
1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9
นี่เป็นบทความตอนที่ 5 เดินวันที่ 9 – 11 ออกจาก Lokpa จากเขต Tsum Valley เข้าสู่ Ghap หรือ Gap และ Deng ของซีรีย์บทความเทรคกิ้งเนปาล 20 วัน กับ Manaslu Circuit และ Tsum Valley เรื่องเล่าและประสบการณ์มันส์ๆ ที่นอกจากจะสนุกแล้ว ยังให้บทเรียนต่างๆ ที่สอนอะไรใหม่ๆให้มากมาย รวมทั้งการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า หรือแม้กระทั่งความอดทน หรือ ความอึดที่ต้องมีอย่างมหาศาล ที่สำคัญก็คือความใจเย็น ทั้งยังสอดแทรก ทริคและเคล็ดลับ ข้อมูลการเดิน ระยะเวลา ระยะทาง รวมทั้งความสูงของแต่ละหมู่บ้าน ข้อควรระวัง และอื่นๆที่ควรรู้ ซึ่งหยกจะทำการแบ่งบทความออกเป็นรายวัน หรือ รายสองสามวันค่ะ โดยมีทั้งหมด 9 ตอน ทั้งนี้เพื่อนๆสามารถคลิ๊กตัวเลขที่กล่องสีเหลืองด้านบนเพื่อเลือกอ่านเป็นตอนๆได้เลยค่ะ ยังไงรอติดตามอ่านตอนต่อๆไปด้วยนะคะ
ทั้งนี้ หยกได้เขียนหนังสือ คู่มือเทรคกิ้งเนปาล Manaslu & Tsum ซึ่งสามารถถือได้ว่าเป็นคู่มือเทรคกิ้งเนปาลที่เป็นภาษาไทยเล่มแรกเลยก็ว่าได้นะคะ ซึ่งมีข้อมูลครบถ้วนตั้งแต่การเตรียมตัว เสื้อผ้า ของที่จำเป็น ข้อควรรู้ควรระวัง ทริคต่างๆ ประกัน การป้องกัน AMS ข้อมูลเส้นทางเดิน และรายละเอียดอื่นๆ อีกมากมายที่จะทำให้มีการเตรียมตัวที่พร้อมสุดๆ และสามารถเทรคได้อย่างสบายใจและได้ประสบการณ์ดีๆ ติดไม้ติดมือกลับมา หากเพื่อนๆ สนใจ สามารถคลิ๊กที่ลิ้งค์เพื่อสั่งซื้อหรืออีเมลมาหาหยกได้เลยค่ะ
ไม่เพียงเท่านั้น หยกยังได้เทรคบนเส้นทาง Poon Hill และ Mohare + Khopra และ Mardi Himal อีกด้วยนะคะ เพื่อนๆ สามารถอ่านเรื่องเล่าและประสบการณ์เทรคสนุกๆ ที่สอดแทรกข้อมูลต่างๆ ที่มีประโยชน์ได้ที่ลิ้งค์เหล่านี้เลยค่ะ
มองหาทริปลุยๆ มันส์ๆ + ไกด์หญิงคนไทย ? เนปาล? ทาจิกิสถาน? คีร์กีซสถาน? จอร์แดน? ศรีลังกา?
หยกจัดทริปแล้วค่ะ ปี 2565 สนใจทริปไหน คลิ๊กอ่านเพิ่มเติมที่ภาพได้เลยค่ะ ไปผจญภัยกัน!
