
คงไม่มีใครคิดว่า การ ผูกเชือกรองเท้าเดินป่า นั้น จะสำคัญพอๆ กับ การเลือกรองเท้าเดินป่า และ คงคิดกันว่า การผูกเชือกรองเท้าเดินป่า ก็คงเหมือนการผูกเชือกรองเท้าผ้าใบทั่วๆ ไป แต่… ไม่ค่ะ การผูกเชือกรองเท้าเดินป่า มีความซับซ้อนมากกว่านั้น How to ผูกเชือกรองเท้าเดินป่า ที่ถูกวิธี ให้แน่น ผูกเชือกรองเท้ายังไงไม่ให้หลุดบ่อยๆ นี้ จึงเกิดขึ้น
เพราะเท้าและรองเท้า เป็นของคู่กันกับ นักเดินทางท่องเที่ยว ดังนั้นแล้ว รองเท้าเดินป่า (hiking boots) ก็เป็นของคู่กันกับ ไฮเกอร์ (hiker) และ เทรคเกอร์ (trekker)
สิ่งสำคัญ นอกจาก การเลือกรองเท้าเดินป่า ให้ถูกกับการใช้งานและถูกไซส์แล้ว การผูกเชือกรองเท้าเดินป่า ให้ถูกวิธี ให้แน่น ให้ไม่เลื่อนหลวมจนหลุด จะช่วยหลีกเลี่ยงการบาดเจ็บเล็กๆ น้อยๆ ที่สามารถเกิดขึ้นที่เท้า แต่แสนจะทรมาน ไม่ว่าจะเป็นตุ่มน้ำใส ผิวหนังพอง (blisters) แผลถลอก หรือ เล็บม่วง (ที่กลายเป็นเล็บหลุด จนกลายเป็นคนมีเล็บสองชั้นตลอดกาล) และรู้แน่ว่าจะต้องหมดสนุก หากต้องพาคุณเท้าที่รักของเรา ที่มีแผลจากการโดนรองเท้ากัดนั้น เดินขึ้นทางเดินธรรมชาติที่พื้นไม่สม่ำเสมอ หรือทางชันๆ หรือลงเนินลาดๆ เป็นเวลานานๆ และยิ่งหากต้อง เทรคกิ้ง (คลิ๊กอ่านความหมาย ไฮกิ้ง เทรคกิ้ง คือ? ต่างกันยังไง?) หลายๆ วัน หรือ ยิ่งหากต้อง สะพายกระเป๋าแบ็คแพ็ค (คลิ๊กอ่าน How to เลือกกระเป๋าแบ็คแพ็ค) เอง ใช่ไหมคะ
หากใครเคยโดนรองเท้ากัด คงจะทราบดีว่าเรื่องเล็กๆ แค่นี้อาจเป็นตัวการทำให้หมดสนุก หรือ ถึงขั้นกับต้องล้มทริปเลยทีเดียว บทความนี้จึงเกิดขึ้น เพื่อทำให้การเดินแต่ละย่างก้าวของเพื่อนๆ นั้นสบาย ส่งผลให้ระหว่างทริปนั้นมีความสนุกสนาน ประทับใจ และได้ประสบการณ์ดีๆ กลับบ้านไปด้วยทุกครั้ง และหลงรักการท่องเที่ยวมากขึ้นๆ และอยากเที่ยวให้บ่อยขึ้นๆ
นอกจากนี้ เพื่อนๆ หลายคนคงรำคาญ และ เหนื่อยหน่าย กับการที่เชือกรองเท้าหลุดบ๊อยบ่อย หยกมีวิธีแก้ง่ายๆ มาบอกด้วยนะคะ ผูกเชือกรองเท้ายังไงไม่ให้หลุดบ่อยๆ แบบที่ผูกครั้งเดียว แล้วอยู่ไปทั้งวันเลยค่ะ ผูกก็ง่าย แก้ออกก็ง่ายด้วยนะคะ

สิ่งที่เพื่อนๆ จะได้อ่านที่ด้านล่างนี้ จะมีเนื้อหาครอบคลุมหัวข้อ (คลิกได้) ต่อไปนี้ค่ะ
- 1. มีวิธีแก้ หรือ การหลีกเลี่ยง ไม่ให้รองเท้ากัดไหม?
