “มีเวลาว่างทั้งช่วงบ่าย ให้ได้ชิวๆ พักผ่อนสบายๆ ทั้งยังได้เดินชมหมู่บ้านด้วย” ดีกว่าออกสาย คือถึงก็เย็นแล้ว ไม่ได้พักผ่อน หรือผ่อนคลายอะไรเลย ได้แค่กินข้าวเย็นแล้วก็ต้องนอน เพื่อรอลุยต่อตอนเช้าแล้ว ข้อดีสำคัญอีกสองข้อคือ “ได้อาบน้ำ ไม่ต้องซักแห้ง และได้ซักเสื้อผ้าด้วยค่ะ” ยิ่งสูง อากาศก็ยิ่งหนาว น้ำก็จะเย็นเจี๊ยบมากๆ เลยต้องอาบน้ำตอนกลางวันที่ยังมีแดดจ้าๆอยู่ และหากได้ซักผ้า ได้แดดแรงๆ ผ้าก็จะแห้งเร็วค่ะ ทีนี้ก็จะสบายตัว หลับสบาย ไม่เหนียวเหนอะหนะ ทั้งได้ใส่เสื้อผ้าหอมๆอีกด้วย

มองหาทริปลุยๆ มันส์ๆ + ไกด์หญิงคนไทย ? เนปาล? ทาจิกิสถาน? คีร์กีซสถาน? จอร์แดน? ศรีลังกา?
หยกจัดทริปแล้วค่ะ ปี 2565 สนใจทริปไหน คลิ๊กอ่านเพิ่มเติมที่ภาพได้เลยค่ะ ไปผจญภัยกัน!
-ทุ่งข้าวบาร์เลย์-
Chumling เป็นหมู่บ้านเล็กๆ ที่มีสีสันสวยงามของไร่ข้าวบาร์เลย์มากๆ หยกพึ่งจะเคยเห็นต้นข้าวบาร์เลย์ก็ที่นี่แหละค่ะ เลยพึ่งรู้ว่ามีหลากสีด้วย ไม่ว่าจะส้ม แดง เขียว หรือ เหลือง สวยสุดๆ ทั้งยังล้อมรอบไปด้วยภูเขาเขียวๆ สูงใหญ่มากมาย ยิ่งตอนที่ลมพัด ลำต้นสูงๆของดอกไม้หลากสีทั้งหลายก็พัดปลิวไสว ก็ยิ่งฟินเข้าไปใหญ่

-หน้าตามอมแมม-
ชาวพื้นเมืองในเขต Tsum Valley นี้เป็นมิตร มีรอยยิ้มจริงใจมากค่ะ โดยจะเห็นชาวทิเบตแต่งตัวด้วยชุดพื้นเมืองสวยงาม ยิ่งผู้หญิงแล้ว ยิ่งสวยค่ะ สวยทั้งชุด ทั้งหน้าตาเลย ทั้งยังมีผมยาวมาก ยาวถึงสะโพกเลยค่ะ แต่อย่าแปลกใจถ้ามองไปที่หน้าแล้ว จะเห็นหน้าตาที่มอมแมม โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกเด็กๆ ที่หน้าเลอะๆ ดำๆ แต่แก้มนี่แดงก่ำ น่ารักมากๆ

ชาวทิเบตมีความเชื่อว่า การอาบน้ำ ทำความสะอาดร่างกาย ถือเป็นการล้างเอาความดีออกจากตัว เค้าจึงไม่อาบน้ำกันค่ะ ประกอบกับที่นี่อากาศหนาวมากๆด้วย การอาบน้ำจึงเป็นไปได้ยาก
-Chumling 2,400 เมตร-
Chumling มีที่พักแค่ 2 ที่ค่ะ เป็นบ้านสไตล์ทิเบต สีสดสวยงาม โดยที่ๆหยกพักนั้นให้ความรู้สึกอบอุ่น ที่พักก็สะอาด เจ้าของเป็นมิตรมากๆ ที่สำคัญทำอาหารอร่อยและให้เยอะด้วยค่ะ พอตกเย็น อากาศก็หนาวมากเลยแหละค่ะ คืนนี้ซุกตัวในถุงนอน หลับสบายอีกแล้วค่ะ

ติดตามบทความเทรคกิ้งเนปาลซีรีย์ 20 วัน กับ Manaslu Circuit และ Tsum Valley เรื่องเล่าและประสบการณ์มันส์ๆ ที่สอดแทรก ทริคและเคล็ดลับ ข้อมูลการเดิน ระยะเวลา ระยะทาง รวมทั้งความสูงของแต่ละหมู่บ้าน ข้อควรระวัง และอื่นๆที่ควรรู้ ตอนต่อไป ตอนที่ 4 Day 6 – Day 8 ได้ที่นี่ค่ะ
มีข้อสงสัย คำถาม หรือ อยากแชร์เรื่องเที่ยว คอมเม้นต์ที่ช่องนี้ได้เลยค่ะ