Day 9 เย้ๆ หายบวมแล้ว: Lamagaon – Chumling
วันนี้เรารีบออกตั้งแต่เช้า เก็บของอย่างเร็วไวเลยค่ะ ตอนจ่ายตังค์นั้นก็แอบมีปัญหานิดหน่อย คือเค้าเขียนราคาค่าห้องผิดค่ะ คิดแพงเป็นเท่าตัวเลย แพงกว่าราคาก่อนต่อรองเมื่อวานซะอีก อารมณ์มันก็เลยปรี๊ดหน่อยๆ ยิ่งนอนไม่หลับ เพราะท้องร้องหิวกลางดึกอีกด้วย
-แพนเค้กหนานุ่ม อร่อยเหาะสุดๆไปเลย-
แล้วก็รีบส่งพี่ไกด์ลูกหาบล่วงหน้าเพื่อไปสั่งอาหารเช้าที่ Chhokang Paro รอค่ะ ส่วนพวกเราก็รีบเดินด้วยความหิว โดยเดินประมาณ 1.5 ชั่วโมงก็ถึงแล้วค่ะ คุณ Penpa เจ้าของที่พักที่ Chhokang Paro ก็ออกมาต้อนรับด้วยความอบอุ่น พักสักพัก พอหายเหนื่อยปุ๊ป อาหารเช้าก็มาเสิร์ฟพอดี แพนเค้กที่นี่อร่อยมากๆค่ะ หนานุ่ม เนื้อแน่นเนียน ชานมก็หอมเข้มข้น แถมทำจากนมสดจริงๆ ไม่ได้ใช้นมผงอีกด้วย

วันนี้หน้าหยกบวมน้อยลงค่ะ โดยรวมดูแล้วดีขึ้นเรื่อยๆ เลยไม่กังวลอะไรแล้ว แค่ยังไม่หายดีค่ะ วันนี้เราจะไปค้างที่ Chumling Guesthouse เกสเฮ้าส์อันอบอุ่น ที่ๆพักกันครั้งก่อน อาหารก็อร่อย ชานมก็อร่อย แต่ปัญหามันอยู่ที่การเดินลงของคนที่มีตุ่มน้ำใสที่เท้าน่ะสิคะ โดยลงจาก 3,050 เมตรไปที่ 2,400 เมตรเลยค่ะ เลยต้องเดินกัดฟัน ค่อยๆก้าวลงทั้งน้ำตา โดยที่หยกไม่เจ็บหลังและไหล่แล้วค่ะ น้ำหนักของในกระเป๋าก็เบาลงๆ จากอาหารเช้า ซึ่งก็คือมูสลี่ที่หยกเตรียมมา ทั้งกาแฟบด และพวกเสบียงต่างๆ ที่ถูกทานไปทุกๆวัน ถ้ารองเท้าไม่กัด คงจะสบายมากๆเลย
หยกเดินช้าๆ เดินเรื่อยๆ เร่งสปีดบ้างเท่าที่ทำได้ แต่เดินแบบไม่หยุดค่ะ โดยพยายามจะหยุดให้น้อยที่สุด เพราะยิ่งหยุดก็ยิ่งเจ็บ การเริ่มเดินใหม่หลังจากที่หยุดพักไปนั้นยิ่งยากค่ะ เท้าก็ยิ่งระบม แล้วหยกถึง Chumling ตอนประมาณบ่ายโมงค่ะ ช้ากว่าเพื่อนคนอื่นๆ ประมาณ 40 นาที ก็ไม่เป็นไร สบายๆค่ะ ยังไงก็มีเวลาว่างอีกเกือบครึ่งวันเลยทีเดียว
-เจ็บแต่จบ สุข และสบายใจสุดๆ-
น่าแปลกใจที่เมื่อถึง Chumling แล้ว ความเจ็บปวดทรมานนั้นหายไปเป็นปลิดทิ้ง หยกนี่รีบถอดรองเท้า รีบเก็บของ แล้วเดินกะเผลกๆกึ่งๆวิ่งไปอาบน้ำ ก่อนที่ห้องน้ำจะไม่ว่าง เสร็จแล้วยังมาซักเสื้อผ้าอีก วันนี้เลยมีเวลาทั้งบ่ายชิวๆ จิบชานมร้อนๆ เล่นเกมส์กับเพื่อนร่วมทริปไป เพลินนนน

Day 10 “Unlimited” Wifi… But Limited! Nepali Style!: Chumling – Deng

-กลับทางเดิม ทางเดิมที่ไม่มีทางเดิน-