- 1.1. ใช้ถุงเท้าให้ตรงไซส์เท้าของเรา อย่าใส่ถุงเท้าที่มีขนาดใหญ่หรือเล็กไป
- 1.2. เลือกถุงเท้าที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ ที่มีความนุ่มนิ่ม ไม่แข็ง
- 1.3. กรณีเป็นคนเหงื่อออกที่เท้าเยอะ หรือ ใช้รองเท้าในเขตที่มีอากาศร้อนชื้น
- 1.4. การผูกเชือกรองเท้าเดินป่า ให้แน่นๆ ผูกเชือกรองเท้ายังไงไม่ให้หลุดบ่อยๆ
- 1.5. กรณีที่ รองเท้าเดินป่า ทำจากหนัง
- 1.6. ครีมทากันรองเท้ากัด
- 2. ทำไม การผูกเชือกรองเท้าเดินป่า ไม่ได้ผูกเหมือนรองเท้าผ้าใบทั่วๆ ไป?
- 3. ทำไม การผูกเชือกรองเท้าเดินป่า หลวมๆ จึงทำให้รองเท้ากัด
- 4. How to ผูกเชือกรองเท้าเดินป่า
- 5. วิธี ผูกเชือกรองเท้าเดินป่า ยังไงไม่ให้หลุดบ่อยๆ ผูกปมแบบไหนให้แน่น เอาแบบที่ผูกง่าย และ แก้ออกง่ายด้วยนะ
- 6. ลักษณะ ตุ่มพอง หรือ ตุ่มน้ำใส (blisters) และ วิธีการรักษา
ปล. ตอนนี้หยกยังไม่มีรูปอธิบายแต่ละขั้นตอนนะคะ หากมีรูปเมื่อไหร่ จะนำมาอัปเดตให้ทันทีเลยค่ะ

1. มีวิธีแก้ หรือ การหลีกเลี่ยง ไม่ให้รองเท้ากัดไหม?
แน่นอนค่ะ ทุกปัญหามีทางออก การหลีกเลี่ยงไม่ให้รองเท้ากัดก็ทำได้เช่นกันค่ะ แต่มีปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายอย่างนะคะ ลองดูทีละข้อ และ แก้ปัญหาไปทีละข้อนะคะ
1.1. ใช้ถุงเท้าให้ตรงไซส์เท้าของเรา อย่าใส่ถุงเท้าที่มีขนาดใหญ่หรือเล็กไป
กรณีถุงเท้าคู่ใหญ่เกินไป จะมีส่วนเกินที่ย่น ที่จะทำให้เกิดช่องว่างขึ้นระหว่างส่วนที่ร่น ย่นๆ หนาๆ นั้น กับรองเท้า ก่อเกิดให้เท้าเสียดสีกับรองเท้า และเกิดรองเท้ากัดในที่สุด
กรณีถุงเท้าคู่เล็กเกินไป ใส่แล้วจะแน่นเกินไป จนเกิดการดึงรั้น ทำให้เจ็บที่ง่ามเท้า แดง กลายเป็นแผลในที่สุด และหากเดินไปนานๆ ถุงเท้าจะบางขึ้น ทำให้เกิดการฉีกขาดง่าย พอถุงเท้าขาด จะทำให้เท้าเสียดสีกับรองเท้าโดยตรง และเกิดรองเท้ากัดในที่สุดเช่นกัน