วันนี้หยกหายบวมแล้วค่ะ แผนการวันนี้คือเดินออกจาก Tsum Valley แล้ววกเข้า Manaslu Circuit ค่ะ แอบเศร้าเบาๆ ชอบบรรยากาศใน Tsum Valley มากๆ และแอบกังวลนิดๆ เรื่อง landslides ระหว่าง Chumling กับ Lokpa เพราะต้องกลับทางเดิม (อ่านความเดิมตอนที่แล้วได้ที่นี่) ทางที่ไม่มีทางยังไงละคะ โดยที่หยกก็พยายามที่จะคิดบวก “ผ่านมาได้ ก็ต้อองกลับได้สิน่า อีกทั้งผ่านมาก็ตั้งหลายวัน ยังไม่ได้ยินข่าวอุบัติเหตุใดๆเกิดขึ้นเลย เมืองเล็กๆแบบนี้ หากมีอุบัติเหตุอะไร ก็คงต้องรู้กันทั่ว ข่าวก็คงแพร่อย่างรวดเร็วเป็นแน่ ดีไม่ดี ทางอาจจะดีขึ้น ราบขึ้น เพราะมีคนเดินผ่านกันเยอะขึ้นก็เป็นได้” วันนี้หยกเลยเดินเร็วเป็นพิเศษ เพื่อที่จะพยายามเกาะกลุ่มกับเพื่อนๆไว้
-ความมหัศจรรย์ของชาวเนปาลี-
พอเริ่มจะมองเห็นช่วงทางโค้ง ก่อนที่จะถึงบริเวณที่เป็น landslides นั้น หยกก็จำได้ทันทีเลยค่ะ ใจก็เต้นเร็วขึ้นๆ ความกังวลหายไป กลายเป็นความกลัวเข้ามาแทน ทันใดนั้นก็ได้ยินเสียง ตุ๊บๆๆ แล้วก็เห็นชาวเนปาลี 6 – 8 คน กำลังวุ่นๆ กับการทุบทางบ้าง แบกหินบ้าง ทำอะไรก็ไม่รู้บนพื้นบ้าง ด้วยท่าทางขะมักเขม้นกันทุกคน พอตั้งสติได้ ก็รู้สึกโล่งสุดๆอย่างกับยกภูเขาออกจากอกเลยค่ะ คือทุกอย่างมันเบา มันโล่งไปหมด ก็เค้ากำลังทำ trail ใหม่อยู่น่ะสิคะ จะไม่ให้ดีใจได้ยังไง โดยตอนนี้เริ่มเห็นทางเดินลางๆแล้ว ถึงแม้จะยังไม่เสร็จสมบูรณ์ดีก็ตาม แต่ก็ใกล้เสร็จมากแล้วค่ะ ทางเดินนั่นกว้างขึ้นเยอะเลย แถมเรียบขึ้นมากอีกด้วย
ไม่คิดไม่ฝันว่าคนที่นี่เค้าทำงานกันได้รวดเร็วจริงๆ landslides จุดนี้เกิดขึ้นไม่ถึงสัปดาห์เลย ก็มาปรับปรุงมาซ่อมแซม trail กันซะแล้ว ทั้งๆที่ นี่มันบนเขา ไม่ใช่ในเมืองเลย

-สมแล้วที่เป็นประเทศฮิตแห่งการเทรคกิ้ง-
ขณะเดียวกันนั้น ก็มีชาวเนปาลีคนหนึ่งยื่นมือมาพร้อมรอยยิ้มกว้าง แล้วทำท่าถอดกระเป๋า หยกเลยถอดกระเป๋าแล้วส่งให้เค้า เนื่องด้วยทางตรงนี้เป็นทางลงสูงชัน ที่คงจะทำเป็นบันได แต่ตอนนี้ยังไม่มีทางให้ก้าวเดินใดๆทั้งสิ้น พี่แกก็ยิ้มแล้วรับกระเป๋าหยกแล้วก็เดินฉับๆไป จากนั้นก็มีคุณลุงหน้าตายิ้มแย้ม เข้ามาแทนที่ แล้วยื่นมือให้หยกจับ พร้อมพยักหน้าด้วยรอยยิ้มและสายตาที่ว่า ลุงพร้อมแล้ว เชื่อใจลุงนะ หยกจึงยิ้มกลับไป พร้อมกับยื่นมือไปจับและกล่าว “Thank you soooo much” แล้วก็ก้าวกว้างๆ กึ่งกระโดดลงที่พื้นที่ต่ำกว่า โดยที่คุณลุงคอยชี้จุดให้หยกเหยียบลงมาเรื่อยๆ และหยกก็ได้กล่าวคำขอบคุณตลอดทางจนพ้นทางเดินที่ต้องอาศัยความช่วยเหลือเลยค่ะ คือมันปลื้มปริ่มสุดๆ ก่อนจากกันคุณลุงยังหันมายิ้มให้ก่อนที่จะรีบเดินกลับไปทำงานที่ทำค้างอยู่
จากนั้นก็ถึงจุดที่สามารถเดินเองได้ ซึ่งเป็นทางเดินกว้าง แต่ยังขรุขระๆ ที่ต้องเดินผ่านชาวเนปาลีที่ทั้งแบกของ แบกก้อนหินก้อนใหญ่ๆ ทั้งกำลังซ่อมทางอยู่ ทุกก้าวที่หยกเดินผ่านแต่ละคน ทุกคนก็จะหยุดทำงาน แล้วหันมามองด้วยสายตาเป็นห่วง ด้วยรอยยิ้มที่เป็นมิตร และพร้อมช่วยเหลือ แน่นอนค่ะ ไม่มีสิ่งใดที่หยกจะทำได้ในตอนนี้ นอกเสียแต่ว่า แสดงคำขอบคุณจากใจจริงด้วยคำพูด ผ่านทางสายตา และโค้งหัวให้ตลอดทาง โดยที่ทุกๆคนก็ส่งรอยยิ้มกลับมา พร้อมกับพยักหน้า คล้ายๆกับอยากจะพูดว่า “ไม่เป็นไรหรอก เรื่องแค่นี้เอง สบายมาก ยินดีช่วยอย่างเต็มที่เลย”
-วัสดุซ่อมแซมจากธรรมชาติล้วนๆ-
สมแล้วที่เนปาลฮิตติดอันดับต้นๆของการเทรคกิ้ง มีการจัดการซ่อมแซมได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพจริงๆ ที่น่าทึ่งไปกว่านั้นก็คือ วัสดุอุปกรณ์ที่เค้าใช้นั้น ก็มาจากธรรมชาตินี่แหละค่ะ ไม่ว่าจะเป็นก้อนหินทั้งหลายที่เอามาทำบันได ก็กะเทาะๆ มาจากบริเวณหน้าผาที่เป็น landslides และจากพื้นนี่แหละค่ะ นอกจากจะทำให้ทางเดินกว้างขึ้น ยังเอาหินจากหน้าผาเหล่านี้มาใช้ประโยชน์ต่อได้ด้วย ช่างดูชำนาญและขยันขันแข็งกันซะจริง
-ออกจาก Lokpa บอกลา Tsum Valley-
จากนี้ไปก็เดินสบายแล้วค่ะ บอกลา Tsum Valley ออกจาก Lokpa แล้วเข้าสู่ Manaslu Circuit ทาง Pewa กันค่ะ ทางเดินราบ กว้าง ร่มรื่น เดินสนุกดีค่ะ แล้วก็ถึง Deng ตอนประมาณ 15.30 น. ซึ่งวันนี้เป็นวันที่ยาวนานอีกวัน เดินมากว่า 8.5 ชั่วโมง เกือบๆ 25 กิโลเมตรค่ะ มันก็จะมีเหงื่อเป็นธรรมดา หากมีความเป็นไปได้ที่จะได้อาบน้ำ หยกก็ไม่รีรอค่ะ ถึงแม้จะเย็นเจี๊ยบมากๆ จนไม่รู้จะร้องเป็นภาษาอะไรดี แต่ก็กัดฟันอาบจนเสร็จ เพราะพออาบเสร็จปุ๊ป มันก็จะสบายตัวมากๆ และโล่งหัวสุดๆ

-Deng 1,900 เมตร-
Deng มีที่พักอยู่ 2 ที่ค่ะ หยกพักที่แรกที่ถึงเลย ห้องพักที่นี่กะโหลกกะลามากค่ะ ห้องเล็กมากๆ ไฟก็ไม่มี ผ้าห่มก็ไม่ให้ ทั้งยังแอบสกปรกอีกด้วย ดีหน่อยที่อาหารใช้ได้ และให้เยอะ แต่พรุ่งนี้จะเข้า Ghap ซึ่งเค้าว่ามีร้านอาหารอร่อยมากๆ ค่ะ