1.2. เลือกถุงเท้าที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ ที่มีความนุ่มนิ่ม ไม่แข็ง
ถุงเท้าที่นิ่มและไม่แข็ง นอกจากช่วยลดความเสี่ยงเรื่องรองเท้ากัดแล้ว ยังช่วยในเรื่องการซัพพอร์ต และ ความรู้สึกที่สบายเท้าอีกด้วยนะคะ
ถุงเท้าที่ทำจาก ขนแกะมาริโน (merino wool) เป็นอีกตัวเลือกที่ดีของนักเดินป่าทั้งหลาย เพราะทำจากขนแกะจริง มีคุณสมบัติคือ นุ่ม ให้ความอุ่น ใส่สบาย ไม่ระคายเคือง ไม่กักเก็บกลิ่น และ แห้งเร็ว ค่ะ แต่ข้อเสียคือ ราคาแพง หาซื้อยาก โดยเฉพาะในไทย และ ไม่เหมาะกับอากาศร้อนๆ แต่สามารถเลือกแบบบางๆ ได้นะคะ มันนุ่มและใส่สบายมากค่ะ
1.3. กรณีเป็นคนเหงื่อออกที่เท้าเยอะ หรือ ใช้รองเท้าในเขตที่มีอากาศร้อนชื้น
การที่รองเท้าเปียก ก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้รองเท้ากัดค่ะ ดังนั้นแล้ว สำหรับเพื่อนๆ ที่เหงื่อออกที่เท้าเยอะ หรือ จะไปเดินในเขตที่มีอากาศร้อนชื้น หยกแนะนำให้เลือกรองเท้าแบบที่ไม่กันน้ำ แบบที่มีอากาศถ่ายเท และ แห้งเร็ว นะคะ หรือ จะเลือกใส่ ถุงเท้าที่ทำจาก ขนแกะมาริโน ก็ช่วยได้เช่นกันค่ะ
1.4. การผูกเชือกรองเท้าเดินป่า ให้แน่นๆ ผูกเชือกรองเท้ายังไงไม่ให้หลุดบ่อยๆ
การผูกเชือกรองเท้าเดินป่า ให้แน่นๆ จะทำให้เราใส่รองเท้าได้แน่นพอดี ไม่หลวม คือ ไม่มีพื้นที่เหลือในรองเท้า ที่จะทำให้เท้าเคลื่อนได้ นั่นเองค่ะ ซึ่งจะลดการเสียดสี ระหว่างเท้ากับรองเท้า และหลีกเลี่ยงการโดนรองเท้ากัดได้ค่ะ ซึ่งหยกจะได้กล่าวถึงรายละเอียดที่มากขึ้นและวิธีการผูกในข้อ 3 นะคะ

1.5. กรณีที่ รองเท้าเดินป่า ทำจากหนัง
รองเท้าหนัง ขึ้นชื่อเรื่องการกัดและความแข็งอยู่แล้วค่ะ คุณผู้หญิงทั้งหลาย ลองนึกถึงรองเท้าคัทชูสิคะ แค่คิดก็เจ็บแล้วนะคะ ทั้งนี้ มันมีวิธีที่ทำให้รองเท้าหนังนุ่มและใส่สบายขึ้นค่ะ ในกรณีของรองเท้าเดินป่าที่เป็นหนังนั้น มีวิธีง่ายๆ ที่เรียกว่า break in นั้นก็คือ
- ใส่เดินในบ้านหลายๆ ครั้งก่อน โดยให้ใส่ถุงเท้าคู่จริงที่จะใส่ตอนไปเทรคกิ้ง แต่ยังไม่ต้องผูกเชือกรองเท้าให้แน่นนะคะ ใส่แบบหลวมๆ ไปก่อน เพราะรองเท้าหนังใหม่ๆ หนังมันยังแข็ง ทำให้รองเท้าแน่นอยู่ค่ะ
- หลังจากเริ่มชินแล้ว ใส่ในบ้านแล้วรองเท้าไม่กัด ก็ให้เริ่มออกเดินในพื้นราบ เช่น เดินไปหน้าบ้าน หน้าปากซอย ดูค่ะ
- หากผ่านสองขั้นมาได้ โดยไม่มีปัญหา ไม่มีการบาดเจ็บใดๆ และรู้สึกได้ว่าใส่สบายขึ้น ให้ลองทริปเบาๆ ก่อนจัดทริปหนักนะคะ เช่น ไฮกิ้งเบาๆ โดยมีการสะพายเป้ใส่น้ำ ใส่อาหารเที่ยง และ รองเท้าเดินป่าคู่เก่า หรือ รองเท้าผ้าใบ หากต้องมีการเปลี่ยนรองเท้า เพราะรองเท้ากัด เป็นต้น จุดประสงค์คือ ลองดูว่าหากเดินตามทางเดินธรรมชาติและสะพายกระเป๋าเป้ที่มีนำ้หนักที่หลังแล้ว น้ำหนักที่ลงที่เท้าจะเป็นยังไง รองเท้าจะกัดไหม หรือ หากไม่ทราบว่าจะไปไฮกิ้งที่ไหน ก็ลองเดินเยอะขึ้น นานขึ้น และแบกเป้ด้วย แทนก็ได้ค่ะ
- เรื่องนี้ต้องใช้เวลาสักหน่อย แต่คุ้มค่าค่ะ และท้ายที่สุดแล้ว เพื่อนๆ จะรู้สึกว่ารองเท้าหนังที่แข็งๆ ในตอนแรกนั้น ตอนนี้ใส่รองเท้าคู่เดียวกันนี้ได้สบายอย่างน่าแปลกใจเลยค่ะ


ที่ให้ทำเช่นนี้ ก็เพื่อให้หนังยืด ให้ขยายออกนิดๆ จนนุ่มขึ้นค่ะ นี่คืออีกหนึ่งเหตุผลที่
ห้ามซื้อรองเท้าเดินป่า แล้วใส่เดินเลย โดยที่ยังไม่คุ้นชินกับรองเท้าคู่นั้น
1.6. ครีมทากันรองเท้ากัด
นอกจากนี้ ยังมีครีมที่มีคุณสมบัติ เพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวหนัง เพื่อลดการเสียดสี ค่ะ เอาไว้ทาที่เท้าก่อนใส่ถุงเท้า ทั้งนี้ หยกยังไม่เคยใช้นะคะ
มองหาทริปลุยๆ มันส์ๆ + ไกด์หญิงคนไทย ? เนปาล? ทาจิกิสถาน? คีร์กีซสถาน? จอร์แดน? ศรีลังกา?
หยกจัดทริปแล้วค่ะ ปี 2565 สนใจทริปไหน คลิ๊กอ่านเพิ่มเติมที่ภาพได้เลยค่ะ ไปผจญภัยกัน!
2. ทำไม การผูกเชือกรองเท้าเดินป่า ไม่ได้ผูกเหมือนรองเท้าผ้าใบทั่วๆ ไป?