-ที่ Deng เจอนักท่องเที่ยวมากสุด 20 คน-
พอเข้าเขต Manaslu ปุ๊ป นักท่องเที่ยวก็เยอะขึ้นทันทีค่ะ ถึงแม้จะไม่ได้เดินเจอหรือสวนใครระหว่างทางก็ตาม โดยที่พักที่หยกพักนั้น มีนักท่องเที่ยวประมาณ 20 คนเห็นจะได้ค่ะ นี่ถือว่าเป็นการเจอนักท่องเที่ยวที่เยอะที่สุดแล้วตั้งแต่เริ่มเดินมา
-สังคมก้มหน้า-
ที่ Deng มีอินเทอร์เน็ตนะคะ เป็น unlimited wifi ราคา 300 rs หรือประมาณ 100 บาท จะรออะไรละคะ ก็รีบซื้อเลย ขอรายงานตัวกับคุณนายแม่สักหน่อย นี่ก็ปาไปวันที่ 10 แล้ว คงเป็นห่วงแย่เลย พอซื้อปุ๊ปก็ถามถึงพาสเวิร์ด เค้าก็บอกว่าให้มาถามใหม่ตอน 5 โมงเย็น ตอนนี้ยังไม่มีสัญญาณ อ้าวเอ๊ะ! ชักจะแปลกๆ โอเคๆ ไม่เป็นไรอีก 20 นาทีเอง
อินเทอร์เน็ตช้าเต่ามาก นักท่องเที่ยวทุกคนต่างก้มหน้าก้มตาเล่นมือถือ ส่วนน้อยที่พูดคุยกัน บางทีการที่ไม่มีอินเทอร์เน็ตก็ดีเหมือนกันนะ ไม่ต้องคอยดู “สังคมก้มหน้า” หยกเลยกะว่าจะแค่แจ้งคุณนายแม่แล้วก็จะปิดเนตเลย แต่เนื่องจากคนเล่นเยอะมาก กว่าจะติดต่อได้ ก็ใช้เวลานานมาก ซึ่งสัญญาณก็ขาดๆหายๆ แต่เหมือนคุณนายแม่จะชินกับการที่ลูกสาวหายไปนานๆ ซะแล้ว 55+
-unlimited wifi but limited-
หลังทานอาหารเสร็จ เพื่อนร่วมทริปจะขอใช้เน็ตเพื่อเช็คงาน แต่สัญญาณมันหลุด หยกเลยเดินไปถาม เค้าบอกว่า “ไฟหมด เพราะใช้ solar” หยกเลยถามต่อว่า “แล้วพรุ่งนี้เช้าจะมีไวไฟตอนกี่โมง” เค้าก็ตอบกลับมาว่า “ก็ใช้ solar ก็ต้องรอแดดก่อนสิ” เออเนอะ.. ถามได้ ช่างเป็น unlimited wifi เจงๆ
Day 11 เดินขึ้นกับผลไม้ลูกแรก: Deng – Ghap – Namrung

มองหาทริปลุยๆ มันส์ๆ + ไกด์หญิงคนไทย ? เนปาล? ทาจิกิสถาน? คีร์กีซสถาน? จอร์แดน? ศรีลังกา?
หยกจัดทริปแล้วค่ะ ปี 2565 สนใจทริปไหน คลิ๊กอ่านเพิ่มเติมที่ภาพได้เลยค่ะ ไปผจญภัยกัน!
-ไต่ๆ 1,900 ไป 2,600 เมตรเลย-
โดยส่วนตัวหยกชอบการเดินขึ้นมากกว่าการเดินลงค่ะ เหนื่อยหอบก็จริง แต่ไม่ทรมานเข่า และตุ่มน้ำใสที่นิ้วเท้า โดยเส้นนี้มีอยู่ 2 – 3 ช่วงที่เป็นทางเดินแคบๆ ริมผาให้ได้ตื่นเต้นเบาๆ แต่เดินแค่แปปเดียว เดินแบบเล่นๆ เพลินๆ ก็ถึง Ghap หรือ Gap แล้วค่ะ ซึ่งเป็นจุดที่จะพักทานอาหารเที่ยงของวันนี้
-Ghap หรือ Gap กับ ผลไม้ลูกแรกใน 10 วัน-