หลายๆ คนชอบที่จะผูกเชือกรองเท้าแบบหลวมๆ เท่ห์ๆ ซึ่งการผูกเชือกรองเท้าแฟชั่นๆ แบบนี้นั้น ใช้ไม่ได้กับ รองเท้าเดินป่า นะคะ
การผูกเชือกรองเท้าแบบหลวมๆ จะทำให้มีพื้นที่เหลือระหว่างเท้าและรองเท้า ส่งผลให้เท้าเราเคลื่อนและขยับได้ ทำให้เท้ามีการเสียดสีกับรองเท้า ก่อให้เกิดปัญหาเล็กๆ น้อยๆ แต่ยิ่งใหญ่ตามมา ไม่ว่าจะเป็นเล็บม่วง ตุ่มน้ำใส ผิวหนังพอง หรือ แผลถลอก นั้นเองค่ะ
กรณีรองเท้าเดินป่า ที่เราใช้เดินบนทางเดินธรรมชาติ ไม่ใช่พื้นราบเรียบ ทั้งยังมีเนิน มีทางลาดชัน พื้นที่ที่เหลือระหว่างเท้าและรองเท้า จะทำให้เกิดการเสียดสีกัน จนเกิดเป็นแผลในที่สุด

3. ทำไม การผูกเชือกรองเท้าเดินป่า หลวมๆ จึงทำให้รองเท้ากัด
เพราะพื้นที่ที่เหลือในรองเท้า ทำให้เท้าเราเคลื่อนที่ได้ กรณีเท้าเคลื่อนไปข้างหน้าและหลัง หยกขอเรียกว่า “เท้าไหล”
- ถ้าต้องเดินลงเนินลาดๆ ชันๆ ล่ะ เท้าที่ไหล ก็จะไหลไปข้างหน้า นิ้วเท้าก็ชนกับปลายรองเท้าทุกก้าวที่เราก้าวเดิน จนเกิดเล็บม่วง นำไปสู่เล็บหลุดในที่สุด คงไม่ต้องให้บรรยายให้ฟังถึงความเจ็บปวดนะคะ
- แล้วถ้าต้องเดินขึ้นเนินล่ะ บริเวณเหนือส้นเท้าก็จะกระแทกกับรองเท้า และกระแทกๆๆ ทุกก้าวที่เดินขึ้น จนช้ำและเกิดเป็นตุ่มน้ำใสในที่สุด
- บริเวณหน้าเท้า ที่ผูกเชือกรองเท้าไม่แน่น นิ้วเท้าทั้ง 5 ก็จะเคลื่อนไปมา กระทบกระแทก และเสียดสีกัน จนเกิดเป็นตุ่มน้ำใสอีกตามเคย

4. How to ผูกเชือกรองเท้าเดินป่า
มาแก้ปัญหาเรื่อง พื้นที่ที่เหลือในรองเท้า ที่ก่อให้เกิดปัญหาการเสียดสี จนส่งผลให้เกิดรองเท้ากัด กันนะคะ ซึ่งการกำจัดพื้นที่ว่างระหว่างเท้ากับรองเท้านั้น ทำได้ง่ายนิดเดียวค่ะ โดยการใส่รองเท้าให้แน่น ด้วยการผูกเชือกรองเท้าให้แน่น เพื่อกระชับรองเท้าให้พอดีกับเท้าของเรา หยกมีเทคนิคง่ายๆ ที่หยกใช้อยู่ประจำ มาแบ่งปัน ดังนี้ค่ะ
- เลือกถุงเท้าคู่ใจที่พอดีขนาดเท้าของเรา และถ้าเป็นถุงเท้าคู่ที่จะใส่เดินป่าจริงๆ จะดีมากค่ะ โดยใส่ให้ตึงพอดีๆ อย่าให้มีส่วนร่นหรือย่นนะคะ
- ใส่รองเท้าเดินป่า จากนั้นตั้งเท้าขึ้น โดยการวางส้นเท้าลงที่พื้น ให้ชันประมาณ 45 องศา (หรือ อาจใช้ตัวช่วยด้วยการหาอะไรมารองที่พื้นรองเท้าตรงปลายเท้า หรือ วางปลายเท้าชันกับหินก้อนใหญ่ๆ โดยให้ส้นเท้ายังคงวางที่พื้นอยู่)
- กระทุ้งส้นเท้าเบาๆ ให้รู้สึกว่าส้นเท้าไหลลงไปชนกับรองเท้ามากขึ้น ซึ่งจะสังเกตได้ว่าตอนนี้จะมีพื้นที่เหลือบริเวณด้านหน้า ตรงนิ้วเท้ากับรองเท้ามากขึ้นมานิดนึงค่ะ
- ยังคงอยู่ในท่าชันเท้านะคะ จากนั้นให้ดึงเชือกรองเท้าทีละเส้นๆ โดยไล่มาจากฝั่งนิ้วเท้า ดึงให้ตึง ดึงให้แน่นที่สุด ตั้งแต่ปลายเท้าดึงไล่ไปจนสุดข้อเท้าเลยค่ะ ให้แน่นจนรู้สึกว่า ไม่มีพื้นที่เหลือระหว่างเท้ากับรองเท้าเลยนะคะ
- จากนั้นก็ผูกเชือกรองเท้าค่ะ โดยพยายามให้มีเชือกไหลกลับไปให้น้อยที่สุด คือพยายามคงความแน่นไว้ให้ได้มากที่สุด ขั้นตอนนี้เหมือนจะง่ายนะคะ แต่พอลงมือทำจริงๆ แล้ว จะค่อนข้างยากค่ะ เพราะมักจะทำให้ไอ้คุณเชือกที่เราอุตส่าห์ดึงตึงๆ แน่นๆ นั้น คลายออกและกลับมาหลวมอีก จนต้องทำการเริ่มดึงใหม่ แต่เป็นเพราะเรายังไม่ชินกับการผูกเชือกให้แน่นค่ะ หากทำไปบ่อยๆ สักพักเพื่อนๆ จะทำได้ง่ายขึ้นและเร็วขึ้นนะคะ
- หลังจากเดินไปสักพักใหญ่ หากพบว่ารองเท้าค่อยๆ หลวมขึ้นๆ อาจเป็นเพราะเรายังผูกเชือกไม่แน่นพอ หรือ เพราะเชือกมันลื่นก็เป็นได้ค่ะ ก็ให้ทำการผูกใหม่นะคะ
ทีนี้แล้ว ไม่ว่าจะเดินขึ้นเนินชันแค่ไหน หรือ จะลงเนินลาดแค่ไหน คงเดินได้สบายเท้า ไม่ต้องกังวลว่าจะมีตุ่มน้ำใส แผลถลอก หรือ เล็บม่วง และไม่ต้องทะเลาะกับรองเท้าแล้วสินะคะ

แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าเราดึงเชือกแน่นพอแล้ว?
ตรวจสอบได้ง่ายๆ ค่ะ ด้วยการลองสอดนิ้วเข้าไประหว่างเชือกกับรองเท้า
- หากไม่สามารถสอดนิ้วลงไปได้ และ รู้สึกว่าไม่สามารถขยับเท้าภายในรองเท้าได้ ก็เท่ากับว่า แน่นพอแล้วค่ะ
- แต่หากเดินไปสักพัก แล้วรู้สึกเท้าชา เหมือนเป็นเหน็บ ให้ลองเดินไปได้สักพักดูก่อนนะคะ ปมเชือก(ที่ไม่ใช่เงื่อนตาย)ที่เรามัดจะค่อยๆ คลายลงไปทีละนิดๆ ค่ะ จากที่แน่นๆ จนเท้าชาก็จะกลายเป็นสบาย จากที่แน่นพอดีก็จะกลายเป็นหลวมขึ้น
- แต่ถ้าเท้ายังชาอยู่ แสดงว่าเพื่อนๆ ผูกแน่นเกินไปนะคะ ก็ให้แก้ออก แล้วลดความแน่นลงไปนิดนึงค่ะ
แล้วจะ ผูกเชือกรองเท้าเดินป่า ยังไงไม่ให้หลุดบ่อยๆ ผูกยังให้ให้แน่น ให้เชือกไม่หลุดล่ะ?