Ghap หรือ Gap เป็นหมู่บ้านที่ค่อนข้างใหญ่ ซึ่งที่ Ghap นี้มีที่พัก ร้านอาหาร และร้านค้าหลายแห่ง กระจัดกระจาย อยู่กันอย่างกว้างๆ ซึ่งตามร้านค้ายังมี แอปเปิ้ลที่ปลูกตามเขา ขายด้วยค่ะ ผลดำๆ หน้าตาไม่สวย แต่ดีที่ตัดสินใจซื้อ เพราะทั้งกรอบ ทั้งหวาน อร่อยมากๆ ค่ะ คือจากนี้ไปถ้าเห็นแอปเปิ้ลที่ไหน หยกนี่รีบซื้อเก็บทันทีเลยค่ะ
หลังจากทานอาหารเสร็จก็เดินต่อค่ะ ทางเดินในชั่วโมงแรกนั้น ร่มรื่นค่ะ เป็นทางราบชันๆ ชันขึ้นๆ เดินไปก็หอบไปค่ะ แต่พอ 2 ชั่วโมงหลังจาก Ghap นี่สิ บันไดล้วนๆ เลยจ้า ดีที่เดินในร่ม บรรยากาศดี วิวสองข้างทางเขียวขจี มีมอสเต็มไปหมด อากาศเลยเย็นสบาย เดินหอบๆไป ก็หยุดพักบ่อยๆแค่นั้นเอง สักบ่าย 3 ครึ่ง ก็ถึง Namrung แล้วค่ะ วันนี้เดินไป 8.5 ชั่วโมง 26 กิโลเมตรนิดๆ
-Namrung 2,600 เมตร-
Namrung ก็มีที่พักให้เลือกเยอะเหมือนกันค่ะ หยกพักที่ Namrung Guesthouse ให้บรรยากาศเหมือนรีสอร์ท มีสวนดอกไม้เต็มไปหมด สะอาด ห้องพักเป็นห้องพักจริงๆ ห้องกว้างสักหน่อย และเป็นสัดส่วน ไม่ได้เป็นแบบเอาไม้อัดมากั้นทำเป็นห้อง ห้องทานอาหารก็กว้าง อบอุ่น และน่านั่งค่ะ วันนี้ได้อาบน้ำเย็นๆอีกแล้วค่ะ อากาศเริ่มหนาวเย็นมากขึ้นแล้ว แต่น่าแปลกใจที่เจอนักท่องเที่ยวแค่ไม่กี่คนเองค่ะ

ติดตามบทความเทรคกิ้งเนปาลซีรีย์ 20 วัน กับ Manaslu Circuit และ Tsum Valley เรื่องเล่าและประสบการณ์มันส์ๆ ที่สอดแทรก ทริคและเคล็ดลับ ข้อมูลการเดิน ระยะเวลา ระยะทาง รวมทั้งความสูงของแต่ละหมู่บ้าน ข้อควรระวัง และอื่นๆที่ควรรู้ ตอนต่อไป ตอนที่ 6 Day 12 – Day 14 ได้ที่นี่ค่ะ
สวัสดีค่ะ น้องหยก พี่เห็นบทความที่น้องโพสเกี่ยวกับ manaslu เเละเซฟไว้ เเต่เพิ่งเห็นว่ามีเเค่ 5-9 ไม่ทราบว่า 1-4 อยู่ที่ไหนคะ รบกวนขอลิงค์ได้มั้ยคะ
สวัสดีค่ะ คุณพี่วราพร
ขอบคุณสำหรับคอมเม้นต์และการติดตามมากๆนะคะ 🙂
ที่ด้านบนสุดของแต่ละบทความจะมีกล่องสีเหลืองแจ้งลิ้งค์ทั้ง 9 ลิ้งค์ค่ะ ซึ่งสามารถคลิ๊กได้ตามตัวเลขของแต่ละลิ้งค์เลย แต่ข้อเสียคือไม่สามารถมองเห็นกล่องนี้ได้บนมือถือหรือแท็บเล็ต ต้องใช้คอมพิวเตอร์เท่านั้นจึงจะเห็นค่ะ
ทั้งนี้ หยกแนบลิ้งค์ Manslu & Tsum trekking บทที่ 1 มาให้ (คลิ๊กที่ตัวหนังสือสีส้มนี้ได้เลยนะคะ) หรือสามารถเข้าไปที่หน้า บทความทั้งหมดของเนปาล (คลิ๊กที่ตัวหนังสือสีส้มนี้ได้เลยเช่นกันค่ะ) แล้วจะเห็นบทความไล่เรียงจาก 9 ลงไปยังบทความบทแรก ซึ่งน่าจะสะดวกหากอ่านบนมือถือหรือแท็บเล็ตนะคะ
หวังว่าจะเป็นประโยชน์นะคะ 🙂 แพลนไปเทรคช่วงไหนคะเนี่ย