ใจเย็นๆ ค่ะ เรื่องแบบนี้ต้องอาศัยประสบการณ์ และการทำบ่อยๆ สักนิดนึง แล้วก็จะค่อยๆ ชำนาญไปเองค่ะ โดยที่หยกมีวิธีผูกเชือกรองเท้าให้แน่น ให้ไม่หลุดมาฝาก ที่หัวข้อถัดไปนะคะ

5. วิธี ผูกเชือกรองเท้าเดินป่า ยังไงไม่ให้หลุดบ่อยๆ ผูกปมแบบไหนให้แน่น เอาแบบที่ผูกง่าย และ แก้ออกง่ายด้วยนะ
วิธีที่หยกใช้ ง่ายมากค่ะ ไม่ได้มีความซับซ้อน ไม่ใช่วิธีหรูหรา หรือ มีชื่อยากๆ อะไร และเพื่อนๆ ก็คงคุ้นเคยกันดี ก็ “หูกระต่าย” นั่นแหละค่ะ แต่จะเป็น “ดับเบิ้ลหูกระต่าย” ที่เอาหูลอดช่องไป 2 ที แบบนี้ค่ะ
- จับเชือกสองข้างแล้วผูกปมเปล่าๆ หนึ่งที ดึงให้แน่น เอานิ้วที่ไม่ได้ใช้งานกดปมนั้นไว้ ไม่ให้หลวมออก
- จับเชือกด้านซ้ายทำเป็นหูกระต่าย แล้วจับเชือกด้านขวาพันอ้อม(จากด้านนอกตัวเข้าสู่ตัวเรา)หูกระต่ายด้านซ้าย จากนั้นทำเชือกด้านขวาให้เป็นหูกระต่าย แล้วสอดลอดลงไปในช่องระหว่างหูกระต่ายด้านซ้ายกับเชือกด้านขวาที่พันอ้อมมา
- อย่าพึ่งดึงหูกระต่ายทั้งสองข้างให้ตึงนะคะ ให้จับหูกระต่ายด้านขวาสอดลอดช่องเดิมไปอีกที (ตอนนี้ก็ลอดช่อง 2 ทีแล้วเนอะ) แล้วก็ดึงหูกระต่ายทั้งสองให้ตึง พร้อมๆ กับปล่อยนิ้วที่กดปมออก เป็นอันเสร็จสิ้นค่ะ

6. ลักษณะ ตุ่มพอง หรือ ตุ่มน้ำใส (blisters) และ วิธีการรักษา
ตุ่มพอง หรือ ตุ่มน้ำใส ที่เกิดขึ้นจากรองเท้ากัดนั้น มีได้หลายแบบค่ะ ทั้งเล็ก และ ใหญ่ และ เกิดขึ้นได้หลายที่ ไม่ว่าจะเป็นนิ้วเท้า ปลายเท้าตรงฝ่าเท้า หรือ ข้อเท้าด้านหลัง เป็นต้น การดูแลรักษาไม่ให้ลามใหญ่ขึ้น แตกออก จนหนังหลุด หรือ เป็นหนักขึ้น ที่อาจส่งผลไปสู่การเกิดการติดเชื้อ ได้ค่ะ
6.1. ลักษณะตุ่มน้ำใสปกติทั่วไป
คือ ผิวหนังพองออก กลายเป็นตุ่มนูนๆ ที่มีของเหลวใสๆ ข้างใน
6.2. ลักษณะตุ่มน้ำใส ที่มีการติดเชื้อ
สังเกตได้จากของเหลวที่อยู่ข้างในเป็นสีขุ่นข้น หรือ เหลือง

6.3. การดูแลรักษา ตุ่มน้ำใส ทั่วๆ ไป
6.3.1. กรณีที่เกิด ตุ่มน้ำใส นี้ในชีวิตประจำวันทั่วไป โดยที่เป็นตุ่มเล็กๆ
- แนะนำว่าไม่ต้องทำอะไรค่ะ ไม่ต้องบีบ เจาะ เปิดออก แต่ให้เปลี่ยนมาใส่รองเท้าที่ระบายอากาศ และ หลีกเลี่ยงการเสียดสีบริเวณที่เป็น
- ตุ่มน้ำใส นี้ สามารถหายไปเองได้ในระยะเวลาไม่กี่วันค่ะ
- แต่ถ้าอึดอัด และ ห้ามใจไม่เจาะไม่ได้ อ่านข้อ 6.4 นะคะ

6.3.2. แต่กรณีที่เป็น ตุ่มน้ำใสเล็กๆ แต่
- ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนไปใส่รองเท้าที่ระบายอากาศ เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียดสีได้ หรือ
- อยู่ระหว่างการเทรคกิ้ง ที่ต้องใส่รองเท้าคู่เดิมนั้น เดินต่อไปอีกหลายวัน หรือ
- ตุ่มเล็กๆ นั้น ได้แตกออกแล้ว หรือ
- อึดอัด และ ห้ามใจไม่เจาะไม่ได้ อ่านข้อ 6.4 นะคะ
6.3.3. กรณีที่เป็นตุ่มน้ำใสขนาดใหญ่
- เจ็บปวดทรมาน อยากเจาะออกให้หายเร็วๆ อ่านข้อ 6.4 นะคะ
6.4. การดูแล ตุ่มน้ำใส เพื่อป้องกันการติดเชื้อ และ รักษาให้หายเร็วขึ้น
เราสามารถจัดการ ตุ่มน้ำใส นี้ได้ง่ายๆ ด้วยการเจาะ เพื่อนำของเหลว ออกค่ะ ด้วยขั้นตอนที่สะอาด สเตอร์ไรด์ เพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อ ดังนี้ค่ะ
- เจาะเอาของเหลวนั้นออก ด้วยเข็มที่ทำความสะอาดด้วยแอลกอฮอล์ (หากไม่มีแอลกอฮอล์ ใช้ไฟลนเข็มแทนได้ค่ะ แต่ระวังเรื่องคราบเขม่าที่อาจระคายเคืองแผลด้วยนะคะ)
- เช็ดทำความสะอาดตุ่มน้ำใสด้วยแอลกอฮอล์ และล้างมือให้สะอาด ก่อนทำการเจาะนะคะ
- เลือกเจาะบริเวณด้านใต้สุดของตุ่มน้ำใส เพื่อที่จะได้นำของเหลวออกได้หมดจริงๆ
- ใช้กระดาษทิชชู่ซับของเหลวออกเบาๆ ให้หมด อย่ากด หรือ บีบเค้นแรงๆ นะคะ
- ห้ามดึงหนังบริเวณที่เจาะออกนะคะ เพราะผิวบริเวณนั้นบอบบางมากๆ อาจทำให้อักเสบ เจ็บมากขึ้น หายช้าลง และติดเชื้อได้ง่ายค่ะ
- ทายาฆ่าเชื้อ แล้วปิดแผล เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
- หมั่นทำความสะอาด และ นำของเหลวออกเรื่อยๆ หากยังพบว่ามีของเหลวอยู่ข้างใน
- เมื่อตุ่มน้ำใสนั้นแห้งดีแล้ว และไม่มีการเจ็บปวดใดๆ นั่นก็คือหายแล้วค่ะ

หวังว่า How to ผูกเชือกรองเท้าเดินป่า ที่ถูกวิธี ให้แน่น ผูกเชือกรองเท้ายังไงไม่ให้หลุดบ่อยๆ นี้จะเป็นประโยชน์ และช่วยลดโอกาสการโดนรองเท้ากัดนะคะ ใครลองทำตามแล้ว เวิร์ค ไม่เวิร์คยังไง ติดขัดตรงไหน อะไรไม่เข้าใจ ไม่ชัดเจน อยากให้เพิ่มเติมตรงไหน หรือ ใครอยากแชร์อะไร ก็คอมเม้นต์มาได้ที่ด้านล่างนี้เลยนะคะ
มีข้อสงสัย คำถาม หรือ อยากแชร์เรื่องเที่ยว คอมเม้นต์ที่ช่องนี้ได้เลยค่ะ